พระราชประวัติ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ_เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี

สมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 1

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี มีพระนามเดิมว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าจันทบุรี เป็นพระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชกับเจ้าจอมมารดาทองสุก พระราชธิดาพระเจ้าอินทวงศ์แห่งนครเวียงจันทน์ แห่งราชอาณาจักรลาว ประสูติเมื่อ ปีมะเมีย พ.ศ. 2341[1] เมื่อพระชันษาได้ 5 ปี เจ้าจอมมารดาทองสุกก็ถึงแก่พิราลัย เมื่อประมาณ ปีกุนเบญจศก พ.ศ. 2346

เมื่อพระชันษาได้ 9 ปี มีอุปัทวเหตุเกิดขึ้น คือเรือพระที่นั่งแตก แต่ทรงรอดพระชนม์มาได้ราวปาฏิหาริย์ แต่พระองค์กลับทรงลอยทุ่นเกาะไว้ไม่ทรงจม พระราชบิดาทรงสงสารและทรงพระกรุณามากขึ้น อีกทั้งประการหนึ่ง คือ เจ้าจอมมารดาเจ้าทองสุกนั้นก็ได้ถึงแก่พิราลัยไปเมื่อเจ้าฟ้าหญิงฯ มีพระชันษาได้เพียง 6 ปีเท่านั้น จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นให้เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า และได้มีพระราชพิธีโสกันต์เต็มตามอย่างสมเด็จพระเจ้าฟ้าพระราชกุมารีเป็นครั้งแรกของกรุงรัตนโกสินทร์ในครั้งนั้น[ต้องการอ้างอิง]

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสถาปนาพระองค์เจ้าจันทบุรีขึ้นเป็นเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เมื่อ พ.ศ. 2347 เพราะเป็นพระนัดดาของพระเจ้านครเวียงจันทน์ ความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ว่า

ครั้นถึง ณ วันพฤหัสบดี เดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ เสด็จพระราชดำเนินลงไปทรงลอยพระประทีป พระเจ้าลูกเธอพระองค์หญิงพระองค์หนึ่ง ปรากฏพระนามว่า พระองค์เจ้าจันทบุรี พระชนม์ได้ 6 พรรษา ตามเสด็จลงไปที่พระตำหนักแพ เมื่อเวลาจุดดอกไม้ รับสั่งว่าประชวรพระเนตรอยู่ ให้กลับขึ้นไปพระราชวังเสียก่อน พระองค์เจ้าหญิงนั้นก็เสด็จกลับขึ้นมาถึงเรือบัลลังก์กับตำหนักแพต่อกัน พลาดตกลงน้ำหายไป พี่เลี้ยงนางนมร้องอื้ออึงขึ้น คนทั้งปวงตกใจพากันลงน้ำเที่ยวค้นหา จึงพบพระองค์เจ้าลูกเธอพระองค์นั้นเกาะทุ่นหยวกอยู่ท้ายน้ำ หาได้เป็นอันตรายไม่ เป็นอัศจรรย์ จึงมีพระราชโองการดำรัสว่า พระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ เจ้าจอมมารดาก็เป็นบุตรเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต สิ้นชีพเสียแต่เมื่อปีกุนเบญจศก (2) แต่พระชนม์พระองค์เจ้าได้ 5 พรรษา ไม่มีมารดา ทรงพระกรุณามาก พระองค์เจ้านี้อัยกาก็เป็นเจ้าประเทศราชยังดำรงชีพอยู่ ควรจะสถาปนาให้มีอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า ครั้น ณ วันอาทิตย์ เดือน 12 ขึ้น 2 ค่ำ จึงโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีเฉลิมพระนาม ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันจันทร์ เดือน 12 ขึ้น 3 ค่ำ พระราชทานพระสุพรรณบัฏ เลื่อนขึ้นเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี แล้วมีงานสมโภชอีก 3 วัน

ในปีนั้น พระเจ้าอินทวงศ์ ซึ่งเป็นอัยกาของสมเด็จพระเจ้าลุกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีป่วยถึงแก่พิราลัย ณ เดือน 3 ขึ้น 8 ค่ำ ครองเมืองได้ 10 ปี โปรดให้ข้าหลวงเชิญศุภอักษรและพระราชทานโกศและสิ่งของพระราชทานเพลิงขึ้นไปปลงศพเสร็จแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดตั้งเจ้าอนุผู้น้อง ให้ครองนครศรีสัตนาคนหุตล้านช้างต่อไป

ในจดหมายเหตุความทรงจำซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสันนิษฐานว่า เป็นจดหมายเหตุความทรงจำของพระเจ้าไปยิกาเธอ กรมหลวงนรินทรเทวี มีข้อความกล่าวถึงสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีว่า

"ณ วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีชวดฉศก พระองค์เจ้าพระชันษา 7 ขวบ ตามเสด็จลงที่นั่งบัลลังก์ตกหว่างเรือไม่จมลอยพระองค์ได้ โปรดประทานพระนามใหม่ สมโภชเจ้าฟ้ากุณฑล 3 วัน เฉลิมพระขวัญพร้อมพระญาติวงศ์ข้าราชการสมโภชถ้วนหน้า"

