สาระสำคัญ ของ สัทธรรมปุณฑรีกสูตร

ในเอกสารสำหรับมัคคุเทศก์งานนิทรรศการ “สัทธรรมปุณฑริกสูตร สารแห่งสันติภาพและการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียว” ในปี 2560 ได้บรรยายไว้ว่า พระศากยมุนีพุทธะ ทรงค้นพบว่ามี “จักรวาลภายใน” ที่กว้างใหญ่อยู่ในพระวรกายของพระองค์เอง ทรงก้าวข้ามตัวตนชีวิตภายใน และแผ่ขยายตัวตนชีวิตนี้ออกไป จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับจักรวาลภายนอกที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งก็คือพลังชีวิตของจักรวาล ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ว่าคือธรรมะหรือกฎของชีวิต เมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ปัญญาและความเมตตากรุณาของพระองค์มุ่งไปที่การช่วยให้ประชาชนหลุดพ้นจากความทุกข์ สิ่งนี้ปรากฏให้เห็นอยู่ในคัมภีร์ทางพุทธศาสนาจำนวนมาก

ในบรรดาคัมภีร์เหล่านี้ สัทธรรมปุณฑริกสูตรแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแสดงรูปธรรมของธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้และเป็นพระสูตรที่ผู้คนในซีกโลกตะวันออกยึดถืออย่างแพร่หลาย เนื่องด้วยคุณลักษณะของสัทธรรมปุณฑริกสูตร ภายใต้ 3 หัวข้อหลัก ดังต่อไปนี้

1. การอยู่ร่วมกันของชีวิตทุกรูปแบบ

ใน “บทกุศโลบาย” (บทที่ 2) ของสัทธรรมปุณฑริกสูตร ทรงเปิดเผยจุดมุ่งหมายที่ทรงปรากฏขึ้นมาในโลกนี้ โดยตรัสถึง “เหตุปัจจัยที่เป็นเรื่องยิ่งใหญ่อันดับหนึ่ง” คือเพื่อ “เปิดประตู” พุทธปัญญา “ชี้” พุทธปัญญา ทำให้ประชาชน “รู้แจ้ง” พุทธปัญญา และ “เข้าสู่” พุทธปัญญา พุทธปัญญาที่กล่าวถึง ก็คือ ปัญญาที่มีพร้อมอยู่ในพลังชีวิตของจักรวาลและส่องแสงออกมา เป็นความหมายเดียวกับคำว่า ธรรมชาติพุทธะ

บุคคลทั้งหลายมีพร้อมพุทธปัญญาที่เป็นส่วนหนึ่งภายในชีวิตของพวกเขา ดังนั้น จึงไม่เกี่ยวกับเชื้อชาติ เพศ อาชีพ หรือวัฒนธรรม เพราะธรรมชาติพุทธะมีพร้อมอยู่ในชีวิตของทุกคน และด้วยการตื่นรู้นี้ ประชาชนทุกคนก็จะสามารถเดินไปบนหนทางสู่ความสุขได้ ประชาชนล้วนเป็นมนุษย์ที่มีพร้อมความสามารถที่จะดำเนินชีวิตที่แสดงศักยภาพสูงสุดในชีวิตให้ปรากฏออกมาได้ นี่คือสิ่งที่สร้างวัฒนธรรมโลกของการอยู่ร่วมกันและความกลมเกลียวให้เป็นจริงได้

ใน “บทการเปรียบเทียบเรื่องยาสมุนไพร” (บทที่ 5) ของสัทธรรมปุณฑริกสูตร แนวคิดของการอยู่ร่วมกันและความกลมเกลียวนี้ถูกแสดงให้เห็นผ่านแนวคิดเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวของสมุนไพร 3 ชนิดและต้นไม้ 2 ชนิด สมุนไพรและต้นไม้ทั้งหมดเหล่านี้ ต่างกันทั้งความสูงและรูปร่าง แต่เมื่อฝนตก ทั้งหมดต่างก็ดูดซับสิ่งที่จำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความต้องการเฉพาะของพรรณไม้แต่ละชนิด ท้องฟ้าและฝนที่ตกลงมาคืออาหารหล่อเลี้ยงพลังชีวิตของจักรวาล ซึ่งก็คือคำสอนของพระพุทธะ และเป็นอาหารหล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตนับล้าน ๆ ทั่วจักรวาล

