ประวัติศาสตร์ ของ สาธารณรัฐเท็กซัส

การสถาปนารัฐ

สาธารณรัฐเท็กซัสสถาปนาตนเองขึ้นมาจากรัฐโกอาวีลาและเตฆัส (Coahuila y Tejas) ของเม็กซิโกจากเหตุการณ์การปฏิวัติเท็กซัส ในขณะนั้นเม็กซิโกกำลังอยู่ในความสับสนอลหม่านขณะที่ผู้นำของประเทศในแต่ละสมัยพยายามที่จะกำหนดรูปแบบการปกครองที่เหมาะสมที่สุดสำหรับประเทศ ในปี ค.ศ. 1835 เมื่อประธานาธิบดีอันโตนิโอ โลเปซ เด ซานตา อานา ล้มเลิกรัฐธรรมนูญแห่งปี 1824 ทำให้เขามีอำนาจมหาศาลในการควบคุมรัฐบาล ชาวอาณานิคมในเท็กซัสจึงเกิดความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าวและเริ่มก่อตั้งคณะกรรมการเพื่อการตอบโต้และความปลอดภัย โดยมีคณะกรรมการกลางในแซนฟิลิปดิออสตินเป็นผู้ประสานการทำงาน [1] ขณะที่ในเม็กซิโกชั้นใน ก็มีการต่อต้านนโยบายรวมอำนาจใหม่นี้ ในหลาย ๆ รัฐเช่นกัน [2] การปฏิวัติเท็กซัสเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 ตุลาคม ค.ศ. 1835 ในยุทธการกอนซาเลส แม้ว่าเริ่มแรกนั้นชาวเท็กซัสจะต่อสู้เพื่อให้กลับมาใช้รัฐธรรมนูญแห่งปี 1824 อีกครั้ง แต่ต่อมาในปี 1836 เป้าหมายของสงครามก็เปลี่ยนไป โดยได้มีการประกาศเอกราชที่การชุมนุมแห่งปี 1836 ในวันที่ 2 มีนาคม ค.ศ. 1836 และสถานปนาตนเองเป็นสาธารณรัฐเท็กซัสอย่างเป็นทางการ

1836-1845

การประชุมรัฐสภาครั้งแรกของสาธารณรัฐเท็กซัสเริ่มขึ้นในเดือนตุลาคม ค.ศ. 1836 ที่เมืองโคลัมเบีย (ปัจจุบันคือเวสต์โคลัมเบีย) สตีเฟน เอฟ. ออสติน หรือที่เป็นรู้จักในนามว่า บิดาแห่งเท็กซัส ถึงแก่อนิจกรรมในวันที่ 27 ธันวาคม ค.ศ. 1836 หลังจากดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นเวลาสองเดือนให้กับสาธารณรัฐใหม่

ในปี ค.ศ. 1836 มีเมืองห้าแห่งด้วยกันที่ทำหน้าที่เป็นเมืองหลวงชั่วคราวให้กับเท็กซัส ได้แก่เมืองวอชิงตัน-ออน-เดอะ-แบรซัส, แฮร์ริสเบิร์ก, แกลวิสตัน, วิลาสโก และโคลัมเบีย ก่อนที่ประธานาธิบดีแซม ฮิวสตันจะย้ายเมืองหลวงไปที่เมืองฮิวสตันในปี 1837 เมืองหลวงถูกย้ายไปที่เมืองสร้างใหม่ที่ชื่อว่าออสตินในปี 1839 โดยประธานาธิบดีคนต่อมา มิราโบ บี. ลามาร์ ธงชาติผืนแรกของสาธารณรัฐเท็กซัสคือ “ธงเบอร์เน็ต” (Burnet Flag) มีลักษณะเป็นธงผืนน้ำเงินที่มีดาวทองอยู่ตรงกลาง ตามมาด้วยการประกาศใช้อย่างเป็นทางการของธงดาวเดียว (Lone Star Flag) ที่ยังเป็นธงประจำรัฐเท็กซัสมาจนถึงทุกวันนี้