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอย่หัว ทรงพระราชวิจารณ์ไว้ว่า "พระองค์เจ้าองค์นี้มีนามว่า จันทบุรี ตามชื่อเมืองเวียงจันทน์ ในจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ว่าตกหลังเรือบัลลังก์ การสมโภชแต่ก่อนมีเฉพาะเจ้าฟ้าทั้งประสูติและโสกันต์"

พระราชพิธีโสกันต์

ต่อมาในรัชกาลที่ 1 นั่นเอง ถึงปีมะโรง พ.ศ. 2351 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีพระชนม์ได้ 11 พรรษา ถึงกำหนดจะโสกันต์ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าให้เต็มตามตำราครั้งกรุงเก่าเป็นต้นมา เพื่อให้เป็นแบบแผนไว้ในแผ่นดินต่อไป จึงนับว่าเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นพระองค์แรกในกรุงรัตนโกสินทร์นี้ ที่ได้รับพระราชทานพิธีโสกัณฑ์เจ้าฟ้าอย่างเต็มตำรา ดังความปรากฏในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) มีว่าดังนี้

ในปีมะโรงสัมฤทธิศกนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีพระชนม์ได้ 11 พรรษา ถึงกำหนดโสกันต์ ทรงพระราชดำริว่า ตั้งแต่ตั้งแผ่นดินมา ยังหาได้ทำการพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าอย่างเต็มตามตำราไม่ และแบบแผนพระราชพิธีโสกันต์เจ้าฟ้าอย่างครั้งกรุงเก่านั้น เจ้าฟ้าพินทวดีพระราชธิดาพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้ทรงแนะสอนไว้ในพระราชวังบวรฯ ครั้งโสกันต์พระองค์เจ้า 3 พระองค์เป็นเยี่ยงอย่างอยู่แล้ว จึงโปรดให้เจ้าพนักงานตั้งเขาไกรลาศ ณ ชาลาในพระราชวัง ตั้งการพระราชพิธี มีเตียงพระมณฑลบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และตั้งราชวัตรฉัตรรายทางนั่งกลาบาต และมีการเล่นต่าง ๆ ตลอดสองข้างทางที่จะเดินกระบวนแห่แต่ประตูราชสำราญมา

ณ เดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ แรม 1 ค่ำ 2 ค่ำ เวลาบ่ายตั้งกระบวนแห่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เสด็จทรงยานุมาศตั้งแต่เกยในพระราชวัง ออกประตูราชสำราญมาตามถนนริมกำแพงพระราชวัง มาเข้าประตูพิมานไชยศรี แล้วประทับเกยกำแพงแก้วด้านบุรพาทิศพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท เสด็งลงจากพระยานุมาศ แล้วเสด็จทางผ้าขาวลากขึ้นบนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงสดับพระสงฆ์สวดพระพุทธมนต์ 3 วัน แล้ว ณ วันศุกร์ เดือน 4 แรม 3 ค่ำ เวลาเช้าแห่มาโสกันต์ที่พระบรมมหาปราสาท แล้วเสด็จกลับทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างใน แล้วจึงทรงพระเสลี่ยงน้อยขับไม้พราหมณ์นำเสด็จ พระยาศรีธรรมาธิราช พระยาธรรมา พระยาบำเรอภักดิ์ พระยาอนุรักษ์มณเฑียร คู่เคียง 2 คู่เคียงพระเสลี่ยงมาทรงสรงน้ำที่สระอโนดาตที่เชิงเขาไกรลาศ สรงแล้วเสด็จประทับพลับพลาทรงเครื่องเสด็จขึ้นบนเขาไกรลาศ จึงเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงชฎาเดินหน สมมติว่าเป็นพระอิศวรเสด็จลงมาแต่พระมณฑปใหญ่ยอดเขาไกรลาศ ทรงรับพระกรที่ชั้นทักษิณทิศตะวันตกกลางบันไดนาค จูงพระกรขึ้นไปบนเขาไกรลาศประทานพร แล้วนำเสด็จลงมาส่งที่เกยด้านตะวันออก เสด็จพระยานุมาศแห่เวียนประทักษิณเขาไกรลาศ 3 รอบ แล้วแห่กลับมาตามทางออกประตูพิมานไชยศรี ไปเข้าในพระราชวังทางประตูราชสำราญ ครั้นเวลาบ่ายตั้งกระบวนแห่มาสมโภชต่อไปอีก 2 วัน ณ เดือน 4 แรม 6 ค่ำ เป็นวันที่ 7 จึงแห่พระเกศาไปลอยเป็นเสร็จการโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี

จบข้อความในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ในส่วนที่เกี่ยวกับการโสกันต์ สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีแต่เพียงเท่านี้ นอกจากนั้นยังปรากฏข้อความเกี่ยวกับโสกันต์สมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นี้ในหนังสือจดหมายเหตุความทรงจำกรมหลวงนริทรเทวี พร้อมด้วยพระราชวิจารณ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 อีก มีข้อความดังต่อไปนี้

