ช่วงต้นพระชนม์ชีพ ของ สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่_1_แห่งเนเปิลส์

เจ้าหญิงโจวันนาเป็นพระราชบุตรองค์ที่สองในชาลส์ ดยุกแห่งคาลาเบรีย (ซึ่งเป็นพระราชโอรสที่รอดพระชนม์เพียงพระองค์เดียวของพระเจ้าโรแบร์โต ผู้ชาญฉลาด กษัตริย์แห่งเนเปิลส์) กับมารีแห่งวาลัวส์ (พระขนิษฐาในพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส[1] ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดถึงวันที่ประสูติ แต่คาดว่าพระนางอาจประสูติในปี 1326 หรือ 1327[1][2] โดนาโต อัคชิเอียโอลี นักประวัติศาสตร์ยุคเรอแนซ็องส์ อ้างว่า พระนางประสูติในฟลอเรนซ์ แต่ตามข้อคิดเห็นของแนนซี โกลด์สโตน นักวิชาการระบุว่า จริงๆแล้วพระนางอาจประสูติในระหว่างที่พระราชบิดาและพระราชมารดาเสด็จประพาสระหว่างเมืองต่างๆ[1] เจ้าหญิงเอลอยซา หรือ หลุยส์ พระเชษฐภคินีของพระนางสิ้นพระชนม์ในเดือนมกราคม ค.ศ. 1326 และเจ้าชายชาร์ล มาร์แตล พระอนุชาเพียงองค์เดียวของพระนางสิ้นพระชนม์ในเดือนเมษายน ค.ศ. 1327 หลังจากประสูติมาได้เพียง 8 วัน[1]

เจ้าชายชาลส์แห่งคาลาเบรียสิ้นพระชนม์โดยไม่มีใครคาดคิดในวันที่ 9 พฤศจิกายน ค.ศ. 1328[3] การสิ้นพระชนม์ของพระองค์ ทำให้กษัตริย์โรแบร์โตต้องเผชิญกับปัญหาการสืบราชบัลลังก์ เนื่องจากพระราชบุตรที่ประสูติหลังจากเจ้าชายชาร์ลสิ้นพระชนม์ไปแล้วก็ยังเป็นพระราชธิดา พระนามว่า เจ้าหญิงมาเรีย[1][4] แม้ว่ากฎมณเฑียรบาลของเนเปิลส์จะไม่ได้ห้ามสตรีครองบัลลังก์ แต่การมีสมเด็จพระราชินีนาถปกครองนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ปกติ[5] มีการทำข้อตกลงระหว่างสันตะสำนักและกษัตริย์โรแบร์โต ผู้ชาญฉลาด พระอัยกาของพระนาง ว่า มีการยอมรับเชื้อสายที่เป็นสตรีของพระเจ้าการ์โลที่ 1 แห่งเนเปิลส์ให้สามารถสืบราชบัลลังก์ได้ แต่มีข้อแม้ว่าสมเด็จพระราชินีนาถจะต้องอภิเษกสมรสและอนุญาตให้พระสวามีร่วมปกครองอาณาจักรด้วย[6] นอกเหนือจากนี้ราชวงศ์เนเปิลส์นั้นเป็นราชนิกุลสาขาของราชวงศ์กาแปแห่งฝรั่งเศสและกฎหมายของฝรั่งเศสเองได้ตัดสิทธิครองราชย์ของสตรี เรียกว่า กฎหมายแซลิก[4][7] พระนัดดาของกษัตริย์โรแบร์โตคือ พระเจ้าชาลส์ที่ 1 แห่งฮังการี ได้ถูกกษัตริย์โรแบร์โตตัดสิทธิ์จากพระราชมรดกในปี 1296 แต่พระองค์ก็ไม่ได้ละทิ้งสิทธิที่พระองค์มีต่อ "Regno" (หรือ ราชอาณาจักรเนเปิลส์)[8] สมเด็จพระสันตะปาปาจอห์นที่ 22 ปฏิเสธข้อเรียกร้องของกษัตริย์ชาร์ลแห่งฮังการีมาเป็นเวลานานหลายปี แต่ด้วยกษัตริย์โรแบร์โตแห่งเนเปิลส์ทรงสนับสนุนคณะฟรันซิสกัน (ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาทรงมองว่าเป็นพวกนอกรีต) และการที่กษัตริย์เนเปิลส์ทรงละเลยในการจ่ายเงินสนับสนุนประจำปีให้สันตะสำนักก่อให้เกิดความตึงเครียดระหว่างพระสันตะปาปาและเนเปิลส์[9] พระอนุชาสองพระองค์ของกษัตริย์โรแบร์โต ได้แก่ ฟิลิปที่ 1 เจ้าชายแห่งตารันโต และเจ้าชายจอห์น ดยุกแห่งดูราซโซ สามารถที่จะอ้างสิทธิในราชบัลลังก์ต่อต้านสมเด็จพระราชินีนาถได้[7]

