พระราชานุสรณ์ ของ สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์_พระบรมราชเทวี

พระราชานุสาวรีย์

พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ ณ พระราชวังบางปะอิน

หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีเสด็จทิวงคตแล้วนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้สร้างพระราชานุสรณ์ขึ้นหลายแห่ง เพื่อเป็นที่ระลึกถึงสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ โดยแต่ละแห่งนั้น เป็นสถานที่ที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯเคยตามเสด็จฯ และทรงโปรดปรานเป็นพิเศษ[8][14] ได้แก่

  1. พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯน้ำตกพลิ้ว จังหวัดจันทบุรี ภายในบรรจุพระบรมราชสรีรางคาร (เถ้ากระดูก) ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ไว้ด้วย มีลักษณะเป็นรูปทรงพีระมิดพร้อมคำจารึก โดยเหตุที่สร้างสถูปเป็นรูปทรงนี้ก็มาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ว่า "ทำเป็นรูปอื่นอาจไม่คงทนถาวร เพราะตั้งอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร อันไม่มีผู้ดูแล ฉะนั้น เมื่อปิรามิดของอียิปต์ยืนยงคงทนอยู่ได้ฉันใด ปิรามิดน้อยนี้ก็จะยืนยงคงทนอยู่เช่นกัน ณ ท่ามกลางป่าเขาและเสียงไหลรินของธารพลิ้ว "
  2. พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯสวนสราญรมย์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2426 ตัวอนุสาวรีย์ทำด้วยหินอ่อนสีขาวมียอดเป็นปรางค์ ภายในบรรจุพระสรีรางคารของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ไว้ด้วย และมีคำจารึกแสดงความทุกข์โทมนัสของรัชกาลที่ 5 บนแผ่นหินอ่อน
  3. พระราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์พระราชวังบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอนุสรณ์แห่งความรักแห่งนี้ขึ้น มีลักษณะเป็นฐานรูปทรงสี่เหลี่ยมและยอดหกเหลี่ยมทรงสูง สร้างด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลี พร้อมทั้งได้เสด็จพระราชดำเนินเปิดพระราชานุสาวรีย์เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2426 ซึ่งตรงกับวันที่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์เสด็จทิวงคตครบรอบ 3 ปี

โรงเรียนสุนันทาลัย

นอกจากพระราชานุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อระลึกถึงพระนางแล้ว พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตึกใหญ่ 2 ตึกบริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลปากคลองตลาด ตามแบบสถาปัตยกรรมตะวันตก ได้แก่ "LOYAL SEMINARY" สุนันทาลัยที่แม่น้ำ และสุนันทาลัยฝั่งใต้ (ปัจจุบัน ถูกรื้อถอนเพื่อสร้างเป็นห้องประชุมอาคารสว่างวัฒนา) เพื่อใช้เป็นสถานศึกษาสำหรับสตรีและเป็นการอุทิศพระราชกุศลพระราชทานแด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ซึ่งพระนางสนพระทัยในด้านการศึกษาเป็นพิเศษ โดยโปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระราชทรัพย์ส่วนพระองค์อันเป็นพระมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ในการก่อสร้าง[15] ในปี พ.ศ. 2423 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินวางศิลาก่อฤกษ์อาคารพร้อมทั้งพระราชทานนามโรงเรียนแห่งนี้ว่า "โรงเรียนสุนันทาลัย" และเปิดการเรียนการสอนเมื่อปี พ.ศ. 2435[16] ปัจจุบัน บริเวณโรงเรียนสุนันทาลัยเป็นที่ตั้งของโรงเรียนราชินี

