สุวรรณเศียร

สุวรรณเศียร เป็นวรรณกรรมที่มีเนื้อเรื่องจากสุวรรณสิรสาชาดกในปัญญาสชาดกอันเป็นชาดกนอกนิบาตซึ่งแต่งโดยภิกษุชาวล้านนาภาคเหนือสุวรรณเศียรเป็นวรรณกรรมของทางภาคกลางของประเทศไทย ส่วนทางภาคเหนือเรียก อ้อมล้อมต่อมคำ ทางภาคอีสานรวมถึงในประเทศลาวเรียก ท้าวหัว หรือ ท้าวหัวข้อหล้อ ทั้งสามเรื่องมีโครงเรื่องเหมือนกันแต่มีรายละเอียดปลีกย่อย เช่น ตัวละคร ฉาก เหตุการณ์ ที่แตกต่างกันด้วยเหตุผลในด้านความน่าเชื่อถือให้สอดคล้องกับคำสอนและค่านิยมท้องถิ่น รวมถึงความสนุกสนาน สุวรรณเศียรแต่งในลักษณะคำประพันธ์ที่เรียกว่ากลอนอ่าน ส่วนอ้อมล้อมต่อมคำและท้าวหัวแต่งเลียนแบบชาดกในพระไตรปิฎก คือประกอบด้วยปัจจุบันวัตถุ อดีตวัตถุและสโมทาน โดยแต่งเป็นร้อยแก้วด้วยภาษาถิ่นสลับคาถาภาษาบาลี[1] เนื้อเรื่องสุวรรณเศียรคล้ายกับสังข์ทองเพราะเนื้อหามาจากปัญญาสชาดกเช่นเดียวกัน[2] สาระสำคัญคือแม้มีความบกพร่องทางร่างกายมีแต่ศีรษะ แต่ตัวเอกมีพฤติกรรมดีอยู่ในจริยธรรมอันดีงาม มีความกตัญญูต่อมารดา[3]ต้นฉบับเรื่องสุวรรณเศียรพบเป็นสมุดไทยขาวและไทยดำ เท่าที่มีข้อมูลต้นฉบับมี 4 ฉบับ เก็บไว้อยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ ฉบับเก่าสุดมีอายุสมัยในรัชกาลที่ 3 ฉบับใหม่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5 ทั้งหมดเขียนด้วยอักษรไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ส่วนอ้อมล้อมต่อมคำ พบว่ามีการจารลงในใบลาน (หนังสือผูก) ด้วยอักษรธรรมล้านนา ปรากฏทั่วในภาคเหนือ สำหรับท้าวหัวแพร่หลายมากในภาคอีสาน พบเป็นหนังสือผูกจารด้วยอักษรธรรมอีสานในแทบทุกจังหวัด