กษัตริย์โรแบร์โตทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ที่จะปกป้องสิทธิในบัลลังก์ให้ตกอยู่แก่เชื้อสายของพระองค์ พระองค์จึงสถาปนาเจ้าหญิงโจวันนาและเจ้าหญิงมาเรียเป็นรัชทายาทของพระองค์ในพระราชพิธีที่ปราสาทนูโอโวในเนเปิลส์ วันที่ 4 ธันวาคม ค.ศ. 1330[10][11] เจ้าชายจอห์น ดยุกแห่งดูราซโซและอักเนสแห่งเปรีกอร์ พระชายา ทรงยอมรับการตัดสินพระทัยของกษัตริย์โรแบร์โต (ด้วยทรงหวังว่าหนึ่งในพระโอรสทั้งสามจะเสกสมรสกับเจ้าหญิงโจวันนา) แต่ฟิลิปที่ 1 เจ้าชายแห่งตารันโตและแคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ พระชายา ตัดสินพระทัยที่จะไม่เคารพพระราชโองการ[9] เมื่อเจ้าหญิงโจวันนาทรงได้รับพระราชทานสิทธิในการสืบบัลลังก์ต่อจากพระอัยกาในวันที่ 30 พฤศจิกายน เจ้าชายจอห์นและอักเนสทรงอยู่ท่ามกลางเหล่าขุนนางเนเปิลส์ในการถวายความจงรักภักดีต่อรัชทายาทหญิง แต่เจ้าชายฟิลิปและแคทเทอรีนปฏิเสธไม่เข้าร่วมพระราชพิธี[12] แม้ว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจะสามารถเกลี้ยกล่อมเจ้าชายฟิลิปให้ได้เพียงส่งตัวแทนไปยังเนเปิลส์เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อเจ้าหญิงโจวันนาแทนพระองค์เองในวันที่ 3 มีนาคม ค.ศ. 1331[12]

กษัตริย์ชาลส์ที่ 1 แห่งฮังการีทรงทูลขอให้สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเกลี้ยกล่อมกษัตริย์โรแบร์โตให้ฟื้นฟูดินแดนศักดินาทั้งสองแห่งของเจ้าชายชาลส์ มาร์เตล พระราชบิดาของพระองค์ในดินแดน "เร็กโน" (Regno) หรือ ราชรัฐซาแลร์โน และมองเตแห่งซันตันเจโล ให้คืนแก่พระองค์และพระราชโอรส[10] พระองค์ยังทรงผลักดันการเป็นพันธมิตรผ่านการอภิเษกสมรสโดยทรงสู่ขอเจ้าหญิงโจวันนาให้เป็นคู่ครองของหนึ่งในพระราชโอรสของพระองค์[10] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงสนับสนุนแผนการนี้และทรงเร่งเร้าให้กษัตริย์โรแบร์โตยอมรับข้อตกลงนี้[12] แคทเทอรีนแห่งวาลัวส์ ผู้ซึ่งเป็นม่ายไม่นานทรงทราบแผนการ พระนางจึงรีบเดินทางไปเข้าเฝ้าพระเจ้าฟีลิปที่ 6 แห่งฝรั่งเศส พระเชษฐาต่างมารดาของพระนาง เพื่อให้ทรงเข้าแทรกแซงและขัดขวางแผนการอภิเษกสมรสนี้[12] พระนางทรงเสนอให้พระโอรสของพระนางทั้งสองคือ โรเบิร์ต เจ้าชายแห่งตารันโตและเจ้าชายหลุยส์ เป็นคู่อภิเษกสมรสของเจ้าหญิงโจวันนาและเจ้าหญิงมาเรีย[12] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงแน่วแน่ในแผนการเดิมโดยมีโองการของพระสันตะปาปาในวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1331 มีพระบัญชาให้เจ้าหญิงโจวันนาและพระขนิษฐาต้องอภิเษกสมรสกับพระราชโอรสของกษัตริย์ชาลส์ที่ 1 แห่งฮังการี[13] ในช่วงแรก พระราชโอรสองค์โตของกษัตริย์ชาลส์คือ เจ้าชายหลุยส์แห่งฮังการี ทรงได้รับการเลือกให้เป็นพระสวามีในอนาคตของเจ้าหญิงโจวันนา[14] เจ้าชายแอนดรูว์แห่งฮังการี พระอนุชาองค์รองของเจ้าชายหลุยส์ เป็นเพียงตัวเลือกสำรอง และจะขึ้นมาเป็นลำดับหนึ่งก็ต่อเมื่อพระเชษฐาสิ้นพระชนม์ก่อนกำหนด[14] แต่เมื่อมีการตกลงเจรจากัน กษัตริย์ชาลส์ทรงตัดสินพระทัยเปลี่ยนให้เจ้าชายแอนดรูว์อภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงโจวันนาแทน[14]

