เนื้อหา ของ สัทธรรมปุณฑรีกสูตร

พระสูตรนี้มีสาระสำคัญกล่าวถึงยาน 3 อย่าง อันจะพาสรรพสัตว์ข้ามพ้นห้วงวัฏสงสารได้ ประกอบด้วย สาวกยาน (ศฺราวกยาน), ปัจเจกพุทธยาน (ปฺรตฺเยกพุทฺธยาน) และโพธิสัตวยาน (โพธิสตฺตฺวยาน) ยานทั้งสามนี้มิใช่หนทาง 3 สายที่แตกต่างกัน อันจะนำไปสู่เป้าหมาย 3 อย่างต่างกัน ทว่าเป็นหนทางหนึ่งเดียวที่จะนำไปสู่เป้าหมายหนึ่งเดียว

ภาษาต้นฉบับที่จารึกพระสูตรนั้นไม่ปราฏชัด มีข้อเสนอว่า อาจแต่งเป็นภาษาถิ่นปรากฤต จากนั้นจึงแปลเป็นภาษาสันสกฤต ทำให้พระสูตรนี้เป็นที่แพร่หลายมากขึ้น ต่อมามีการแปลเป็นภาษาจีนถึง 6 สำนวน แต่สามฉบับแรกต้นฉบับสาบสูญไปแล้ว เหลือเพียงสามฉบับหลัง คือ

  • ฉบับพระภิกษุธรรมรักษ์ แปลเมื่อ พ.ศ. 829 นับเป็นฉบับที่เก่าแก่ที่สุดที่ยังหลงเหลือในปัจจุบัน
  • ฉบับพระกุมารชีพ ชาวเอเชียกลาง แปลเมื่อ พ.ศ. 934 กล่าวกันว่าเป็นฉบับที่แปลความได้สละสลวยที่สุด
  • ฉบับท่านชญานคุปตะและท่านธรรมคุปตะ แปลเมื่อ พ.ศ. 1144

เนื้อความของแต่ละฉบับมีใจความหลักเหมือนกัน แต่รายละเอียดปลีกย่อยมีความแตกต่างกันในบางส่วน

สัทธรรมปุณฑรีกสูตรถือเป็นคัมภีร์หลักอีกเล่มหนึ่งที่มีการแปลเป็นภาษาจีน ทั้งยังเป็นพระสูตรยุคแรกสุด ที่ระบุคำว่า "มหายาน"ด้วย

พระวสุพันทุได้รจนาอรรถกถาพระสูตรนี้เป็นฉบับย่อ ให้ชื่อว่า "สัทธรรมปุณฑรีกสูตรอุปเทศ" ในประเทศจีนได้มีคัมภีรชั้นฎีกาเกิดขึ้นมากมาย เช่น ของท่านเต้าเซิง, ฝ่าอวิ่น, จื้ออี, จี้จ้าง และกุยจี เป็นต้น แม้แต่ท่านจื้ออี (มหาคุรุเทียนไท้) ผู้สถาปนานิกายเทียนไท้ ก็ได้อาศัยพื้นฐานจากพระสูตรเล่มนี้ ในญี่ปุ่น เจ้าชายโชโตะกุได้ทรงแต่งอรรถาธิบายพระสูตรนี้ในชื่อว่า "ฮกเกกิโช" พระนิชิเรนผู้สถาปนานิกายนิชิเรนโชชูก็ได้อาศัยพระสูตรเล่มนี้และเชื่อว่าเป็นพระสูตรที่สามารถทำให้บรรลุพุทธภาวะได้ในอัตตภาพปัจจุบัน ซึ่งพระสูตรเล่มนี้มีอิทธิพลอย่างมาก จนเกิดเป็นองค์กรทางศาสนาและสวดท่องพระสูตรนี้ เช่น นิกายนิชิเรนโชชู สมาคมสร้างคุณค่า เป็นต้น