พระประวัติ ของ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า_กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์

ทรงพระเยาว์

สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระโอรสพระองค์ที่ 18 ในสมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาน้อยเล็ก เมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น 6 ค่ำ เดือน 10 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 14 กันยายน จ.ศ. 1171 (พ.ศ. 2352) เวลาสี่ทุ่มเศษ เนื่องจากวันประสูตินั้นเป็นวันเริ่มสวดมนต์ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย พระองค์จึงได้รับพระราชทานนามว่าพระองค์เจ้าฤกษ์[2]

เมื่อพระบิดาสวรรคตในปี พ.ศ. 2360 พระองค์ได้เสด็จไปประทับในพระบรมมหาราชวังกับสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าประไพวดี กรมหลวงเทพยวดี เป็นบางคราว เพราะเจ้าจอมมารดาของพระองค์เคยเป็นข้าหลวงของเจ้าฟ้าพระองค์นี้ ต่อมาเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเทพยวดีได้นำพระองค์ไปฝากกับพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ จึงคุ้นเคยกันมานับแต่นั้น[2]

ผนวช

พ.ศ. 2365 เมื่อพระชันษาได้ 13 ปี ได้ผนวชเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ราชวรมหาวิหาร โดยมีสมเด็จพระอริยวงษญาณ (มี) เป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วศึกษาภาษาบาลีตามคัมภีร์มูลกัจจายน์กับพระญาณสมโพธิ (รอด) จนชำนาญ ผนวชได้ 4 พรรษา ก็ประชวรด้วยพระโรคทรพิษ จึงลาผนวชมารักษาพระองค์จนหายประชวร สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพโปรดให้ผนวชเป็นสามเณรอีกครั้ง ณ พระราชวังบวรสถานมงคล[2]

พ.ศ. 2372 เมื่อมีพระชันษาครบ 20 ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้ลาสิกขาบทเพื่อทำการสมโภชพร้อมกับสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าอาภรณ์ ที่จะทรงผนวชเป็นสามเณรในเวลานั้น ได้สมเด็จพระอริยวงษญาณ (ด่อน) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นนุชิตชิโนรส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระวินัยรักขิต วัดมหาธาตุ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ผนวชแล้วศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขณะเป็นพระภิกษุ[2]

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งธรรมยุติกนิกาย ก็ได้ทรงเข้าถือธรรมเนียมนั้นตาม ทรงทำทัฬหีกรรม ณ นทีสีมา โดยมีพระสุเมธมุนี (ซาย พุทฺธวํโส) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงเป็นพระภิกษุเป็นพระกรรมวาจาจารย์ แล้วศึกษาพระปริยัติธรรมต่อในสำนักพระวิเชียรปรีชา (ภู่) แม้จะไม่เคยสอบพระปริยัติธรรม แต่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานตาลปัตรสำหรับพระเปรียญที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงเคยรับ ให้ทรงใช้ต่อ[2]

ปีวอก พ.ศ. 2379 ทรงติดตามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ย้ายไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก