พระราชกรณียกิจ ของ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ด้านการแพทย์และการสาธารณสุข

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีเริ่มเสด็จพระราชดำเนินออกเยี่ยมราษฎรในถิ่นทุรกันดารเมื่อพ.ศ. 2507 ทุกครั้งที่เสด็จเยี่ยมประชาชนในท้องที่ห่างไกลก็จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์หลวงที่ตามเสด็จช่วยรักษาพยาบาลชาวบ้านที่ป่วยไข้ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปทอดพระเนตรการปฏิบัติงานด้วยพระองค์เองทุกครั้ง อย่างไรก็ตามในแต่ละแห่งที่เสด็จเยี่ยมทรงใช้เวลาราว 3-4 ชั่วโมง ทำให้แพทย์ที่ตามเสด็จฯ เพียง 1-2 ท่าน ไม่สามารถทำการรักษาผู้ป่วยที่มีจำนวนนับร้อยได้ทัน สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้ทรงมีพระราชดำริที่จัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาในพระองค์ขึ้น โดยให้ทดลองจัดตั้งขึ้นก่อนในปีพ.ศ. 2511 ซึ่งปรากฏว่าประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง

ดังนั้นในปีถัดมา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงมีพระราชปรารภถึงแนวพระราชดำริในการจัดตั้งหน่วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกรเข้ามาเป็นอาสาสมัครของหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ในพระองค์นี้และได้จัดให้มีการประชุมอาสาสมัครเหล่านี้ขึ้นเป็นครั้งแรกที่พระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งผลการประชุมในครั้งนี้ได้ก่อให้เกิด "หน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์" หรือที่พระราชทานชื่อย่อ "พอ.สว." ขึ้น ที่นี่หน่วยแพทย์ พอ.สว. จะประกอบไปด้วยแพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่เป็นอาสาสมัครทำงานด้วยความเสียสละโดยมิได้รับเงินเดือน หรือค่าตอบแทนพิเศษอื่นใดและจะเคลื่อนที่ออกไปให้บริการตรวจรักษาชาวบ้านตามท้องถิ่นต่าง ๆ ที่กันดารห่างไกล ความเจริญเฉพาะในวันเสาร์และวันอาทิตย์ซึ่งการออกปฏิบัติดังกล่าวเริ่มเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2512 ซึ่งในปัจจุบันคือหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

นอกจากนี้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงจัดตั้งหน่วยและมูลนิธิที่สำคัญขึ้นดังนี้

  1. มูลนิธิขาเทียมในสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี จัดตั้งเมื่อ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2535 เพื่อทำขาเทียมและพระราชทานให้แก่ผู้พิการขาขาดที่ยากจนในชนบท โดยไม่เลือกเชื้อชาติ ศาสนา และไม่คิดมูลค่า ซึ่งมูลนิธิขาเทียมฯนี้ ทรงก่อตั้งร่วมกับสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยพระองค์ท่านพระราชทานพระราชทรัพย์เป็นทุนประเดิมในการก่อตั้งมูลนิธิและทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์อีกด้วย
  2. มูลนิธิถันยรักษ์ ที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2538 เพื่อใช้เป็นสถานที่ตรวจวินิจฉัยเต้านม

ด้านการศึกษา

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงสนพระทัยในเรื่องการศึกษาของเยาวชนในเขตชนบทเป็นอย่างมากด้วยทรงมีพระราชดำริว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เยาวชนในชนบท มีความรู้ความคิดและสติปัญญาที่เฉลียวฉลาดอันจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาชนบท แต่จากการเสด็จฯ ออกเยี่ยมเยียนราษฎรในปีพ.ศ. 2507 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกลับทรงพบกับสภาพความขาดแคลน โรงเรียนสำหรับเยาวชนในท้องถิ่นทุรกันดาร ด้วยในเวลานั้นกระทรวงศึกษาธิการยังขยายเขตการศึกษาไปไม่ถึงพื้นที่ตามแนวชายแดนที่ห่างไกล ประกอบกับการสื่อสารโทรคมนาคมก็มิได้เจริญเฉกเช่นในปัจจุบัน ทั้งในเวลานั้นเป็นช่วงที่มีการแทรกซึมของเหล่าผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์อย่างกว้างขวางทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเพิ่มความห่วงใยประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตแทรกซึมของผู้ก่อการร้ายอย่างยิ่ง

