สำเนียงสงขลา

ภาษาไทยถิ่นใต้สำเนียงสงขลา เป็นภาษาไทยถิ่นใต้กลุ่มหนึ่งที่พูดกันมากในจังหวัดสงขลา (แต่ส่วนใหญ่ของหาดใหญ่ใช้ภาษาไทยกลาง) บางส่วนของจังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ถือเป็นภาษาไทยถิ่นใต้ที่มีเอกลักษณ์พิเศษ โดยมีลักษณะที่เด่นคือ หางเสียงจะไม่ขาดห้วน แต่จะค่อยๆเบาเสียงลง ซึ่งลักษณะดังกล่าวช่วยให้ภาษาสงขลาฟังแล้วไม่หยาบกระด้างอย่างสำเนียงใต้ถิ่นอื่น นอกจากนี้ ยังมีคำที่ใช้บ่อยในสำเนียงนี้คือ คำว่า เบอะ หรือ กะเบอะ ซึ่งมีความหมายในภาษาไทยมาตรฐานว่า เพราะว่า, ก็เพราะว่า เรียกเงินว่า เบี้ย ในขณะที่ถิ่นอื่นนิยมเรียกว่า ตางค์ และคำที่นิยมใช้อีกคำหนึ่ง คือ ไม่หอน ซึ่งมีความหมายว่า ไม่เคย เช่น ฉานไม่หอนไป เป็นต้น[1]