หลังจากพระราชชนนีของเจ้าหญิงโจวันนาสิ้นพระชนม์ในปีค.ศ. 1332 พระมเหสีองค์ที่สองในกษัตริย์โรแบร์โต (พระอัยยิกาเลี้ยงของเจ้าหญิงโจวันนา) คือ ซานเชียแห่งมาจอร์กา ทรงเข้ามารับผิดชอบต่อการศึกษาของเจ้าหญิงโจวันนาแทน[2] สมเด็จพระราชินีซานเชียทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ที่มีศรัทธาแรงกล้าต่อคณะฟรันซิสกัน และทรงดำรงพระชนม์ชีพเหมือแม่ชีคณะกลาริส แต่สมเด็จพระสันตะปาปาปฏิเสธที่จะให้การเสกสมรสของพระนางกับกษัตริย์โรแบร์โตเป็นโมฆะ[2][12] พยาบาลประจำองค์พระราชินีซานเชีย คือ ฟิลิปปาแห่งคาทาเนีย เป็นผู้มีอิทธิพลสูงสุดในการอบรมศึกษาเจ้าหญิงโจวันนา[15] สมเด็จพระราชินีซานเชียและฟิลิปปาเป็นสองสตรีผู้ทรงอิทธิพลในราชสำนักกษัตริย์โรแบร์โต กษัตริย์ไม่ทรงสามารถตัดสินพระทัยได้ถ้าไม่ได้ตรัสถามพระราชินีและพยาบาลของพระนาง ทั้งนี้เป็นคำกล่าวของโจวันนี บอกกัชโช นักเขียนคนสำคัญของอิตาลีในสมัยนั้น[16]

กษัตริย์ชาลส์ที่ 1 แห่งฮังการีเสด็จมาเนเปิลส์เป็นการส่วนพระองค์เพื่อทำการเจรจากับพระปิตุลาของพระองค์ในเรื่องการเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิงโจวันนากับเจ้าชายแอนดรูว์ในฤดูร้อนปีค.ศ. 1333[17] พระองค์ไม่ทรงใช้พระราชทรัพย์ในการเดินทางเลย เพื่อเป็นการแสดงถึงอำนาจและความมั่งคั่งของพระองค์[18] กษัตริย์ทั้งสองจึงเข้าเจรจากัน[19] เจ้าชายแอนดรูว์และเจ้าหญิงโจวันนาจะต้องหมั้นกันตามข้อตกลง แต่กษัตริย์โรแบร์โตและกษัตริย์ชาร์ลที่ 1 ยังทรงกำหนดอีกว่า ถ้าเจ้าชายแอนดรูว์มีพระชนมายุยืนยาวกว่าเจ้าหญิงโจวันนา ก็ให้เสกสมรสกับเจ้าหญิงมาเรีย ผู้เป็นพระขนิษฐาต่อ และพระโอรสองค์ที่เหลือของกษัตริย์ชาร์ลที่ 1 คือเจ้าชายหลุยส์ หรือ เจ้าชายสตีเฟนแห่งอ็องชู จะได้เสกสมรสกับเจ้าหญิงโจวันนา เมื่อยามเจ้าชายแอนดรูว์สิ้นพระชนม์ก่อน[19] สัญญาการอภิเษกสมรสได้มีการลงนามอย่างพิธีการในวันที่ 26 กันยายน[20] วันถัดมากษัตริย์โรแบร์โตสถาปนาเจ้าหญิงโจวันนาและเจ้าชายแอนดรูว์ให้ครองศักดินาดัชชีคาลาเบรียและราชรัฐซาแลร์โน[21] สมเด็จพระสันตะปาปาทรงได้รับการแบ่งสันปันส่วนผลประโยชน์สำหรับการอภิเษกสมรสในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1333[19] แต่การอภิเษกสมรสก็ไม่ได้เสร็จสมบูรณ์พร้อมเป็นเวลาหลายปี เนื่องมาจากเจ้าชายแอนดรูว์ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ[22] แต่มันก็ทำให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มตระกูลสาขาของราชวงศ์อ็องชู[23]

