พระราชประวัติ ของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์_พระบรมราชเทวี

พระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 4

(จากซ้าย) พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ และพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี เป็นพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 50 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลำดับที่ 3 ในสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา พระราชสมภพในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันเสาร์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีวอก เวลา 5 โมงเช้า 40 นาที ซึ่งตรงกับวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2403 โดยได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระราชบิดาว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระราชหัตเลขามีดังนี้[3]

"ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้บิดา ขอตั้งนามบุตรีหญิงซึ่งประสูติแต่เปี่ยมเป็นมารดา ในวันเสาร์ เดือน 12 แรม 12 ค่ำ ปีวอก โทศก นั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้า สุนันทากุมารีรัตน์"

ซึ่งคำว่า “สุนันทา” นั้น เป็นนามของพระมเหสี 1 ใน 4 พระองค์ของพระอินทร์ นอกจากนี้ ยังได้รับพระราชทานพรเป็นภาษามคธซึ่งสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า

“พระองค์เจ้าองค์นี้ ทรงนามว่า “สุนันทากุมารีรัตน์” อย่างนี้ดังนี้ จงอย่ามีโรค จงมีความสุข ปราศจากความทุกข์และความวุ่นวายเถิด พระองค์เจ้าหญิงนั้นจงมั่งคั่งด้วยทรัพย์มาก มีโภคมาก มียศและบริวารไม่แปรผัน ขอพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ กับทั้งอารักขเทวดา จงช่วยอภิบาลรักษา พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์นั้นให้พ้นภัยจากอันตรายเป็นนิตย์ ขอความสัมฤทธิ์จงมีแก่พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เทอญ” [4]

พระอัครมเหสีในรัชกาลที่ 5
สุนันทากุมารีรัตน์
สุขุมาลมารศรี
สว่างวัฒนา
เสาวภาผ่องศรี

พระองค์มีพระเชษฐาและพระขนิษฐาร่วมพระมารดาทั้งสิ้น 6 พระองค์ ได้แก่ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี และ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

ในพระราชหัตถเลขา ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ มีไปถึงพระองค์เจ้าปัทมราชนั้นมีตอนหนึ่งว่า

"ปีนี้กระหม่อมฉันมีบุตรชายอีก 2 คน บุตรหญิง 1 บุตรชาย 2 คนนั้น คนหนึ่งชื่อเจริญรุ่งราษี เป็นน้องมารดาเดียวกับชายทองกองทองแถม ออกเมื่อเดือน 4 อีกคนหนึ่งชื่อสวัสดิประวัติ ออกเมื่อเดือน 10 มารดาชื่อหุ่น มิใช่เมขลา เสด็จไม่ทรงรู้จักดอก ด้วยเป็นคนใหม่ หญิงคนหนึ่งนั้นชื่อ สุนันทากุมารีรัตน์ เป็นน้องมารดาเดียวกับชายอุณากรรณ และชายเทวัญอุทัยวงศ์ ออกเมื่อเดือน 12"

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานทรัพย์สิน และพระบรมราโชวาทให้แก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ดังต่อไปนี้[5]

…ผู้พระบิดาของพระองค์ เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์บุตรี จะขอสั่งสอนผู้บุตรไว้ว่า พระองค์เจ้าหญิงสุนันทากุมารีรัตน์เอ๋ย พ่อขอสั่งแก่ตัวเจ้าไว้ ทรัพย์ที่มีหางว่าวผูกติดกับหนังสือนี้ "มีตราของพ่อผูกปิดไว้เป็นสำคัญเท่านี้ พ่อให้แก่เจ้าคนเดียว ตัวเจ้าเมื่อโตใหญ่ อายุได้ 16 ปีแล้ว จงคิดอ่านเอาเป็นทุนทำมาหากินแลเลี้ยงตัวต่อไป แลใช้สอยตามสมควรเถิด แต่พ่อขอเสียเป็นอันขาดทีเดียว คิดถึงคำพ่อสั่งให้มากนักหนา"

"อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้นัก จงรักษาทุนของพ่อให้ไว้นี้ เป็นเกียรติยศชั่วลูกชั่วหลาน เอาแต่กำไรใช้สอย เจ้าจงอย่าเล่นเบี้ย เล่นโด เล่นหวยเลยเป็นอันขาด แลอย่าทำสุรุ่ยสุร่ายใช้เงินทองง่ายไม่คิดหน้าคิดหลัง จงคิดอ่านทำมาหากิน ตริตรองให้ดี อย่าให้นักเลงคนโกงมักหลอกลวงได้จะเสียทรัพย์ด้วย อายเขาด้วย"