ณ เดือนหก ปีเถาะนพศก ตั้งเขาไกรลาสแห่โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑล ทรงเครื่องต้นประดับพระองค์ทรงพระมหามงกุฎ สมมุติวงศ์อย่างเทพอัปสร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาจูงพระกรเสด็จขึ้นยอดเขาไกรลาส กรมขุนอิศรานุรักษ์เป็นพระอิศวร ทรงพระมหากฐินทรงประดับ (หรือทรงประพาส) เครื่องต้นเป็นพระอิศวรประสาทพร สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงพระอัยกาจูงพระกรขึ้นไปส่งถึงยอดเขา พระอิศวรรดน้ำสังข์ทักษิณาวัฏแล้วประสาทพระพร เจ้าบุตรแก้วรับพระกรลงจากยานุมาศขึ้นเกยพระมหาปราสาท

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชวิจารณ์จดหมายเหตุดังกล่าวไว้ว่า

โสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลนี้ คลาดปีกันอยู่กับในพงศาวดารปีหนึ่ง รายการที่กล่าวไว้ในพงศาวดารเลื่อนลอยมาก ดูเหมือนแลดูตัวอย่างใหม่ๆกล่าวประจบให้เป็นเก่า ที่จนอั้นก็อั้นทีเดียว เช่นทำเขาไกรลาศที่ไหนไม่รู้ ชี้แผนที่วังไม่ถูก ว่าไปทรงเสลี่ยงทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างในไปที่สระอโนดาต ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ในพงศาวดารไม่ได้กล่าวว่า ใครจูงทีเดียว ในพงศาวดารว่าถึงกรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ว่า ทรงชฎาเดินหน ทรงฉลองพระองค์ครุย เห็นจะเห็นกรมพระบำราบปรปักษ์ เมื่อครั้งโกนจุกลูกหญิงศรีวิไลย แต่เชื่อว่าคงจะทรงเครื่องต้นจริงตามที่กล่าวไว้ในหนังสือนี้ เพราะมีตัวอย่างเมืองเครื่องต้นทพแล้วเสร็จ พระราชทานให้เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์ทรง เมื่อแห่ผนวชเป็นคราวแรกเพราะพระองค์ของท่านไม่ได้ทอดพระเนตรเห็น อยากทอดพระเนตรกรมขุนเสนานุรักษ์ และกรมขุนอิศรานุรักษ์นี้ว่างามนักทั้งสองพระองค์ เห็นจะโปรดให้ทอดพระเนตรยังมีตัวอย่างต่อมาอีก ในรัชกาลที่ 3 โปรดให้พระองค์เจ้าลักขณานุคุณทรงเมื่อแห่ผนวชรัชกาลที่ 3 นี้ ถ้าไม่มีตัวอย่างท่านคงไม่ทรงริขึ้น ในชั้นต้นที่จะสอบสวนเรื่องโสกันต์เจ้าฟ้ากุณฑลนี้

ได้ดูจดหมายเหตุเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ซึ่งกรมหลวงชำระไว้อื่นๆก็ได้ความชัดเจน แต่ข้อที่เขาไกรลาสตั้งแห่งใดไม่ปรากฏ กับมีข้อความที่จะแปลว่ากระไรไม่ได้คือ "ณ วันศุกร์ เดือน 4 แรม 3 ค่ำ เพลาเช้า แห่มาโสกันต์ที่พระมหาปราสาท แล้วเสด็จกลับทางประตูท้ายที่ทรงบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาทข้างใน" อีกข้อซึ่งกล่าวว่า "เจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์แต่งพระองค์ ทรงฉลองพระองค์ครุย ทรงชฎาเดินหน" ข้อความที่คัดลงในจดหมายเหตุนี้ ปรากฏว่าได้คัดในร่างหมายซึ่งยังมีอยู่โดยมาก เว้นไว้แต่ความ 2 ข้อที่กล่าวมานี้ ผู้อ่านหมายไม่เข้าใจหรือเอาปากไวเอาการใหม่ปนการเก่าก็จะเป็นได้ ในร่างหมายนี้เองมีตัวแก้ไขจากลายมือเดิมหลายแห่ง กลัวจะต้องตำรากระทรวงวัง ถ้าจะมีการอะไร เอาร่างหมายเก่าออกมาตกแทรงวงกา แล้วให้เสมียนคัดขึ้นเป็นหมายใหม่ จึงเลอะเทอะไปก็มี การที่จะอ่านต้องเข้าใจ ในที่นี้จะเก็บข้อความจากหมายเก่าเอาแต่สิ่งที่สำคัญควรสังเกต

หมายฉบับนี้ "เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราช รับสั่งให้เกล้าฯกำหนดงานสวดมนต์ ณ วันเดือน 4 ขึ้น 15 ค่ำ แรม 1 ค่ำ 2 ค่ำ ปีมะโรงสัมฤทธิศก เพลาบ่าย 2 โมง 6 บาท พระสงฆ์ 50 รูปเจริญพระพุทธมนต์ ณ วันศุกร์ เดือน 4 แรม 3 ค่ำ พระกฤษ์จรดพระกรรบิดกรรไกร ณ วันเดือน 4 แรม 3 ค่ำ 4 ค่ำ 5 ค่ำ สมโภชเวียนเทียนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท 3 วัน"

