เนื้อหา ของ สี่เยฺวียนจี๋ลู่

ต้นฉบับหนังสือนี้ที่มีอยู่ในปัจจุบันมีหลายชุดและเนื้อหาต่างกัน แต่ที่เก่าแก่ที่สุดเป็นฉบับเผยแพร่สมัยราชวงศ์ยฺเหวียน (元朝) แบ่งออกเป็น 5 ภาค 53 บท ภาค 1 ว่าด้วยราชโองการให้ตรวจสอบศพและบาดแผล ภาค 2 ว่าด้วยวิธีชันสูตรพลิกศพ ภาค 3, 4, และ 5 เป็นรายละเอียดของศพในลักษณะต่าง ๆ ซึ่งเกิดจากการตายในหลายสาเหตุ และวิธีจัดการกับบาดแผลบางประเภท[2]

ในหนังสือนี้ ซ่ง ฉือ ยังพรรณนาระเบียบการรายงานการตรวจศพของศาล วิธีป้องกันพยานหลักฐานในขั้นตอนการตรวจสอบ เหตุผลที่เจ้าหน้าต้องแสดงผลการตรวจสอบให้สาธารณชนทราบอย่างเที่ยงตรง ตลอดจนวิธีชำระล้างศพเพื่อตรวจสอบสาเหตุต่าง ๆ ของการตาย[3] อนึ่ง เขายังระบุวิธีแยกแยะการฆ่าตัวตายกับการแสร้งฆ่าตัวตาย[4]

หนังสือนี้ยังเป็นเอกสารแรกที่กล่าวถึงบทบาทของแมลงในทางนิติวิทยาศาสตร์[5] โดยกล่าวว่า ใน ค.ศ. 1235 มีผู้ถูกแทงตาย ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เจ้าหน้าที่นำใบมีดรูปแบบต่าง ๆ มาทดลองกับซากสัตว์ ก็รู้ได้ว่า แผลแทงนั้นเกิดจากเคียว จึงสั่งให้ชาวบ้านทุกคนมารายงานตัวพร้อมนำเคียวมาด้วย ฝูงแมลงวันหัวเขียวพากันตอมเคียวเล่มหนึ่งเพราะเนื้อเยื่อและกลิ่นเลือดจากศพยังติดอยู่แม้มองไม่เห็นแล้วก็ตาม เจ้าของเคียวตกใจและรับสารภาพ นอกจากนี้ ส่วนอื่น ๆ ของหนังสือยังพรรณนาพฤติกรรมของแมลงวันหัวเขียวที่มีต่อศพ ซึ่งสัมพันธ์กับการเน่าเสียของศพหรืออวัยวะภายใน หรือความต้องตาต้องใจของเนื้อเยื่อบาดแผล เป็นต้น[6]

ดี. ไบรอัน อี. แม็กไนต์ (D. Brian E. McKnight) พูดถึงคดีเคียวดังกล่าวว่า "ชาวนาท้องถิ่นในหมู่บ้านจีนแห่งหนึ่งถูกพบเป็นศพ โดยถูกเคียวฟันตาย การใช้เคียวซึ่งเป็นเครื่องมือที่ชาวนาใช้เกี่ยวข้าวช่วงเก็บเกี่ยวนี้แสดงว่า ฆาตกรย่อมเป็นชาวนาอีกคนในท้องถิ่นนั้น ตุลาการท้องถิ่นจึงเริ่มสืบสวนโดยเรียกชาวนาท้องถิ่นทุกคนที่อาจต้องสงสัยให้มายังลานหมู่บ้าน แต่ละคนให้นำเคียวของตนติดตัวมายังลานประชุมด้วย เมื่อพร้อมกันแล้ว ตุลาการสั่งให้ผู้ต้องสงสัยราว 10 คนวางเคียวของตนไว้บนพื้นข้างหน้าตนแล้วเดินถอยหลังไปไม่กี่หลา บ่ายนั้นแดดอุ่น ขณะที่ชาวบ้าน ตุลาการ และผู้ต้องสงสัย รอเวลาอยู่นั้นเอง แมลงวันหัวเขียวตัวเงาวับแวววาวก็บินหึ่งมาตอมเคียวในลานหมู่บ้านนั้น แล้วแมลงตัวสีเงินวาวเหล่านี้ก็หันเหไปหาเคียวเล่มหนึ่งซึ่งวางอยู่บนพื้น ภายในไม่กี่นาที แมลงหลายตัวก็พุ่งลงตอมเคียวเล่มนั้นแล้วถูตัวไปมาบนเคียวอย่างชอบใจ โดยที่เคียวเล่มอื่นไม่เป็นที่สนใจของแมลงตัวหนึ่งตัวใดเลย เจ้าของเครื่องมือนั้นจึงเริ่มเหงื่อตก และนั่นเป็นช่วงเวลาไม่นานนักก่อนคนทั้งหลายในหมู่บ้านจะเอะใจว่า ฆาตกรคือใคร ตุลาการจึงให้กุมตัวฆาตกรไป โดยคนร้ายนั้นก้มหัวด้วยความอายพลางร้องขอความเมตตา ผู้ยืนยันฆาตกรรมจึงเป็นแมลงตัวสีเงินวาวที่เรียกกันว่า แมลงวันหัวเขียว ซึ่งต้องตาต้องใจกับเศษซากเนื้อเยื่อบาง ๆ เลือด กระดูก และเส้นขน ที่ติดอยู่บนเคียวหลังใช้ก่อฆาตกรรม ความรู้ของตุลาการประจำหมู่บ้านในเรื่องพฤติกรรมของแมลงบางกลุ่มที่ถูกเนื้อเยื่อศพมนุษย์ดึงดูดได้นั้นนับเป็นกุญแจที่ไขไปสู่การกระทำอันอำมหิตนี้ ทำให้ความยุติธรรมบังเกิดในแดนจีนโบราณ"[7]