"เมื่อสืบไปภายหน้า นานกว่าจะสิ้นอายุตัวเจ้า ตัวเจ้าจะตกเป็นข้าแผ่นดินใดใดเท่าใด ก็จงอุตสาหตั้งใจทำราชการแผ่นดินให้ดี อย่ามีความเกียจคร้านแชเชือนแลเป็นอย่างอื่นๆ บรรดาที่ไม่ควรเจ้าอย่าทำ อย่าประพฤติให้ต้องตำหนิติเตียนตลอดถึงพ่อด้วย ว่าสั่งสอนลูกไม่ดี จงเอาทรัพย์ที่พ่อให้ไว้นี้เป็นกำลังตั้งเป็นทุน เอากำไรใช้การบุญ แลอุดหนุนตัวทำราชการแผ่นดินเทอญ"

"ถ้าทรัพย์เท่านี้พ่อให้ไว้ ไปขัดขวางฤๅร่อยหรอไปด้วยเหตุมีผู้ข่มเหงผิดๆ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เจ้าจงเอาหนังสือคำสั่งของพ่อนี้ กับคำประกาศที่ให้ไว้ด้วยนั้น ให้เจ้านายแลท่านผู้ใหญ่ข้างในข้างหน้าดูด้วยกันให้หลายแห่งปฤกษาหารือ อ้อนวอนขอความกรุณาเมตตา แลสติปัญญาท่านทั้งปวงให้อนุเคราะห์โดยสมควรเถิด เล่าความเล่าเหตุที่เป็นอย่างไรนั้น ให้ท่านทั้งปวงฟังโดยจริงๆ พูดจาให้เรียบร้อยเบาๆ อย่าทำให้ท่านที่เป็นใหญ่ในแผ่นดินขัดเคืองกริ้วกราดชิงชังได้ จงระวังความผิดให้มาก"

"อย่างตามใจมารดาแลคนรักมาก ทรัพย์นี้ของพ่อให้เจ้าดอก ไม่ใช่มารดาเจ้าแลคนอื่นเข้าทุนด้วย จงคิดถึงพ่อคนเดียวให้มาก เจ้าเกิดเมื่อพ่อสูงอายุแล้ว พ่อไม่ประมาทจึงจัดแจงให้ไว้แต่เดิม ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่ อันตรายมีแก่เจ้าก่อน ถ้าอายุถึง 16 ปีแล้วสั่งให้ใคร พ่อจะให้ผู้นั้นถ้ายังไม่ถึงกำหนดฤๅไม่ได้สั่ง พ่อขอเอาคืน จะทำบุญให้ทาน ถ้าพ่อมีชีวิตและอำนาจไปนาน ทำมาหาได้ ก็จะเพิ่มเติมให้อีก แล้วจะแก้หางว่าง"

พระบรมราโชวาทนี้ พิมพ์ด้วยแผ่นหิน พระราชทานพร้อมกับเงิน 100 ชั่ง[6]

พระนางเธอในรัชกาลที่ 5

สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์

ภายหลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ซึ่งขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 8 ปี[7] จึงเปลี่ยนพระฐานันดรศักดิ์จาก “พระเจ้าลูกเธอ” เป็น พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และเมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ได้ถวายตัวรับราชการเป็นภรรยาเจ้าเมื่อพระชนมายุประมาณ 15 – 16 พรรษา จึงดำรงพระอิสริยยศเป็น พระนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์

พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์มีพระสิริโฉมงดงาม พระสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลม จึงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยยศขึ้นเป็น "พระอัครมเหสี" และยังเป็นที่โปรดปรานสนิทเสน่หายิ่งกว่าพระอัครมเหสีองค์อื่นๆ พระองค์เจ้าสุนันทาฯ ทรงรับราชการรับใช้สนองพระเดชพระคุณชิดใกล้เป็นที่สนิทเสน่หาในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยิ่งนัก ทรงโปรดเกล้าฯ ให้ตามเสด็จและรับใช้ใกล้ชิดดั่งเป็นปิยมหาราชินีเสมอ นอกจากทรงมีพระรูปโฉมงดงามแล้ว ก็ยังทรงมีพระสติปัญญาฉลาดล้ำ ทรงมีพระอัธยาศัยจริงจังเด็ดขาด ปฏิบัติข้อราชการและรับสั่งด้วยความเฉียบคมชัดเจนเสมอเป็นที่ประจักษ์แก่หมู่ข้าหลวงชาววังทั่วไปซึ่งเล่าขานกันว่าพระอุปนิสัยรับสั่งเฉียบคมนี้ทรงมีตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์แล้ว ทำให้พระองค์เป็นที่นับถือในพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชบริพาร และทรงเป็นที่สนิทเสน่หาในพระราชสวามียิ่งนัก[8]

ในวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2421 พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ประสูติพระราชธิดาพระองค์แรกของพระองค์ โดยเป็นพระราชธิดาพระองค์ที่ 21 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้มีพระตำหนิเด่นชัด คือ มีติ่งที่พระกรรณข้างขวามาแต่แรกประสูติ จึงพระราชทานพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพ็ชรรัตน์ โสภางคทัศนิยลักษณ์ อรรควรราชกุมารี[1] ในการประสูติพระราชธิดาครั้งนี้ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวัน ดังต่อไปนี้[9]

"…เวลา 5 ทุ่ม 11 นาที กับ 25 วินาที พระองค์เจ้าสุนันทาประสูติพระราชบุตรี รกติดอยู่ประมาณ 15 นาทีจึงออก เราอยู่ที่วังสมเด็จกรมพระ สมเด็จกรมพระกับเราเข้าไป รับสั่งให้เราแขวนกระโจมอย่างคราวก่อน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าหญิงนั้น มีติ่งที่ริมพระกรรณข้างขวาหน้าออกมาตรงพระปราง ติ่งนั้นยาวประมาณ 3 กระเบียดน้อย เมื่อเรากลับออกมากับสมเด็จกระนั้น ฝนตกเวลา 7 ทุ่ม 45 มินิต ถึงบ้าน"

และเนื่องในการประสูติคราวนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันว่า[9]

"เราถวายสายนาฬิกาเพชรทรงซื้อราคา 15 ชั่ง พระราชทานพระองค์เจ้าสุนันทาประสูติ กับรับสั่งให้เติมแหวนที่ทรงซื้อเงินพระคลังข้างที่อีก 2 วง ที่ราคาวงละ 19 ชั่ง รวม 38 ชั่ง ขายเงินงวดตามธรรมเนียม"

ทิวงคต

พระโกศพระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ และ พระศพ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์

เมื่อวันจันทร์ที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการให้แต่งเรือพระที่นั่งเพื่อเสด็จประพาสพระราชวังบางปะอินพร้อมพระมเหสีทุกพระองค์ เจ้าจอมมารดา เจ้าจอม และข้าราชบริพาร โดยก่อนวันเสด็จพระราชดำเนินนั้น พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ทรงพระสุบิน (ฝัน) ความว่า พระองค์พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพระดำเนินข้ามสะพานแห่งหนึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ทรงพลัดตกน้ำลงไป พระองค์สามารถคว้าพระหัตถ์เอาไว้ได้ แต่พระหัตถ์ของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ก็ลื่นหลุดจากพระหัตถ์พระองค์ไป พระองค์ทรงคว้าพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ จนทรงตกลงไปในน้ำด้วยกันทั้งสองพระองค์ พระองค์ได้เล่าความในพระสุบินให้ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประดิษฐาสารี และเจ้านายที่ใกล้ชิดฟัง แต่ก็มิได้ทรงกราบบังคมทูลให้พระราชสวามีทรงทราบ และได้ตามเสด็จฯ ประพาสพระราชวังบางปะอินตามพระราชประสงค์[8]

ในวันเสด็จฯ นั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้เคลื่อนขบวนเรือต่าง ๆ ออกไปก่อนในเวลาประมาณ 2 โมงเช้า โดยพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ประทับบนเรือเก๋งกุดันโดยมีเรือปานมารุตซึ่งเป็นเรือกลไฟจูงเรือพระประเทียบ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสร็จพระราชกิจแล้วจึงได้เสด็จพระราชดำเนินด้วยเรือพระที่นั่งโสภาณภควดีตามไป เมื่อขบวนเรือพระที่นั่งไปถึงบางตลาดนั้น จมื่นทิพเสนากับปลัดวังซ้ายลงมากราบทูลว่า “เรือพระที่นั่งพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ซึ่งเรือปานมารุตจูงไปนั้นล่มที่บางพูด องค์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ แลพระชนนีสิ้นพระชนม์” [8]

งานออกพระเมรุพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี

หลังจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าจึงได้ทรงไล่เลียงกรมหมื่นอดิศรอุดมเดช พระยามหามนตรี และผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ โดยพระยามหามนตรีทูลว่า “เรือราชสีห์ซึ่งจูงเรือพระองค์เจ้าสุขุมาลมารศรีนั้นนำหน้าไปทางฝั่งตะวันออก โดยมีเรือโสรวารซึ่งพระยามหามนตรีไปจูงเรือพระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรีตามไปเป็นที่สองในแนวเดียวกัน ส่วนเรือยอร์ชของกรมหลวงวรศักดาพิศาล ซึ่งจูงเรือกรมพระสุดารัตนราชประยูรไปทางฝั่งตะวันตกแล่นตรงกันกับเรือราชสีห์ หลังจากนั้น เรือปานมารุตแล่นสวนขึ้นมาช่องกลางห่างเรือโสรวารประมาณ 10 ศอก พอเรือปานมารุตแล่นขึ้นไปใกล้ เรือราชสีห์ก็เบนหัวออก เรือพระประเทียบเสียท้ายปัดไปทางตะวันออก ศีรษะเรือไปโดนข้างเรือโสรวารน้ำเป็นละลอกปะทะกัน กดศีรษะเรือพระประเทียบจมคว่ำลง”[4]

อย่างไรก็ตาม กรมหมื่นอดิศรอุดมเดชกล่าวว่า “เป็นเพราะเรือโสรวารหนีตื้นออกมา จึงเป็นเหตุให้เรือปานมารุตแล่นห่างกว่า 10 ศอก”[4] ซึ่งกรมหมื่นอดิศรอุดมเดชและพระยามหามนตรีต่างซัดทอดกันไปมา โดยในขณะที่เรือล่มนั้น พระยามหามนตรีก็ได้ออกคำสั่งห้ามผู้ใดลงไปช่วยเหลือ ด้วยเป็นการขัดต่อกฎมณเฑียรบาลที่ห้ามให้ผู้ใดแตะต้องพระวรกายของพระมเหสี มิฉะนั้นจะถูกประหารทั้งตระกูล หลังจากนั้น จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านายขึ้นไปไล่เลียงคนอื่น ๆ ดู แล้วจึงได้ความว่า พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ก็ทิวงคตพร้อมด้วยพระราชบุตรในพระครรภ์พระชนม์ 5 เดือนเต็ม ทำให้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าทรงเสียพระทัยยิ่งนัก และเนื่องจากเหตุการณ์นี้ทำให้มหาชนถวายพระนามพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ว่า “สมเด็จพระนางเรือล่ม”

พระศพของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าหญิงกรรณาภรณ์เพชรรัตน์ฯ ตั้งบำเพ็ญพระราชกุศลที่หอธรรมสังเวชภายในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่วันทิวงคต โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระโกศทองใหญ่ซึ่งเป็นพระโกศสำหรับทรงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์ สมเด็จพระอัครมเหสีและพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ ให้ทรงพระศพสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ซึ่งถือเป็นการพระราชทานพระเกียรติยศแก่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ เป็นอย่างยิ่ง[10] หลังจากนั้น ได้มีการจัดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพทั้ง 2 พระองค์ขึ้น ณ กลางทุ่งพระเมรุ เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2424 และพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระราชทานเพลิงพระศพ ในวันที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2424

ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระศพในครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระราชประสงค์ให้จัดพิมพ์หนังสือสวดมนต์รวมพระสูตร และพระปริตต่าง ๆ สำหรับพระราชทานแด่อารามต่าง ๆ เพื่อเป็นพระราชกุศลในวันถวายพระเพลิงพระศพ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการจัดพิมพ์หนังสือแจกในงานศพ และยังคงเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาจนถึงปัจจุบัน[11]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์_พระบรมราชเทวี http://58.181.147.36/index.php/ja/about-us/amulet/... http://www.thai-tour.com/thai-tour/central/nonthab... http://www.rajini.ac.th/news/Royal%20%20SEMINARY.p... http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1... https://www.silpa-mag.com/history/article_33627 https://oer.learn.in.th/search_detail/result/16618...