เขาไกรลาศพิเคราะห์ดู ได้ความจากวางริ้ว เวลาถึงพระมหาปราสาทและเวลากลับจากพระมหาปราสาท ว่าตั้งที่เก๋งกรงนก คือ ใกล้ไปข้างพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย กระบวนแห่ก็ตามอัตรา คือ คู่แห่เด็ก 80 - 84 ทั้งต้นเชือกปลายเชือก แตรใน 9 เครื่อง 21 พระแสง 5 บัณเฑาะว์ 2 อินทร์พรหม 16 หามพระราชยาน 10 เครื่องหลัง 8 พระแสง 2 รวมกระบวนใน 175 กระบวนนอกคู่แห่ผู้ใหญ่ 80 แตร 42 กลองชนะ 40 ในหมายมีแต่กระบวนข้างหน้า กำหนดแตรตามระยะทาง เช่นโสกันต์ชั้นหลังๆการที่วางกระบวนเมื่อถึงเกยก็อย่างชั้นหลังๆ แต่นางเชิญเครื่องเชิญพระแสงหลัง ให้เลี้ยวขึ้นอัฒจันทร์ปราสาท นางสระเข้าประตูพรหม

มีกำหนดผู้ตรวจตรา ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชเข้ามาจัดกระบวนในพระราชวัง ให้เจ้าพระยายมราชจัดกระบวนที่ประตูราชสำราญ เจ้าพระยามหาเสนาจัดที่ประตูวิเศษชัยศรีข้างใน เจ้าพระยาธรรมาจัดที่เกยพระมหาปราสาท เมื่อกระบวนเดินพ้นมาแล้ว จึงให้เจ้าพระยาทั้งสามเดินตามกระบวนมา

วันสรงที่เขาไกรลาศ ให้เจ้าพระยาศรีธรรมาธิราชจัดการที่มุมตะวันออกเฉียงใต้ เจ้าพระยามหาเสนา ตะวันออกเฉียงเหนือ เจ้าพระยาธรรมา ตะวันตกเฉียงใต้ เจ้าพระยายมราช ตะวันจกเฉียงเหนือ พอโสกันต์เสร็จแล้ว ถวายผ้าสบงแล้ว กลับเข้าไปที่ท้ายพระมหาปราสาท ทรงตักบาตรที่ชาลาพระมหาปราสาท ตักบาตรนี้ต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่พระเข้าไปรับ ตักข้าวลงในบาตรสำหรับเลี้ยงพระ ซึ่งกำลังสวดถวายพรพระอยู่ ครั้นทรงบาตรเสร็จแล้วเสด็จกลับออกมาทางที่เสด็จเข้าไปนั้น จึงลงมาทรงพระเสลี่ยงน้อยไปสรงที่สระอโนดาต

มีแปลกอย่างหนึ่ง ดูเหมือนว่าไม่ได้แต่งพระองค์ในมณฑป จะลงมาแต่งที่นักแร้ข้างหนึ่ง ที่เรียกว่ามุมตะวันตกข้างเหนือ แต่ข้าพเจ้าไม่เชื่อข้อนี้ เห็นจะแดดร้อนนัก และตัวหนังสือที่เขียนลงไว้เป็นตัวเล็กๆ ใครจะเขียนเพิ่มเติมลงไปก็ไม่ทราบ นอกจากนั้นก็ไม่มีแปลกประหลาดอะไรจากโสกันต์ครั้งหลังๆ

เจ้าบุตรแก้วที่สำหรับรับพระกรนี้ ได้เห็นชื่อในบัญชีเป็นผู้เลี้ยงพระฉันจุรูป 1 ในจำนวนมากด้วยกันนั้น พระที่ฉันสำรับเจ้าบุตรแก้วเป็นพระสมุห์วัดบางลำพู ฉันไก่ต้ม 3 ตัว ไก่จาน 1 นมโค 1 โถ ทีจะเป็นลูกสาวเจ้ากรุงศรีสัตนาคนะหุตที่มีชื่อในพระราชสาส์นเวียงจันทน์เมื่อแผ่นดินกรุงธนรับพระกรในที่นี้ คือ เวลาไปทรงฟังสวด ไม่ใช่รับที่เขาไกรลาศ

จบพระราชวิจารณ์ในจดหมายเหตุความทรงจำฯ แต่เพียงนี้

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีโสกันต์ได้ปีเดียว สมเด็จพระชนกนารถก็เสด็จสวรรคต

พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เสด็จสวรรคตเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. 2352 เวลาสิ้นรัชกาลที่ 1 นั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีพระชนม์ได้ 11 พรรษา พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติเป็นพระเจ้าแผ่นดิน รัชกาลที่ 2 เมื่อพระชนมพรรษาได้ 42 พรรษา

ไม่มีพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยาวดีที่จะดูได้ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการฉายภาพในประเทศไทยและก็ไม่มีภาพเขียนอันเป็นฉายาลักษณ์ของพระองค์จะดูพระรูปโฉมโนมพรรณของพระองค์ว่า ทรงพระสิริรูปโฉมงามโสภาคย์เพียงใด แต่เมื่อเปรียบสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีว่า เป็นนางบุษบา ความงามของนางบุษบานั้น มีปรากฏในพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงพระราชนิพนธ์ไว้เองว่า