ดังนั้นเมื่อพระองค์ทราบว่ากองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน ได้กำหนดโครงการที่จะจัดสร้างโรงเรียนชาวเขาขึ้นในเขตพื้นที่ตามแนวชายแดนที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ให้แก่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อนำไปจัดสร้างโรงเรียนจำนวน 29 แห่งภายหลังผู้มีจิตศรัทธาได้ทูลเกล้า ถวายเงินสมทบในการจัดสร้างได้อีกกว่า 185 แห่ง ไม่เพียงเท่านั้น สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังได้ทรงรับเอาโครงการของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนไว้ในพระราชูปถัมภ์ ในปัจจุบันมีโรงเรียนเกือบ 400 โรงเรียน ซึ่งโรงเรียนเหล่านี้ส่วนใหญ่แล้วได้ถูกโอนเข้าไปสังกัดในส่วนงานการประถมศึกษา ส่วนที่ยังคงอยู่ในความรับผิดชอบของตำรวจตระเวนชายแดนมีเพียง 170 โรงเรียน และเมื่อสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเจริญพระชนมายุมากขึ้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจึงทรงช่วยดูแลโครงการนี้แทน

ต่อมาในปี 2503 สมเด็จพระบรมราชชนนีได้พระราชทานเงินจำนวนสองแสนบาท เพื่อสร้างหอพักธรรมนิวาสที่หลังวัดมกุฎกษัตริยาราม สำหรับเป็นที่พักนักศึกษาที่ขัดสนและไม่มีที่อยู่ เมื่อ 19 กันยายน พ.ศ. 2510 เสด็จเยี่ยมมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เป็นการส่วนพระองค์ โดยการนี้ได้ทรงม้าเสด็จเยี่ยมชม "สวนนอก" มี ศาสตราจารย์บรรเจิด คติการ และศาสตราจารย์ระพี สาคริก กราบทูลรายงาน โดยในขณะเสด็จอยู่ในมหาวิทยาลัยนี้ สมเด็จพระราชชนนีทรงพอพระทัยเป็นอย่างยิ่ง ถึงกับรับสั่งกับผู้ติดตามว่า "...เกษตรนี้น่าอยู่จริง ๆ ฉันควรจะได้มาเยี่ยมที่นี่ตั้งนานแล้ว.."[61]

ทุกครั้งที่สมเด็จพระบรมราชชนนีเสด็จเยี่ยมพสกนิกรตามจังหวัดต่าง ๆ ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อข้าวของต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วนำไปพระราชทานแก่ประชาชนตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น พระราชทานเสื้อยืด ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า และเครื่องเขียนต่างๆ แก่คณะครูประจำโรงเรียน ส่วนนักเรียนนั้นจะได้รับพระราชทานเครื่องแบบนักเรียน สมุด ดินสอ ยางลบ และอุปกรณ์การเรียนอื่น ๆ ส่วนชาวบ้านจะได้รับพระราชทานผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ผ้าถุง ด้ายดำ ด้ายขาว และเข็มเย็บผ้า ยาตำราหลวง อาหารกระป๋อง และอาหารแห้งต่าง ๆ สำหรับเด็ก ๆ จะได้รับพระราชทานของเล่นที่เหมาะกับเพศและวัย เช่น เครื่องเขย่ากรุ๋งกริ๋ง แตรรถเล็ก ๆ และตุ๊กตาสวมเสื้อกระโปรง เป็นต้น

ด้านสังคมสงเคราะห์

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์มาตั้งแต่สมัยที่พระองค์มีพระราชอิสริยยศเป็นหม่อมสังวาลย์ ด้วยทรงมีพระราชดำริว่า สตรีไทยที่เป็นแม่บ้านก็สามารถจะให้ความช่วยเหลือในกิจการสังคมสงเคราะห์ได้ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้นในปีพ.ศ. 2475 ขณะที่พระองค์พระประทับอยู่ ณ พระตำหนักใหม่ในวังสระปทุม เมื่อพระราชโอรสธิดาเจริญพระชนมายุมากขึ้น และทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนทุกพระองค์แล้ว ทรงมีเวลาว่าง จึงทรงตั้งคณะเย็บผ้าตามแบบสตรีอเมริกันขึ้น มีสมาชิกประกอบด้วยผู้ที่ทรงคุ้นเคย และสุภาพสตรีชาวต่างประเทศอีกหลายท่าน ซึ่งเป็นภริยาของนักการศึกษา สอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมิชชันนารี คณะเย็บผ้าเริ่มด้วยการเย็บเสื้อของตัวเอง ต่อมาได้เย็บเสื้อผ้าให้เด็กอนาถาตามโรงพยาบาล

ต่อมาในปีพ.ศ. 2510 ทรงตั้งมูลนิธิสงเคราะห์ตำรวจตระเวนชายแดนและครอบครัว ได้พระราชทานทุนริเริ่มเป็นจำนวนเงินหนึ่งล้านบาท และทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระอุปถัมภ์ พ.ศ. 2511 ได้ทรงรับมูลนิธิชีวิตใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ ไว้ในพระอุปถัมภ์ มูลนิธินี้มีวัตถุประสงค์จะช่วยจัดตั้งหมู่บ้านตามชนบทของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ที่หายป่วยจากโรคเรื้อนและโรคจิต มีที่ดินบ้านเรือนของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมการประกอบอาชีพของบุคคลเหล่านี้ให้มีงานทำ มีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขตามควรแก่อัตภาพ