เจ้าชายแอนดรูว์เจริญพระชันษาในเนเปิลส์ แต่พระองค์และผู้ติดตามชาวฮังการียังคงถูกมองว่าเป็นพวกต่างชาติ[24] เหล่าญาติวงศ์เนเปิลส์ (โอรสของฟิลิปแห่งตารันโต และจอห์นแห่งดูราซโซ) หรือแม้กระทั่งเจ้าหญิงโจวันนาเองต่างเย้ยหยันเจ้าชายแอนดรูว์[25] ทั้งนักเขียนร่วมสมัยและนักเขียนในยุคหลังมองตรงกันว่า ในช่วงแรกกษัตริย์โรแบร์โตทรงตั้งพระทัยที่จะให้เจ้าชายแอนดรูว์เป็นรัชทายาท[26] ยกตัวอย่างเช่น ตามงานเขียนของโจวันนี วีลานี ระบุว่า กษัตริย์ "มีพระราชประสงค์ให้พระราชนัดดา ผู้เป็นโอรสกษัตริย์ฮังการีขึ้นสืบราชบัลลังก์หลังจากพระองค์สวรรคต"[19] แต่มีภาพเขียนในAnjou Bibleได้วาดภาพที่เห็นได้ชัดว่า มีเพียงโจวันนาเท่านั้นที่ได้สวมมงกุฎช่วงปลายทศวรรษ 1330[11][27] เป็นการระบุว่า กษัตริย์อาจจะไม่สนพระทัยในเรื่องสิทธิ์ราชบัลลังก์ของเจ้าชายแอนดรูว์[11][27] ตามพระราชพินัยกรรมของพระองค์ พระองค์ระบุให้ โจวันนาเป็นรัชทายาทหนึ่งเดียวแห่งเนเปิลส์, พรอว็องซ์, ฟอร์คัลกีแยร์และปีดมอนต์ และรวมถึงสิทธิในราชบัลลังก์เยรูซาเลมให้ตกแก่พระนาง[28] พระองค์ยังระบุให้เจ้าหญิงมาเรียครองบัลลังก์ต่อถ้าหากพระนางโจวันนาสวรรคตโดยไร้ทายาท[28] กษัตริย์โรแบร์โตไม่ทรงมีพระราชบัญชาให้จัดพิธีครองราชย์ให้แอนดรูว์ ดังนั้นจึงเป็นการกีดกันพระองค์ออกจากกิจการของเนเปิลส์[28] กษัตริย์ผู้ใกล้สวรรคตยังทรงตั้งคณะผู้สำเร็จราชการ อันประกอบด้วยที่ปรึกษาที่ทรงไว้วางพระราชหฤทัย คือ รองเสนาบดี ฟิลิปป์ เดอ คาบาสโซเลส บิชอปแห่งคาวาอิลลง, ฟิลิโป ดิ ซานกิเน็ตโต ที่ปรึกษาใหญ่แห่งพรอว็องซ์ และนายพลเรือกิฟเฟรโด ดิ มาร์ซาโน โดยให้หัวหน้าคณะผู้สำเร็จราชการคือ สมเด็จพระราชินีซานเชีย[29][30] พระองค์กำหนดให้โจวันนาสามารถปกครองได้ด้วยตนเองเมื่อผ่านวันคล้ายวันพระราชสมภพ 21 พรรษา โดยปฏิเสธที่จะใช้กฎตามธรรมเนียมทั่วไปที่บรรลุนิติภาวะด้วยอายุ 18 ปี[29]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระราชินีนาถโจวันนาที่_1_แห่งเนเปิลส์ //lccn.loc.gov/67-11030 //doi.org/10.1111%2Fj.1540-5923.2011.00329.x http://www.hunghist.org/index.php/forth-coming/83-... //www.worldcat.org/issn/1529-921X http://www.worldcat.org/oclc/45418951 http://www.worldcat.org/oclc/606534850 //www.worldcat.org/oclc/729296907 //www.worldcat.org/oclc/781678421 //www.worldcat.org/oclc/797065138 //www.worldcat.org/oclc/810773043