"อันนางโฉมยงองค์นี้ เลิศล้ำนารีในแหล่งหล้า นวลละอองผ่องพักตร์โสภา เพียงจันทราทรงกลดหมดราคี งามดั่งโกสุมประทุมมาลย์ บานอยู่ในท้องสระศรี"

อีกตอนหนึ่งว่า

"เจ้าเอย เจ้าดวงยิหวา ดังหยาดฟ้ามาแต่กระยาหงัน ได้เห็นโฉมฉายเสียดายครัน ฉุกใจไม่ทันคิดเอย"

อีกตอนหนึ่ง ตอนนางบุษบาเล่นธาร มีว่า

"พักตร์น้องละอองนวลปลั่งเปล่ง ดังดวงจันทร์วันเพ็งประไพศรี อรชรอ้อนแอ้นทั้งอินทรีย์ ดังกินรีลงสรงคงคาลัย งามจริงพริ้งพร้อมทั้งสารพางค์ ไม่ขัดขวางเสียทรงที่ตรงไหน พิศพลางปร ดิพัทธ์กำหนัดใน จะใคร่โอบอุ้มองค์มา ดูเดินดังดำเนินเหมราช งามประหลาดเลิศล้ำเลขา พิศไหนให้เพลินจำเริญตา พระราชาชมพลางทางถอนใจ"

ในรัชกาลที่ 4 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการเรื่อง ประกาศพระราชพิธีโสกันต์ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ ณ วันพฤหัสบดี เดือนยี่ ขึ้น 11 ค่ำ ปีฉลูสัปตศก ความตอนหนึ่งเกี่ยวกับสมเด็จพระราชชายานารีฯ ความว่า

ก็พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้มีพระราชธิดาพระองค์หนึ่ง มารดาเป็นบุตรีเจ้าเมืองเวียงจันทน์โปรดให้เป็นแต่เพียงพระองค์เจ้า เหมือนกันกับพระราชบุตรแลพระราชบุตรพระองค์อื่นที่ประสูติแต่พระสนม เจ้าจอมมารดาของพระองค์เจ้านั้นสิ้นชีพในปีกุนเบญจศก เมื่อกรมพระราชวังบวรสวรรคตแล้วนั้น พระองค์เจ้านั้นมีพระชนมายุได้ 5 ขวบ เป็นกำพร้าไม่มีเจ้าจอมมารดา ทรงพระกรุณามาก ภายหลังล่วงมาปีหนึ่งพระองค์เจ้านั้นตามเสด็จลงไปลอยกระทง วิ่งเล่นตกน้ำหายไป คนทั้งปวงตกใจเที่ยวหาอยู่ครู่หนึ่ง จึงพบพระองค์เจ้าไปเกาะทุ่นหยวกอยู่หาจมน้ำไม่ ผู้พบเชิญเสด็จกลับมาได้ จึงทรงพระกรุณาโปรดมากขึ้น มีพระบรมราชโองการดำรัสว่า พระองค์เจ้านี้เจ้าจอมมารดาก็เป็นฝ่ายลาว อัยยิกาธิบดีคือท้าวเจ้าเวียงจันทน์ก็ยังอยู่ ควรจะให้เลื่อนที่เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้า การพิธีโสกันต์ในพระบรมมหาราชวังแต่ตั้งแผ่นดินมาก็ยังหาได้ทำไม่ ถ้าถึงคราวโสกันต์จะได้ทำให้เป็นแบบอย่างในแผ่นดิน จึงโปรดพระราชทานพระสุพรรณบัฏให้เป็น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เจ้าฟ้านั้นเมื่อถึงปีมะโรงสัมฤทธิศก ศักราช 1170 ตรงกับปีมีคริสต์ศักราช 1808 พระชนมายุครบ 11 ปีถึงกำหนดโสกันต์ เมื่อนั้นเจ้าฟ้าพินทวดีที่เป็นผู้ชี้การมาก็สิ้นพระชนม์ไปแล้วถึง 7 ปี

พระมเหสีในรัชกาลที่ 2

ต่อมาในรัชกาลที่ 2 ได้ทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระมเหสี ที่ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี เมื่อก่อน พ.ศ. 2359 พระชนมายุได้ประมาณ 17 หรือ 18 พรรษา ที่กล่าวว่าก่อน พ.ศ. 2359 นั้น เพราะเหตุว่าเจ้าฟ้าอาภรณ์พระโอรสพระองค์แรกประสูติเมื่อวันศุกร์ เดือน 5 แรม 7ค่ำ ตรงกับวันที่ 19 เมษายน ปีชวด พ.ศ. 2359 จึงพอสันนิษฐานได้ว่า พระองค์ได้เป็นพระมเหสีในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อพระชนมายุได้ 17 หรือ 18 พรรษา ดังได้กล่าวมาแล้ว