2. การแสวงหาความเป็นนิรันดร์

บทที่ 11 ของสัทธรรมปุณฑริกสูตรเริ่มต้นด้วยการปรากฏออกมาของหอรัตนะ อันยิ่งใหญ่โผล่ขึ้นมาจากพื้นโลกและพระประภูตรัตนพุทธะจากอดีต ที่ประทับอยู่ในหอรัตนะ ทรงเป็นผู้ให้การรับรองว่า สิ่งที่พระศากยมุนีพุทธะกำลังเทศนาทั้งหมดล้วนถูกต้อง จากนั้น ใน “บทการปรากฏขึ้นมาจากพื้นโลก” (บทที่ 15) พื้นดินได้เปิดออกอีกครั้ง เหล่าโพธิสัตว์จำนวนมากมายได้ปรากฏขึ้นมาและทำความเคารพต่อที่ประชุมเทศนาสัทธรรมปุณฑริกสูตร พระเมตไตรยโพธิสัตว์เป็นตัวแทนในที่ประชุมถามว่า ผู้คนเหล่านี้ทั้งหมดคือใคร ในบทต่อมาคือ “บทการหยั่งอายุกาลของพระตถาคต” (บทที่ 16) พระศากยมุนีพุทธะทรงตอบคำถามของพระเมตไตรยโพธิสัตว์ โดยตรัสเกี่ยวกับพระพุทธะนิรันดร์ และให้ความกระจ่างว่าสถานะที่แท้จริงของพระองค์คือ พระพุทธะที่ทรงรู้แจ้งตั้งแต่สมัยกาลนาน

พระพุทธะนิรันดร์คือพระพุทธะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับธรรมะนิรันดร์ เป็นพระพุทธะผู้ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจังหวะพื้นฐานของจักรวาล “บทการหยั่งอายุกาลฯ” เปิดเผยการดำรงอยู่ตลอดกาลของพระพุทธะนิรันดร์ ที่ปรากฏขึ้นมาในโลกที่เราอาศัยอยู่ เพื่อช่วยเหลือสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์ ทั้งที่พระพุทธะเป็นผู้ที่หลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดแล้ว

3. การเคลื่อนไหวเพื่อสร้างสันติภาพ

สัทธรรมปุณฑริกสูตรได้เปิดเผยเรื่องการเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในรูปของโพธิสัตว์ทั้งหลายที่โลดแล่นขึ้นมาจากพื้นโลก แสดงถึงพลังชีวิตนิรันดร์ของจักรวาล และโพธิสัตว์อื่น ๆ ที่ปรากฏในบทท้าย ๆ ของสัทธรรมปุณฑริกสูตร บทเหล่านี้บรรยายถึงพระไภษัชยราชโพธิสัตว์ผู้เชี่ยวชาญด้านยาและการเยียวยาชีวิต พระคัทคัทสวรโพธิสัตว์ ผู้เป็นสัญลักษณ์การรังสรรค์ด้านศิลปะ เช่น ดนตรี พระสมันตภัทรโพธิสัตว์

ผู้แสดงคุณสมบัติของการเรียนรู้และความคิด และโพธิสัตว์ที่รู้จักกันในนาม พระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์ เป็นผู้ที่คอยรับฟังปัญหาและความกังวลใจของประชากรโลก โดยรีบรุดไปช่วยเหลือและทำให้ประชาชนเกิดความกล้าหาญและปราศจากความกลัว

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษอันเนื่องจากสารัตถทางสันติภาพ คือ โพธิสัตว์องค์หนึ่งที่รู้จักกันในนามพระสทาปริภูตโพธิสัตว์ ชื่อนี้มาจากคำกล่าวที่ท่านกล่าวกับผู้คนเสมอว่า “ข้าพเจ้ามีความเคารพพวกท่านอย่างลึกซึ้ง ข้าพเจ้าไม่กล้าที่จะปฏิบัติต่อพวกท่านด้วยการดูถูกเหยียดหยามหรือความจองหอง” การปฏิบัติเช่นนี้แสดงถึงทัศนะที่ท่านมีต่อผู้คนทั้งหลาย กล่าวคือเป็นการแสดงความเคารพธรรมชาติพุทธะภายในชีวิตของพวกเขา สัทธรรมปุณฑริกสูตรกล่าวว่า ท่านจะโค้งคำนับด้วยความเคารพแก่พวกเขาทุกคน ซึ่งเป็นวิธีแสดงความเคารพคุณค่าและคุณธรรมที่มีพร้อมอยู่ในชีวิตของพวกเขา

สัทธรรมปุณฑริกสูตรสอนว่า ธรรมชาติพุทธะมีพร้อมอยู่ในปวงสรรพสัตว์และสามารถแสดงออกมาในความเป็นจริง บนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันที่มีอยู่ภายในชีวิตของมนุษย์ทุกคน จึงทำให้แนวคิดของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นได้

จากการเทศนาเรื่องพระพุทธะนิรันดร์และธรรมะนิรันดร์ว่าเป็นพลังชีวิตของจักรวาล สัทธรรมปุณฑริกสูตรสอนถึงวิธีที่พลเมืองโลกจะสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสันติภาพโลกได้ โดยแสดงเป็นเชิงสัญลักษณ์ด้วยคุณสมบัติพิเศษและการทำหน้าที่ของโพธิสัตว์ทั้งหลายที่ปรากฏในพระสูตรนี้