วังสวนสุนันทา

วังสวนสุนันทา เป็นเขตพระราชฐานภายในบริเวณของพระราชวังดุสิต ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นสถานที่พักผ่อนพระอิริยาบถแทนการเสด็จประพาสหัวเมือง พระองค์มีพระราชประสงค์ให้สวนนี้มีลักษณะเป็นสวนป่า[17] จึงโปรดเกล้าฯ ให้หาพันธุ์ไม้ดอกไม้ผลที่ดีและหาได้ยากนานาชนิดมาปลูกไว้ในสวนแห่งนี้ด้วย ที่มาของชื่อสวนแห่งนี้มาจากชื่อสวนของพระอินทร์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ซึ่งมีชื่อว่า "สุนันทาอุทยาน"[18] และพระนามของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี พระมเหสีซึ่งเป็นที่รักยิ่งของพระองค์ นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างตำหนักขึ้นเพื่อเตรียมไว้เป็นที่ประทับของเจ้านายฝ่ายใน แต่เนื่องจากพระองค์เสด็จสวรรคตเสียก่อน การสร้างจึงยังไม่แล้วเสร็จตามพระราชประสงค์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระองค์จึงโปรดให้สร้างต่อจนแล้วเสร็จ[19] ปัจจุบันได้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

อนุสรณ์สถานสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ

ดูบทความหลักที่: วัดเกาะพญาเจ่ง

อนุสรณ์สถานสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่ด้านทิศเหนือของวัดเกาะพญาเจ่ง ซึ่งเป็นสถานที่เรือสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ล่มบริเวณหน้าวัด เป็นเจดีย์ทรงกลมขนาดใหญ่ตั้งอยู่บนฐานทรงกลมสูงมีซุ้มโค้งตามทิศทั้งสี่ ภายในฐานเจดีย์ประดิษฐานพระพุทธรูปพระศรีอาริย์สี่องค์ หันพระพักตร์ไปทางทิศทั้งสี่ และด้านหน้าพระเจดีย์มีคำจารึกพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว[20][21]

ศาลพระนางเรือล่ม

ดูบทความหลักที่: วัดกู้

ศาลสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ศาลพระนางเรือล่ม" ตั้งอยู่ที่วัดกู้ บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สร้างขึ้นในบริเวณที่เชื่อกันว่ากู้เรือพระประเทียบของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ตัวศาลนั้นจำลองแบบจากศาลาจตุรมุขของพระที่นั่งไอศวรรย์ทิพยอาสน์ที่พระราชวังบางปะอิน[22]

เหรียญที่ระลึก

เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ วัดกู่

เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี วัดกู่ เป็นเหรียญที่ระลึกที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นสิริมงคล สร้างขึ้นที่วัดกู้ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญทองแดง แบบยาว ขอบเหลี่ยม ด้านหน้ามีพระรูปสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีแบบเต็มพระองค์ ตรงด้านล่างมีข้อความจารึกว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์" ด้านหลังเป็นรูปยันต์สามยอด มีข้อความจารึกว่า "วัดกู่"[23]

เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ วัดนิเวศธรรมประวัติ

เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ วัดนิเวศธรรมประวัติ

เหรียญที่ระลึกสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี วัดนิเวศธรรมประวัติ จัดทำขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึก 118 ปีการทิวงคตของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ สร้างขึ้นที่วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร[24] ตำบลบ้านเลน อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญทองแดง แบบเหรียญกลม ขอบมน ด้านหน้าเป็นพระรูปพระพักตร์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ด้านหลังเป็นรูปพระมหามงกุฎ มีจารึกปีพ.ศ. 2423 - 2437 บริเวณขอบมีข้อความจารึกว่า "วัดนิเวศธรรมประวัติ ที่รฤกเสด็จทิวงคตครบ ๑๑๘ ปี สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม)"[25]

เหรียญที่ระลึกรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ

เหรียญที่ระลึกพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี สร้างขึ้นที่ วัดพระพุทธฉาย[26] อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี

ลักษณะเหรียญเป็นเหรียญกลม ขอบมน ด้านหน้าเป็นพระรูปพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี ข้อความด้านบนจารึกว่า "พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ข้อความด้านล่างจารึกว่า "สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี" ด้านหลังเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑยืนบนนาค บริเวณด้านล่างเหรียญมีข้อความว่า "วัดพระฉาย จ.สระบุรี"[26]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์_พระบรมราชเทวี http://58.181.147.36/index.php/ja/about-us/amulet/... http://www.thai-tour.com/thai-tour/central/nonthab... http://www.rajini.ac.th/news/Royal%20%20SEMINARY.p... http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1... https://www.silpa-mag.com/history/article_33627 https://oer.learn.in.th/search_detail/result/16618...