กล่าวกันว่า เจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีนั้นเปรียบเหมือนนางบุษบาวตีในพระราชนิพนธ์อิเหนา ส่วนสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ พระอัครชายาเดิม คือ เจ้าฟ้าบุญรอด นั้นเปรียบเหมือนนางจินตหรา ดังปรากฏข้อความอยู่ในหนังสือพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พิมพ์ พ.ศ. 2509 ตอนหนึ่งว่า

เจ้านายชั้นผู้ใหญ่พระองค์หนึ่งทรงเล่าว่า กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์นั้นทรงอยู่ในฐานะแม้นละม้ายคล้ายจินตหราในเรื่องอิเหนา เพราะเหตุที่เป็นพระประยูรญาติเรียงพี่เรียงน้อง หากแต่เป็นพระมเหสีดั้งเดิมจึงได้อยู่ฝ่ายขวา ส่วนเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเป็นพระน้องนางเธอร่วมพระชนกเดียวกัน ได้เป็นพระมเหสีพระองค์ที่ 2 จึงต้องอยู่ฝ่ายซ้าย คล้ายบุษบาขององค์อิเหนาหรือระเด่นมนตรี ซึ่งที่แท้ก็คือ พระองค์ผู้ทรงพระนิพนธ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั่นเอง เมื่อองค์ระเด่นมนตรีทรงมีทั้งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาดังนี้ ก็เป็นธรรมดาที่ฝ่ายขวาจะต้องขึ้งโกรธและทรงระทมตรมตรอม นัยเดียวกันกับพระราชนิพนธ์ที่ว่า " เมื่อนั้น จินตหราวาตีมีศักดิ์ ฟังตรัสขัดแค้นฤทัยนัก สบัดพักตร์ผินหลังไม่บังคม " เหตุการณ์เป็นเช่นนี้เรื่อยๆมา ในที่สุดกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทร์ก็เสด็จหนีไปประทับ ณ พระราชวังเดิม กรงธนบุรี มีเจ้าฟ้าพระองค์น้อย คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวติดต้อยตามเสด็จไปเป็น "ลูกแม่" คอยปลอบประโลมพระทัยให้คลายเศร้า แต่เจ้าฟ้าพระองค์น้อยหรือฟ้าน้อยก็ยังคงวิ่งไปวิ่งมาระหว่างพระชนกกับชนนีระหว่างกรุงเทพฯกับธนบุรี จนกระทั่งพระชนม์ได้ 12 ปี 6 เดือน ได้รับพระราชพิธีเต็มตามพิธีใหม่ชั้นเจ้าฟ้า

แต่อย่างไรก็ดีพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ก็มิได้ทรงยกย่องสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีเท่ากับหรือเหนือกว่าสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ ทั้งนี้เข้าใจว่าเพราะพระองค์ทรงถือสัตย์ที่ได้เคยทรงปฏิญาณทานบนไว้เมื่อครั้งทรงแรกรักเริ่มต้นกับสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ก่อนโน้น ดังปรากฏในจดหมายเก่า "เรื่องขัติยราชปริพัทธ์" ว่าสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเคยทรงปฏิญาณทานบนไว้ว่า "จะมิให้บุตรและภริยาทั้งปวงเป็นใหญ่กว่าฤๅเสมอกรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์ เพราะฉะนั้นเมื่อได้เสด็จเถลิงถวัลยราชบรมราชาภิเษกขึ้นแล้ว ได้เจ้าฟ้ากุณฑลเป็นพระชายาก็ทรงชุบเลี้ยงเซา ๆ อยู่อย่างนั้น ไม่เปิดเผยผิดจากปรกติขึ้นเท่าไร"

พระองค์ประสูติพระราชโอรส 3 พระองค์ พระราชธิดา 1 พระองค์ แต่พระราชธิดานั้นสิ้นพระชนม์เสียแต่ยังทรงพระเยาว์อยู่ ยังเหลือแต่พระราชโอรสทั้งสามพระองค์ คนในสมัยนั้นก็ไม่ได้ยินใครเรียกว่าเจ้าฟ้าหรือทูลกระหม่อมฟ้า เรียกกันอยู่ว่าองค์ใหญ่ องค์กลาง องค์ปิ๋ว ในหลวงท่านก็ทรงได้ยินแต่ไม่ทรงกริ้วกราดทักท้วงประการใด เรียกกันอยู่แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ทูลกระหม่อมพระองค์ใหญ่ ถ้าเป็นคำทูลในหลวงก็ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฎ ฉะนั้นเรียกพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า ทูลกระหม่อมพระองค์น้อย ถ้าเป็นคำทูลในหลวงก็ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอสุนีบาศ ฉะนั้น

ภายหลังมาในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกุณาโปรดตั้งองค์ใหญ่พระราชโอรสเจ้าฟ้ากุณฑลเป็นเจ้าฟ้า พระราชทานนามว่า "อาภรณ์" แต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงรู้เรียกกันว่า "เจ้าฟ้าอาภรณ์" แต่องค์กลาง องค์ปิ๋วนั้นก็ได้ยินเรียกกันอยู่ว่า องค์กลาง องค์ปิ๋ว ดังเช่นเรียกกันมาแต่เดิม ครั้นแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานพระนามพระองค์กลางว่า "มหามาลา" แต่นั้นมาคนทั้งหลายจึงรู้เรียกกันว่า เจ้าฟ้ามหามาลา องค์ปิ๋วนั้นสิ้นพระชนม์เสียแต่ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