พระราชทรัพย์ที่พระราชทานช่วยเหลือสมาคม มูลนิธิ และหน่วยงานต่าง ๆ มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และจากการขายของฝีพระหัตถ์เพื่อการกุศล ทรงริเริ่มทำบัตรอวยพรความสุขในโอกาสต่างๆ แต่งด้วยดอกไม้ทับแห้งแปลกตา พระราชทานให้ขายเป็นรายได้แก่การกุศล โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าหลวงช่วยกันทำไม้กวาดป่านศรนารายณ์หรือแปลงศรนารายณ์ เพื่อขายนำเงินเข้าการกุศล เนื่องจากทรงใช้ป่านย้อมสีสวยๆ มีประโยชน์ทั้งในแง่ใช้สอยและการตกแต่ง จึงมีผู้สั่งจองกันมาก แปลงศรนารายณ์นี้ทำรายได้ดีมาก ได้พระราชทานเงินรายได้แก่มูลนิธิช่วยคนโรคเรื้อน จังหวัดลำปาง

ในด้านการสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระราชูปถัมภ์และทรงจำหน่ายดอกป๊อปปี้ด้วยพระองค์เอง เพื่อเป็นรายได้สงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก

ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เป็นพระราชวงศ์ที่โปรดธรรมชาติมาก ทรงสร้างพระตำหนักดอยตุง ขึ้นบริเวณดอยตุง เนื้อที่ 29 ไร่ 3 งาน ที่บ้านอีก้อป่ากล้วย อำเภอแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย ด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เอง ในพื้นที่เช่าของกรมป่าไม้เป็นเวลานาน 30 ปี มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 1000 เมตร โดยทรงเรียกพระตำหนักนี้ว่า "บ้านที่ดอยตุง" พระองค์ทรงพระราชดำริที่ว่า "ฉันจะปลูกป่าบนดอยตุง" เป็นพระราชปณิธานของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงต้องการทอดพระเนตรเห็นความเขียวชอุ่มและความสมบูรณ์ของสภาพป่าบนดอยตุงพระราชดำรินี้รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นจึงได้ก่อตั้งโครงการพัฒนาดอยตุงขึ้น ในปี พ.ศ. 2531 ทรงพัฒนาดอยตุง และส่งเสริมงานให้ชาวเขาอีกด้วย โดยทรงพระราชทานกล้าไม้แก่ผู้ตามเสด็จ และทรงปลูกป่าด้วยพระองค์เอง และทรงนำเมล็ดกาแฟพันธุ์อาราบิกา และไม้ดอกมาปลูก และทรงตั้งโครงการขยายพันธุ์โดยวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหน่อไม้ฝรั่ง กล้วย กล้วยไม้ เห็ดหลินจือ สตรอเบอรี่ และจัดตั้งศูนย์บำบัด และฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด ที่บ้านผาหมี ตำบลเวียงพางคำ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

จากพระราชอุตสาหดังกล่าว และโครงการที่ยังมิได้นำเสนอขึ้นมาข้างต้นนี้ ยอดดอยที่เคยหัวโล้นด้วยการถางป่า ทำไร่เลื่อนลอยปลูกฝิ่น จึงได้กลับกลายมาเป็นดอยที่เต็มไปด้วยป่าไม้ตามเดิม พระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในการปลูกป่าและพัฒนาความรู้ให้แก่ชาวบ้านบนดอยตุงนี้เอง ทำให้สภาพป่าบนดอยตุงมีความสมบูรณ์ขึ้นมาได้ความสำเร็จของโครงการพัฒนาดอยตุงในครั้งนี้ ได้จุดประกายให้เกิดการตื่นตัวในการสร้างจิตสำนึกเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้บังเกิดขึ้นแก่ประชาชนทั่วไปในวงกว้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีสภาพสิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมจนหมดสภาพ ความเป็นป่าได้เกิดชาวบ้านหันมาให้ความร่วมมือกับราชการเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าอย่างเป็นระบบ ให้กลับมามีความอุดมสมบูรณ์ตามเดิม ด้วยเหตุนี้ พระองค์จึงทรงได้รับขนานนามว่า สมเด็จย่า จากชาวไทยบนพื้นราบ หรือ แม่ฟ้าหลวง จากชาวไทยภูเขา

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี http://www.4forcenews.com/11100 http://www.chaoprayanews.com/2016/10/06/%E0%B8%AD%... http://hilight.kapook.com/view/19058 http://www.sakulthai.com/DSakulcolumndetailsql.asp... http://www.thaiemsinfo.com/autopagev4/show_page.ph... http://www.wat-srinagarin.com/th/temple/watsrin.ph... http://www.maefahluang.org/?p=3277&lang=th http://www.maefahluang.org/index.php?view=items&ci... http://www.princemahidolaward.org/complete-biograp... http://www.princess-srinagarindraaward.org/th/cont...