แก่นเรื่องและสัญลักษณ์ ของ สี่แผ่นดิน

สถาบันพระมหากษัตริย์

นิธิ เอียวศรีวงศ์เขียนว่า หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ไม่ได้ต้องการจำลองความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชนตามความเป็นจริง แต่มุ่งสร้างอุดมคติเพื่อให้เหมาะกับกาลสมัยที่พระมหากษัตริย์เป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญหลังการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 และการเลือกตัวเอกเป็นชาววังก็เพื่อให้เห็นพระบรมโพธิสมภารของพระมหากษัตริย์ทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยไม่มีเรื่องการเมืองการปกครองเข้ามาเกี่ยวข้อง[3] เนื่องจากบริบทในช่วงเวลานั้นเป็นช่วงหลังรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2490 ซึ่งถึงแม้ว่าคณะราษฎรแทบหมดอำนาจโดยสิ้นเชิงแล้ว แต่ยังไม่มีการฟื้นฟูบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์เท่าที่ควร หลังจากนั้น สื่อต่าง ๆ ยังเผยแพร่และสืบทอดนวนิยายเรื่องนี้ไปอย่างกว้างขวางกว่าครึ่งศตวรรษ และให้ภาพลักษณ์ของกษัตริย์ในอุดมคติพระมหากษัตริย์ผู้ทรงไว้ซึ่งพระบรมโพธิสมภารสูงส่ง ตัวอย่างเช่น พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรยื่นพระหัตถ์สัมผัสกระพุ่มไหว้ของยายแก่, ภาพพระเสโทไหลย้อย ฯลฯ เป็น "ภาพที่มีอยู่ทุกบ้าน"[3]

ตัวละคร

ขณะที่ตัวของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยให้สัมภาษณ์กองบรรณาธิการนิตยสารถนนหนังสือ ฉบับวันที่ 1 กรกฎาคม 2528 ว่า ""แม่พลอยเป็นคนที่ไม่มีสิทธิของผู้หญิงเลย ไม่เคยเรียก ไม่เคยร้อง แล้วแม่พลอยนี่เป็นคนที่เชยที่สุด คุณจะว่านางเอกก็นางเอก แต่เป็นคนเชยที่สุด แม่พลอยถ้าแกอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ แกก็ลูกเสือชาวบ้าน แกจะไปรำละครบ้าๆ บอๆ ถึงขนาดนั้น" และ "ที่นี่คนอ่านคนไทย ปลื้มอกปลื้มใจ เห็นแม่พลอยเป็นคนประเสริฐเลิศลอย ก็เพราะคนไทยก็เป็นคนแบบนั้นอ่อนน้อมถ่อมตน คนอ่านส่วนมากอยากเป็นแม่พลอย เป็นคนไทยมีใจรักชาติและสะท้อนให้เห็นแง่คิดในสังคมไทย นี่คือสาเหตุที่ สี่แผ่นดินถึงได้มีชื่อเสียง"[4]

นอกจากนี้ยังมีการวิจารณ์บุคลิกของตัวละคร ว่าตาอ๊อดนั้นเหมือน ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ผู้ประพันธ์ ส่วนตาอั้น ถอดแบบมาจากจากพี่ชายของผู้ประพันธ์คือ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช แม่พลอยตามเนื้อเรื่องมาจากก๊กฟากคะโน้น หมายถึงตระกูลบุนนาค หนึ่งในต้นตระกูลของผู้ประพันธ์ด้วย จึงนับได้ว่าแม่พลอย เป็นญาติข้างหนึ่งของผู้ประพันธ์ ซึ่งในบทโต้ตอบในหนังสือพิมพ์ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ยอมรับข้อเท็จจริงดังกล่าว ถึงขนาดตอนเผยแพร่ครั้งแรกโดยการตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ถึงตอนที่แม่พลอยแพ้ท้อง และปรารภกับคุณเปรมอยากรับประทานมะม่วงดิบ เจ้าจอมอาบ ในรัชกาลที่ 5 ได้ส่งมะม่วงดิบมายังโรงพิมพ์สยามรัฐจริง ๆ ด้วยเสมือนถือว่าตัวก็เป็นญาติคนหนึ่งของแม่พลอย เนื่องจากเป็นผู้ที่มีเชื้อสายตระกูลบุนนาค[5]

ส่วนนี้รอเพิ่มเติมข้อมูล คุณสามารถช่วยเพิ่มข้อมูลส่วนนี้ได้