จัดตั้งสมาคมกรรมกรไทยกับกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ขึ้นเป็นครั้งแรก ของ สังข์_พัธโนทัย

ภายหลังที่จอมพล ป. พิบูลสงคราม กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง ในวันที่ 8 เมษายน 2491 จอมพล ป. ก็ได้เรียกนายสังข์มาช่วยงานอีกครั้งหนึ่ง ในฐานะคนสนิทและไว้วางใจมากที่สุดคนหนึ่ง โดยได้มอบหมายงานให้นายสังข์รับผิดชอบงานใหญ่จำนวน 2 ชิ้น คือ งานหนังสือพิมพ์ และงานเรื่องแรงงาน ซึ่งงานทั้ง 2 เกี่ยวข้องกับมวลชนทั้งสิ้น โดยนายสังข์ ได้ออกหนังสือพิมพ์ชื่อ ธรรมาธิปัตย์ และ Bangkok Tribune ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์ภาษอังกฤษรายวันทั้ง 2 ฉบับ ตั้งอยู่บริเวณ ถนนราชดำเนิน ตรงหัวมุมอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในส่วนของเรื่องแรงงานนั้น เนื่องจากในสมัยนั้น ความรู้เรื่องแรงงานของคนไทยมีน้อยมาก เพราะยังไม่มีกฎหมายแรงงาน ไม่มีคำว่าสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นกลไกลทางกฎหมายที่แก้ไขปัญหาแรงงาน ฉะนั้นในสมัยนั้นเมื่อมีผู้ใช้แรงงานนัดหยุดงานหรือเรียกรองค่าจ้างและสวัสดิการ ก็มักจะถูกนายจ้างใช้กฎหมายอาญาและเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าปราบปราม ไม่มีใครรู้จักเรื่องแรงงานสัมพันธ์ ที่ใช้ปฏิบัติกันในโลกอุตสาหกรรมที่เจริญแล้ว นายสังข์ได้เดินทางไปศึกษาวิชาแรงงานด้วยตัวเอง ที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ซึ่งถือเป็นคนไทยคนแรกๆที่ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในวิชานี้ และหลังจากกลับมา ก็ได้ขอให้จอมพล ป. ฯ ออกกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ขึ้นเป็นครั้งแรกของประเทศไทยตามแบบสากลในปี 2500 และได้ทุ่มเทชีวิตให้กับการพัฒนาขบวนการแรงงานของประเทศควบคู่ไปกับการเจริญทางอุตสาหกรรมของประเทศเรื่อยมา