พระชนมชีพในรัชกาลที่ 3

เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต พระเจ้าลูกเธอพระองค์ใหญ่ คือ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติต่อมา เป็นรัชกาลที่ 3 มีพระปรมาภิไธยย่อว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติอยู่เป็นเวลา 27 ปีจึงเสด็จสวรรคต

เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีมีพระชนมายุได้ 26 พรรษา ได้ทรงทำนุบำรุงเลี้ยงเจ้าฟ้าพระราชโอรส 3 พระองค์ต่อมาด้วยความลำบากอย่างยิ่ง ในเรื่องการศึกษาของเจ้าฟ้าพระโอรสนั้นปรากฏว่า ได้ทรงมอบให้สุนทรภู่เป็นพระอาจารย์ถวายพระอักษรมาแต่ปลายรัชกาลที่ 2 กล่าวคือ ในปลายรัชกาลที่ 2 โปรดให้ท่านสุนทรภู่เป็นครูสอนหนังสือถวายพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าอาภรณ์ เป็นผลให้ชาติไทยได้มีกลอนอมตะอยู่ ณ ทุกวันนี้ คือ "สวัสดิรักษา" ซึ่งสุนทรภู่แต่งถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์และเพลงยาวถวายโอวาทซึ่งแต่งถวายเจ้าฟ้ากลาง เรื่องสวัสดิรักษานั้นขึ้นต้นว่า

"สุนทรทำคำสวัสดิรักษา

ถวายพระหน่อบพิตรอิศรา

ตามพระบาลีเฉลิมให้เพิ่มพูน"


และกล่าวในกลอนเมื่อก่อนจบว่า

ขอพระองค์จงจำไว้สำเหนียก

ดังนี้เรียกสวัสดิรักษา
สำหรับพระองค์พงศ์กษัตริย์ขัตติยา
ให้ผ่องผาสุกสวัสดิ์ขจัดภัย
บทโบราณท่านทำเป็นคำฉันท์
แต่คนนั้นมิใคร่แจ้งแถลงไข
จึงกล่าวกลับซับซ่อนเป็นกลอนไว้
หวังจะให้เจนจำได้ชำนาญ
สนองคุณมุลิกาสามิภักดิ์
ให้สูงศักดิ์สืบสมบัติพัสถาน
แม้นผิดเพี้ยนเปลี่ยนเรื่องเบื้องโบราณ

ขอประทานอภัยโทษได้โปรดเอย


เรื่อง "สวัสดิรักษา" นี้สันนิษฐานกันว่า คงจะแต่งขึ้นถวายระหว่าง พ.ศ. 2364 - 2367 ก่อนพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคต นอกจากนั้นสันนิษฐานกันว่า ท่านสุนทรภู่จะได้เริ่มแต่งเรื่องสิงหไตรภพตอนต้น ๆ ถวายเจ้าฟ้าอาภรณ์ในตอนนี้ด้วย เพราะมีคำกล่าวไว้ในเรื่องรำพันพิลาปของสุนทรภู่เอง เมื่อพูดถึงเจ้าฟ้าอาภรณ์ สุนทรภู่เรียกพระนามแฝงว่า "พระสิงหไตรภพ"

แต่ต่อมาในรัชกาลที่ 3 นี้ เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดท่านสุนทรภู่ เจ้านายและผู้มีบรรดาศักดิ์ก็ไม่มีพระองค์ใดกล้าชุบเลี้ยงเกื้อหนุนโดยเปิดเผย ด้วยเกรงจะเป็นฝ่าฝืนพระราชนิยมในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แม้เจ้าฟ้าอาภรณ์ซึ่งเป็นศิษย์ก็ต้องทำเพิกเฉยมึนตึง ท่านสุนทรภู่จึงได้กล่าวความข้อนี้ไว้ในเพลงยาวถวายโอวาทเจ้าฟ้ากลางด้วยความน้อยใจ คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ และเจ้าฟ้าปิ๋วตอนหนึ่งว่า

"สิ้นแผ่นดินสิ้นบุญของสุนทร ฟ้าอาภรณ์แปลกพักตร์อาลักษณ์เดิม"

เพลงยาวถวายโอวาทนี้ท่านสุนทรภู่ขึ้นต้นว่า

"ควรมิควรจวนจะพรากจากสถาน

จึงเขียนความตามใจอาลัยลาน
ขอประทานโทษาอย่าราคี
ด้วยขอบคุณทูลกระหม่อมถนอมรัก
เหมือนผัดพักตร์ผิวหนาเป็นราศี
เสด็จมาปราศรัยถึงในกุฎี
ดังวารีรดซาบอาบละออง
ทั้งการุณสุนทราคารวะ
ถวายพระวรองค์จำนงสนอง
ขอพึ่งบุญมุลิกาฝ่าละออง
พระหน่อสองสุริน์วงศ์ทรงศักดา
ด้วยเดี๋ยวนี้มิได้รองละอองบาท
จะนิราศแรมไปไพรพฤกษา
ต่อถึงพระวสาอื่นจึงคืนมา