การเมืองภายในสาธารณรัฐมาจากความขัดแย้งระหว่างคนสองกลุ่ม ได้แก่พรรคชาตินิยม นำโดยลามาร์ ซึ่งต้องการให้สาธารณรัฐเท็กซัสดำรงอยู่เป็นรัฐเอกราชต่อไป และสนับสนุนให้มีการขับไล่ชนพื้นเมืองอเมริกันออกจากดินแดน รวมถึงขยายอาณาเขตของเท็กซัสไปยังทิศตะวันตกจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก ในขณะที่ฝั่งตรงข้ามของคนกลุ่มแรก นำโดยฮิวสตัน สนับสนุนให้เท็กซัสผนวกดินแดนเข้ากับสหรัฐอเมริกา และอยู่ร่วมกับชนพื้นเมืองอเมริกันอย่างสันติ รัฐสภาเท็กซัสในขณะนั้นขัดแย้งกันถึงขนาดที่มีการผ่านมติเพื่ออ้างสิทธิ์ในดินแดนแคลิฟอร์เนียเป็นครั้งที่สอง หลังจากที่ครั้งแรกถูกคัดค้านให้ตกไปโดยอำนาจของประธานาธิบดีฮิวสตัน ด้วยคะแนนเสียงเกินสองในสามจนทำให้อำนาจในการยับยั้งของประธานาธิบดีเป็นโมฆะ[3] จนกระทั่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี ค.ศ. 1844 ซึ่งผลการลงคะแนนแสดงให้เห็นว่ากลุ่มคะแนนเสียงแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามภูมิภาคอย่างเห็นได้ชัด โดยภูมิภาคตะวันตกที่เป็นดินแดนใหม่ในเท็กซัสสนับสนุนผู้สมัครพรรคชาตินิยม เอ็ดเวิร์ด เบิร์ลสัน ในขณะที่เขตปลูกฝ้าย โดยเฉพาะทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำทรินิตี สนับสนุนแอนสัน โจนส์[4]

เผ่าโคแมนชีเป็นชนเผ่าอเมริกันพื้นเมืองหลักที่ต่อต้านการปกครองของสาธารณรัฐเท็กซัส ในปลายทศวรรษที่ 1830 แซม ฮิวสตันได้ทำการเจรจาสงบศึกกับชนเผ่าโคแมนชี แต่เมื่อลามาร์ขึ้นมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีต่อจากฮิวสตันในปี 1838 เขาก็พลิกนโยบายกลายเป็นการต่อกรกับชนเผ่าอินเดียน และเริ่มสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวโคแมนชี ด้วยการรุกรานโคแมนชีเรีย ดินแดนของชาวโคแมนชี ทำให้เผ่าโคแมนชีตอบโต้เท็กซัสด้วยการบุกโจมตีในที่ต่าง ๆ หลังจากที่การเจรจาสงบศึกในปี 1840 จบลงด้วยการสังหารหมู่ผู้นำโคแมนชี 34 คนในซานอันโตนีโอ ชาวโคแมนชีก็เปิดฉากการโจมตีครั้งใหญ่ลึกเข้าไปในดินแดนเท็กซัส เป็นที่รู้จักในนามว่า การบุกโจมตีครั้งใหญ่แห่งปี 1840 ภายใต้การบังคับบัญชาของพอตซานาควาฮิป (ฉายาบัฟฟาโลฮัมป์ หรือหลังกระบือ) นักรบเผ่าโคแมนชีประมาณ 500-700 นาย บุกผ่านห้วยเขาแห่งแม่น้ำกัวดาลูป ทำการสังหารประชาชนและปล้นสะดมไปตลอดทางจนถึงชายฝั่งของอ่าวเม็กซิโก ที่ซึ่งพวกเขาทำการเผาเมืองวิกตอเรียและลินน์วิลล์ เมื่อฮิวสตันได้เป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในปี 1841 ทั้งฝ่ายเท็กซัสและโคแมนชีต่างก็หมดกำลังจากสงคราม จึงทำให้เจรจาสงบศึกในที่สุด[5]

