พระประวัติ ของ สมเด็จพระปิยมาวดี_ศรีพัชรินทรมาตา

ชีวิตตอนต้นและเข้ารับราชการ

เจ้าจอมมารดาเปี่ยมแต่งกายอย่างตะวันตก เมื่อสมัยแรกรับราชการ

สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา ประสูติเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2381 เป็นธิดาหลวงอาสาสำแดง (แตง) และท้าวสุจริตธำรง (นาค) ต้นราชินิกูลสุจริตกุล พระองค์สืบเชื้อสายจีนมาแต่ฝ่ายบิดาและมารดา[3][4] ในบันทึกของแอนนา ลีโอโนเวนส์ระบุว่าเจ้าจอมมารดาเปี่ยมนั้นมีเชื้อสายจีนจากบิดา และไม่มีชาติกำเนิดสูงส่งอย่างใด[5]

เบื้องต้น เปี่ยมเข้าเป็นนางฟ้อนในคณะละครหลวง[6] ก่อนได้รับการแต่งตั้งเป็นบาทบริจาริกาในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จากการที่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมไม่ได้เป็นเจ้า พระราชบุตรจึงมีฐานันดรศักดิ์เป็นพระองค์เจ้า[6] แม้นางจะไม่มีชาติกำเนิดสูงส่ง ทว่าฉลาด สามารถชักพาญาติพี่น้องรับราชการ และนำคนจีนจำนวนมากให้ไปรู้จักกับกษัตริย์สยาม ดังปรากฏในหนังสือของแอนนา ลีโอโนเวนส์ ความว่า[5]

"สตรีเพียงหนึ่งเดียวซึ่งเป็นที่ยอมรับว่ามัดใจพระองค์ [พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว] ได้สำเร็จคือคุณจอมเปี่ยม แม้จะไม่ใช่คนสวยอะไร แต่วางตัวดีและมียุทธวิธีเยี่ยมยอด เธอมิได้มีการศึกษาและชาติกำเนิดสูงส่งเลย ทั้งยังมีเชื้อสายจีนทางฝั่งบิดา กระนั้นกลับมีคุณลักษณะที่น่าชื่นชมโดยเนื้อแท้ เมื่อรู้สึกได้ว่าตนเริ่มมีอิทธิพลเหนือกษัตริย์ เธอวางแผนจะรักษาและใช้ประโยชน์จากอำนาจดังกล่าวอยู่นานหลายปี โดยใช้วิธีบอกปัดบ้างเป็นครั้งคราว ถ่อมตนเกินเหตุจนน่ารำคาญบางครั้งถึงกับถูกกล่าวหาว่าดัดจริต เธอมักหาข้ออ้างไม่ไปเข้าเฝ้าฯ กษัตริย์อยู่เป็นประจำ โดยอ้างว่าป่วยบ้าง ต้องดูแลลูก ๆ บ้าง อยู่ระหว่างไว้ทุกข์ญาติบ้าง และจะเต็มใจไปเข้าเฝ้าฯ ถวายงานเองเป็นช่วง ๆ ในช่วงเวลา 6 ปีที่ถวายตัวรับใช้ เธอสะสมทรัพย์สมบัติไว้เป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งยังจัดการให้สมาชิกในครอบครัวเธอได้รับราชการตำแหน่งดี ๆ ตลอดจนช่วงชักนำชาวจีนอีกมากมายให้ได้รู้จักกษัตริย์ ในขณะเดียวกันเธอก็ใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวตลอดเวลา ต้องยอมอ่อนน้อมถ่อมตนและประนีประนอมกับบรรดาสตรีคู่แข่งซึ่งออกจะสมเพชเธอมากกว่าอิจฉา และต้องอยู่ในอาณัติของเหล่าสตรีผู้ทรงอำนาจแห่งวังหลวง"

เจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสนมเอกในรัชกาล[1][7] จากการที่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมเป็นที่สนิทสวาทของพระสวามี พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดพระราชบุตรที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมเป็นพิเศษ ดังจะพบการตั้งพระนามอันแสดงถึงความศิวิไลซ์ ลูกหลวงและบาทบริจาริกาเหล่านี้สวมฉลองพระองค์อย่างยุโรปและเล่าเรียนภาษาอังกฤษจากพระอาจารย์ต่างชาติในวังหลวง[8] และท่านเป็นบาทบริจาริกาที่ถวายการดูแลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในช่วงปลายพระชนม์ชีพ[9]

ในฐานะพระสัสสุ

หลังการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และการเสวยราชย์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชธิดาสามพระองค์ในรัชกาลก่อนที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้ถวายตัวเป็นพระภรรยาเจ้าในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้แก่ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา และพระเจ้าน้องนางเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี ตามกฎมนเทียรบาลว่าด้วยความบริสุทธิ์ของเชื้อสายหรืออุภโตสุชาติสังสุทธเคราหณี พระภรรยาร่วมสายเลือดเหล่านี้ถือเป็นพระภรรยาชั้นสูง พระราชโอรสที่เกิดจากพระภรรยาเจ้ามีสิทธิธรรมในการสืบราชสันตติวงศ์สูงกว่าพระราชโอรสที่ประสูติแต่เจ้าจอมสามัญชน[10]

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2428 ในพระราชวโรกาสมงคลวันเฉลิมพระชนมพรรษา 20 กันยายน ศกนั้น ด้วยเหตุที่เป็นพระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี ซึ่งเป็นสมเด็จพระอัครมเหสีในขณะนั้น พร้อมทั้งพระราชทานเครื่องยศ[11] ได้แก่

  • พานหมากทองคำเครื่องในลงยา
  • หีบหมากลงยา
  • กาทองรองถาด
  • กระโถนทองคำ

เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมได้บริจาคเงินจำนวน 100 ชั่ง หรือ 8,000 บาทสำหรับสร้างถาวรวัตถุเพื่อสาธารณะประโยชน์ อุทิศพระกุศลถวายพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ จัดสรรงบประมาณสมทบเงินจำนวนดังกล่าว ตัดถนนเส้นหนึ่งระหว่างถนนเจริญกรุงกับถนนบำรุงเมือง กรมโยธาธิการสร้างถนนเสร็จในปี พ.ศ. 2443 แล้วถวายเป็นถนนหลวง จึงพระราชทานนามถนนเส้นดังกล่าวว่าถนนอุณากรรณ[12][13]

สิ้นพระชนม์

เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยมถึงแก่พิราลัยเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2447 พระอัฐิถูกบรรจุไว้ ณ ศาลาพระอัยกาในวัดราชาธิวาสราชวรวิหาร[14] ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอัฐิขึ้นเป็นเจ้านายในราชวงศ์จักรี ถวายพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา เนื่องด้วยในรัชกาลนั้นมีพระฐานะเป็นสมเด็จพระอัยยิกาเจ้า (ยาย) ส่วนพระนามาภิไธยนั้นมีความหมายว่า เป็นพระราชชนนีในสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2466[15]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต