ตัวอย่างการนำไปใช้ในประเทศไทย ของ สิทธิแรงงาน

นโยบายด้านการคุ้มครองและดูแลแรงงานของไทยเริ่มต้นในสมัยการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 โดยการจัดการให้ราษฎรมีงานทำนั้นเป็นหนึ่งในหลักหกประการที่ประกาศโดยคณะราษฎรอยู่แล้ว หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่กี่เดือน ในเดือนสิงหาคมได้มีการตราพระราชบัญญัติว่าด้วยสำนักจัดหางาน พ.ศ. 2475 ให้เอกชนเปิดสำนักจัดหางานและเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนได้ ต่อมาในเดือนตุลาคมจึงมีการออกพระราชบัญญัติสำนักจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ. 2475 โดยรัฐเปิดสำนักงานจัดหางานให้ประชาชนเข้าใช้บริการโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย (กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม)[2]

กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทย ได้รับการโอนไปจัดตั้งเป็นกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมในปี พ.ศ. 2536 และเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงแรงงานในปี พ.ศ. 2545

นโยบายขององค์การการค้าระหว่างประเทศซึ่งรวมมาตรฐานสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนเข้าไปในระเบียบการค้าและตลาดสำคัญของไทย อย่างสหภาพยุโรปที่หันมากีดกันการค้าด้วยนโยบายเกี่ยวกับแรงงานสิทธิมนุษยชนแทนกำแพงภาษีทำให้ระบบกฎหมายแรงงานของไทยต้องปรับตัวให้เข้ากับมาตรฐานสิทธิแรงงานโลก หรืออีกนัยหนึ่งคือ มาตรฐานแรงงานของลูกค้า

สำหรับสิทธิแรงงานในปัจจุบันของไทย มีการออกกฎหมายเพื่อให้บริการจัดหางานและการชดเชยสำหรับผู้ว่างงาน การให้การคุ้มครองและสวัสดิการแรงงาน และการคุ้มครองในกรณีถูกเลิกจ้าง รวมถึงกฎหมายสำหรับแรงงานเด็ก แรงงานสตรี แรงงานคนพิการ การส่งเสริมและพัฒนาทักษะวิชาชีพประเภทต่างๆ เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยสิทธิแรงงานนั้นเน้นไปที่การคุ้มครองแรงงานและสวัสดิการแรงงาน โดยการคุ้มครองแรงงานนั้นประกอบไปด้วยการจำกัดชั่วโมงทำงานต่อวัน (ไม่เกินวันละ 8 ชั่วโมงหรือตามที่ตกลงกันระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างสำหรับงานทั่วไป และไม่เกิน 7 ชั่วโมงต่อสัปดาห์สำหรับงานที่มีอันตราย) สิทธิในการหยุดพักระหว่างทำงาน (ไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมงหลังจากทำงานมาแล้ว 5 ชั่วโมง) วันหยุดประจำสัปดาห์ (ไม่น้อยกว่า 1 วัน) ตามเทศกาลประเพณี (ไม่น้อยกว่า 13 วันต่อปี) และวันหยุดพักผ่อนประจำปี การจำกัดชั่วโมงในการทำงานล่วงเวลา (ไม่เกิน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) การลาหยุดและลากิจประเภทต่างๆ การชดเชยในกรณีเลิกจ้าง การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ และการคุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี ที่มีการคุ้มครองแรงงานเด็ก (ที่มีอายุระหว่าง 15 – 18 ปี) และสตรีว่าไม่สามารถกระทำงานประเภทใดได้บ้าง แม้ในมุมหนึ่งจะเป็นการมอบสวัสดิการพิเศษให้แก่แรงงานเหล่านี้ แต่ในอีกมุมหนึ่งก็อาจมองได้ว่าเป็นการกดทับทางเพศสภาวะของผู้ใช้แรงงาน เพราะเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าแรงงานสตรีนั้นแตกต่าง หรือ มีความไม่ทัดเทียมกับ “แรงงาน” เพศชาย ส่วนสวัสดิการแรงงานที่นายจ้างต้องจัดให้นั้น มีตั้งแต่การจัดการสถานที่ทำงาน การจัดเตรียมอุปกรณ์ปฐมพยาบาล และสวัสดิการเพื่อความเป็นอยู่ของลูกจ้าง เช่น จัดทำประกันสังคม สหกรณ์ออมทรัพย์ ระบบบำเหน็จบำนาญ โครงการฝึกอบรมวิชาชีพ การให้การศึกษา และจัดกิจกรรมนันทนาการเพื่อสุขภาพ เป็นต้น (กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม)[3]

ปัญหาการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำไว้ที่ 300 บาท ต่อวัน ซึ่งเป็นนโยบายที่ใช้หาเสียงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทยนั้น แม้จะเป็นการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล และค่าเงินของประเทศไทยแล้ว ค่าแรงที่ 300 บาทต่อวัน แม้จะยังคงไม่เพียงพอต่อการทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ แต่นโยบายดังกล่าวนี้กลับต้องเผชิญกับกระแสต่อต้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากบรรดานายจ้างที่เป็นเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก และขนาดกลาง ที่ออกมาปฏิเสธการขึ้นค่าแรงว่าจะส่งผล และเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็ก และขนาดกลางจะต้องปิดกิจการลงไปเป็นจำนวนมาก ในขณะที่กลุ่มทุนรายใหญ่ หรือ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่เพียงแต่จะไม่ได้รับผลกระทบ กลับได้รับการลดหย่อนภาษีตามนโยบายของรัฐบาลเนื่องจากกลุ่มทุนใหญ่ จ่ายอัตราค่าจ้างแรงงานเกิน 300 บาทต่อวันอยู่ก่อนแล้ว โดยเฉพาะเมื่อคิดร่วมกับค่าทำงานล่วงเวลา

ใกล้เคียง

สิทธิ สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศเรียงตามประเทศหรือดินแดน สิทธิ เศวตศิลา สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย สิทธิเก็บกิน สิทธิในสุขภาพ สิทธิในอาหาร สิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย สิทธิชัย ผาบชมภู สิทธิพร นิยม