พระยอดฟ้าสององค์จงเจริญ"

อนึ่ง ในจดหมายเหตุเก่าเรื่อง "ว่าด้วยคำพูดของคนชั้นเก่า" มีว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรับสั่งเรียกเจ้าฟ้าอาภรณ์ว่า "หนูอาภรณ์" รับสั่งเรียกสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ว่า "เจ้าหนูกลาง" และรับสั่งเรียกองค์ปิ๋วว่า "เจ้าหนูปิ๋ว" ดังนี้

เมื่อท่านสุนทรภู่ออกบวชแล้ว ต่อมาในปีฉลู พ.ศ. 2372 สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็ทรงฝากเจ้าฟ้ากลาง คือ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาบำราบปรปักษ์ กับเจ้าฟ้าปิ๋ว ซึ่งเวลานั้นพระชันษาได้ 11 ปีพระองค์หนึ่ง 8 ปีพระองค์หนึ่ง ให้เป็นศิษย์ท่านสุนทรภู่ เหมือนอย่างเจ้าฟ้าอาภรณ์ได้เคยเป็นศิษย์มาในรัชกาลที่ 2 แล้วสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีก็ทรงส่งเสียอุปการะท่านสุนทรภู่ต่อมาในชั้นนั้น นอกจากนั้นสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑทิพยวดียังได้ทรงฝากเจ้าฟ้าพระราชโอรสทั้ง 3 พระองค์ให้เป็นศิษย์สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ คือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะนั้นผนวชอยู่วัดบวรนิเวศวรวิหารอีกด้วย

ในรัชกาลที่ 3 นี้ พระโอรสพระองค์ใหญ่ คือ เจ้าฟ้าอาภรณ์ได้เริ่มรับราชการ คือ ได้ทรงช่วยกำกับกรมพระคชบาล เจ้าฟ้ากลาง (เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์) ได้รับราชการในกรมวัง ส่วนเจ้าฟ้าชายปิ๋วนั้นไม่ปรากฏว่าได้ทรงรับราชการแต่อย่างใด เพราะยังทรงพระเยาว์

อนึ่งในรัชกาลที่ 3 นั้น เจ้านายชั้นเจ้าฟ้าชายซึ่งเป็นพระราชโอรสรัชกาลที่ 2 พระองค์สำคัญมีเพียง 5 พระองค์ คือ สมเด็จเจ้าฟ้ามงกุฎ (พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว) เวลานั้นผนวชอยู่ตลอดรัชกาลที่ 3 พระองค์หนึ่ง สมเด็จเจ้าฟ้าจุฑามณี (พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งในรัชกาลที่ 3 ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้ว่ากรมทหารปืนใหญ่พระองค์หนึ่ง เจ้าฟ้าทั้งสองพระองค์นี้ เป็นเจ้าฟ้าพระโอรสในสมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี และมีพระชันษาแก่กว่าเจ้าฟ้า 3 พระองค์ในสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี

สิ้นพระชนม์

สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีสวรรคตในรัชกาลที่ 3 เมื่อวันเสาร์ เดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ ปีจอ ตรงกับวันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2381 สวรรคต พระชนมพรรษาได้ 42 พรรษา ทรงได้รับพระราชทานเพลิงพระบรมศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวงเมื่อวันแรม 6 ค่ำ เดือน 5 ตรงกับวันศุกร์ที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2382[1]

ในพระราชพงศาวดารรัชกาลที่ 3 ฉบับเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี (ขำ บุนนาค) แต่งมีข้อความว่า

"ในเดือน 4 ปีจอนั้น สมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดี ทรงพระประชวรพระโรคโบราณมานานแล้ว ครั้น ณ วันเสาร์ เดือน 4 ขึ้น 3 ค่ำ สวรรคต พระชนมพรรษาได้ 40 พรรษา 8 เดือน 18 วัน โปรดให้ทำการพระเมรุที่ท้องสนามหลวง เจ้าพนักงานได้จัดการทำพระเมรุอยู่"

ในพระราชพงศาวดารฉบับดังกล่าวอีกตอนหนึ่งมีว่า

"ฝ่ายที่กรุงการพระเมรุเสร็จแล้ว ครั้น ณ วัน เดือน 5 แรม 4 ค่ำ ได้ชักพระบรมศพสมเด็จเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีกับพระศพพระองค์เจ้า (ผู้เป็น) พระธิดาออกสู่พระเมรุ เชิญพระบรมศพประดิษฐานบนพระเบญจา มีการมหรสพทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายไทยธรรมแก่พระสงฆ์ พระราชาคณะ ฐานานุกรมเป็นอันมาก ครั้น ณ วัน เดือน 5 แรม 6 ค่ำ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) ได้พระราชทานเพลิงแล้วสมโภชพระบรมอัฐิอีก วัน 1 คืน 1 เป็นคำรบ 4 วัน 4 คืน"

ใกล้เคียง

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร สมเด็จพระนเรศวรมหาราช