พระประวัติ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์

พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 60 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม) ประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือนยี่ ขึ้น 5 ค่ำ ปีฉลูสัปตศก จ.ศ. 1227 ตรงกับวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2408 เมื่อแรกประสูติพระองค์มีพระอิสริยยศที่ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ โดยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานคาถาพระราชทานพระนามเป็นภาษามคธ ซึ่งสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวโร) วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร ได้แปลไว้ว่า[4]

"กุมารน้อยของเรานี้ จงมีชื่อว่า สวัสดิโสภณ ขอบุตรของเราผู้เกิดแต่เปี่ยมผู้มารดา จงบรรลุความเจริญฯ ขอบุตรนี้จงมีอายุยืน ไม่มีอุปัทวทุกข มั่งคั่ง มีโภคสมบัติ มีทรัพย์มาก มีความสุข เป็นเสรีภาพ มีอำนาจโดยลำพังตัว ขอพระรัตนตรัย คือ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์นี้ และเทพเจ้าเป็นต้นผู้รักษารัฐมณฑล จงอภิบาลกุมารน้อยของเรานั้น ในกาลทุกเมื่อ ขอบุตรของเรานั้น พึงเป็นผู้มีเดช มีกำลังมาก มีฤทธานุภาพใหญ่ มีปัญญา และปรีชาในประโยชน์อย่างใด พึงรักษาตระกูลให้สำเร็จประโยชน์อย่างนั้น เทอญ "

พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์สุดท้ายที่ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา โดยมีพระเชษฐาและพระเชษฐภคินีร่วมพระมารดา ได้แก่

  1. พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย
  2. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ
  3. สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
  4. สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า
  5. สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

วันที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2432 ทรงผนวชเป็นพระภิกษุ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระปวเรศวริยาลงกรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (สา ปุสฺสเทโว) เป็นพระศีลาจารย์ และพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ผนวชแล้วเสด็จไปประทับ ณ วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร ถึงวันที่ 11 กรกฎาคม ศกนั้น จึงทรงย้ายไปประทับ ณ วัดราชาธิวาสราชวรวิหาร[5] แล้วลาผนวชในวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2432[6]

พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ ทรงเป็นเจ้านายไทยพระองค์แรก ๆ ที่ได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ ทรงศึกษากฎหมายจากเบลเลียลคอลเลจ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แล้วเสด็จกลับมาดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงยุติธรรมพระองค์แรกตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2435[7] ทรงปรับปรุงกิจการศาลแบบเก่า ถึงปี พ.ศ. 2437 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ไปราชการในยุโรป[8]เพื่อถวายอภิบาลสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ ( ร.6 ) ที่เสด็จไปศึกษา ณ สหราชอาณาจักรและในยุโรป ตลอดจนปฏิบัติราชการทางการทูตในยุโรปนานถึง 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2436 - 2440 นับว่ามีความสำคัญยิ่งเพราะเป็นช่วงระยะเวลาเกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อ พ.ศ. 2466 ทรงรับตำแหน่งอธิบดีศาลฎีกาพระองค์ที่ 3 ระหว่างวันที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2455 - 31 สิงหาคม พ.ศ. 2461

เมื่อ พ.ศ. 2441 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรม มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นสวัสดิวัดนวิศิษฎ์[9]

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนกรมขึ้นเป็น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ เมื่อ พ.ศ. 2456[10] และทรงได้รับการโปรดเกล้าให้เลื่อนกรมเป็นกรมพระอีกครั้งในวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2466 มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ สยามมิศรราชมาตุลาธิบดี ศรีพัชรินทรโสรานุชาร์ย มานวธรรมศาสดรวิธาน นิรุกติปรติภานพิทยโกศล โศภนมิตรสุจริตอาร์ชวาศัย ศรีรัตนไตรยสรณาภิรัต ชเนตภูมิปะภัทปิยมานมนุญ สุนทรธรรมย์บพิตร์" ทรงศักดินา 15000[11] เนื่องด้วย พระองค์เป็นพระมาตุลา(น้า)อยู่แต่พระองค์เดียว สมควรจะยกย่องพระอิศริยยศให้ยิ่งขึ้น สนองพระคุณูปการ และความจงรักภักดีซึ่งได้มีมาแต่หนหลัง

ทรงฉลองพระองค์อย่างเทศ พระอิสริยยศ สมเด็จกรมพระ

ต่อมาในพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2468 (นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2469) จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระเกียรติยศขึ้นเป็น " สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ฯ " เนื่องด้วยทรงมีอุปการคุณต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานเป็นพระมาตุลาธิบดี (น้า) อยู่แต่พระองค์เดียว[12]

สิ้นพระชนม์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ สิ้นพระชนม์ใน ณ เกาะปีนัง เมื่อวันอังคาร เดือนอ้าย ขึ้น 15 ค่ำ ปีกุนสัปตศก จ.ศ. 1297 ตรงกับวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2478 พระชันษาได้ 70 ปี พระราชทานเพลิงพระศพ ณ วัดปาตูลันจัง (วัดปิ่นบังอร) วันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2478[13]

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระนเรศวรมหาราช สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก

แหล่งที่มา

WikiPedia: สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ http://bcnnon.ac.th/webnon/Load/2013/01/king22.pdf http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2430/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2432/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2432/01... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2432/05... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2435/00... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2437/03... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2437/04... http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2440/00...