แม้ว่าเท็กซัสจะเป็นรัฐที่ปกครองตนเอง แต่เม็กซิโกปฏิเสธที่จะยอมรับเท็กซัสเป็นรัฐเอกราช[6] ในวันที่ 5 มีนาคม ค.ศ. 1842 กองกำลังเม็กซิโกกว่า 500 นาย นำโดยราฟาเอล บัสเกซ ทำการรุกรานเท็กซัสเป็นครั้งแรกตั้งแต่มีการปฏิวัติมา พวกเขาร่นถอยกลับไปยังแม่น้ำรีโอแกรนด์หลังจากเข้ายึดครองแซนแอนโทนีโอเป็นเวลาสั้น ๆ ในเวลาต่อมาทหารเม็กซิโกอีก 1,400 นาย นำโดยนายพลรับจ้างชาวฝรั่งเศส อาดรีย็อง โวล เปิดฉากโจมตีเป็นครั้งที่สองและเข้ายึดเมืองแซนแอนโทนีโอได้อีกครั้งในวันที่ 11 กันยายน ปี 1842 ทหารอาสาสมัครเท็กซัสจึงทำการตอบโต้ในยุทธการที่ซาลาโดครีก[7] แต่ต้องตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ต่อทหารเม็กซิโกและชาวเผ่าเชอโรคีที่อาศัยอยู่ในเท็กซัสในวันที่ 18 กันยายนในเหตุการณ์ที่เรียกว่า การสังหารหมู่ดอว์สัน[8] แต่ในเวลาต่อมากองทัพเม็กซิโกก็ถอนทัพออกจากเมืองแซนแอนโทนีโอกลับไปยังเม็กซิโก

หนึ่งในผลกระทบที่เกิดจากการรุกรานเท็กซัสของเม็กซิโกคือความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างกลุ่มพรรคการเมือง ซึ่งรวมไปถึงเหตุการณ์หนึ่งที่เรียกว่า สงครามจดหมายเหตุเท็กซัส โดยเหตุเริ่มมาจากการที่ประธานาธิบดีแซม ฮิวสตันสั่งให้ย้ายจดหมายเหตุออกจากออสตินเพื่อปกป้องคลังจดหมายเหตุแห่งชาติของเท็กซัส โดยมีนัยยะเพื่อเริ่มดำเนินการย้ายเมืองหลวงจากออสตินไปยังฮิวสตัน แต่ประชาชนและทหารอาสาสมัครของเมืองออสตินได้ใช้กำลังบังคับให้คลังจดหมายเหตุกลับมาที่ออสตินเหมือนเดิม เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีฮิวสตันถูกตำหนิโดยรัฐสภาเท็กซัส และเสริมสร้างความมั่นคงในสถานะความเป็นเมืองหลวงของออสตินจนมาถึงทุกวันนี้[9]

นอกจากนี้ยังมีความวุ่นวายภายในประเทศ โดยเกิดสงครามที่ดินระหว่างเทศมณฑลแฮร์ริสันกับเทศมณฑลเชลบีในภูมิภาคตะวันออกของเท็กซัส ซึ่งเป็นข้อพิพาทระหว่างเขตที่มีระยะเวลายืนยาวถึง 5 ปี ตั้งแต่ปี 1839 จนถึง 1844 โดยมีผู้เกี่ยวข้องได้แก่เทศมณฑลแนคะโดชิส, แซนออกัสติน และเทศมณฑลอื่น ๆ ทางภาคตะวันออก ในที่สุดนายอำเภอของเทศมณฑลแฮร์ริสัน จอห์น เจ. เคนเนดี กับผู้พิพากษาเขต โจเซฟ ยู. ฟิลด์ส ก็ช่วยยุติข้อพิพาทโดยการเข้าร่วมกับฝ่ายรักษากฎหมายบ้านเมือง โดยในความขัดแย้งนี้ ประธานาธิบดีฮิวสตันจำเป็นจะต้องใช้ทหารอาสาสมัครถึง 500 นายเพื่อช่วยในการยุติข้อพิพาท

ใกล้เคียง

สาธารณรัฐจีน (ค.ศ. 1912–1949) สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐโดมินิกัน สาธารณสมบัติ สาธารณรัฐประชามานิตกัมพูชา สาธารณรัฐฝรั่งเศสที่ 3 สาธารณรัฐเท็กซัส สาธารณรัฐโซเวียตฮังการี สาธารณรัฐเขมร สาธารณรัฐประชาชนยูเครน

แหล่งที่มา

WikiPedia: สาธารณรัฐเท็กซัส http://books.google.com/?id=Fmh0AAAAMAAJ http://books.google.com/?id=THI8AAAAIAAJ http://books.google.com/?id=ZIt5AAAAMAAJ http://books.google.com/?id=z4x4xEZZ_xsC&pg=PA263 http://books.google.com/books?ei=WKe1SfbVJp-OkASpx... http://books.google.com/books?id=g5wvAAAAYAAJ&pg=P... http://books.google.com/books?id=z4x4xEZZ_xsC&pg=P... http://books.google.com/books?id=z4x4xEZZ_xsC&pg=P... http://www.parisdeuxieme.com/2007/06/paris-embassy... http://texashistory.unt.edu/