ประวัติการตีพิมพ์การ์ตูนไอ้แมงมุม ของ สไปเดอร์-แมน

หลังจากที่มาร์เวลคอมมิคส์ประสบความสำเร็จกับการ์ตูนชุดแฟนแทสติกโฟร์ (Fantastic Four) และตัวการ์ตูนอื่น ๆ ในปี พ.ศ. 2505 แล้ว สแตน ลี บรรณาธิการและหัวหน้านักเขียนของมาร์เวล ก็คิดจะสร้างตัวการ์ตูนยอดมนุษย์ตัวใหม่ขึ้นมาอีก ซึ่งตัวการ์ตูนที่เขาคิดได้ในตอนนั้นก็คือ "สไปเดอร์แมน" หรือ "ไอ้แมงมุม" ในภาษาไทย ตัวไอ้แมงมุมนี้ เกิดขึ้นมาจากความต้องการบริโภคหนังสือการ์ตูนของวัยรุ่นชาวอเมริกันที่เพิ่มมากขึ้น และความปรารถนาของลีที่จะสร้างตัวการ์ตูนที่วัยรุ่นมีส่วนร่วมด้วยได้[12] ลีได้กล่าวเอาไว้ในหนังสืออัตชีวประวัติของเขาว่า เขาได้รับอิทธิพลในการสร้างตัวไอ้แมงมุมมาจากนิตยสารเกี่ยวกับนักสู้อาชญากรที่ชื่อ "เดอะสไปเดอร์" (The Spider) [13] และการได้เห็นความสามารถของแมลงมุมที่สามารถไต่กำแพงได้[14]

ในเรื่องของชื่อ "สไปเดอร์แมน" นั้น นักวาดการ์ตูน สตีฟ ดิตโก ได้กล่าวถึงที่มาของมันว่า:

ตอนที่ถกกันเกี่ยวกับไอ้แมงมุมครั้งหนึ่ง สแตนได้พูดว่า เขาชอบชื่อฮอว์กแมน (Hawkman) แต่ทางสังกัดดีซีคอมมิคส์ (DC Comics) ได้ใช้ชื่อนี้และสร้างตัวละครตัวนี้ไปแล้ว ทางมาร์เวลก็มีแอนท์แมน (Ant-Man) กับแวสป์ (Wasp) แล้ว เพราะฉะนั้นตัวการ์ตูนตัวนี้ก็ควรจะอยู่ในหมวดแมลงด้วย[15] จากคำพูดนี้เอง ผมก็เชื่อว่าในตอนนั้นสแตนมีชื่อที่จะตั้งให้กับตัวการ์ตูนตัวนี้แล้ว

สแตน ลี ผู้ที่มีส่วนสำคัญในการกำเนิดของไอ้แมงมุม

ต่อมา ลีได้เข้าไปตีสนิทกับฝ่ายการพิมพ์ของมาร์เวลที่ชื่อ มาร์ติน กู๊ดแมน (Martin Goodman) เพื่อที่จะให้เขาเห็นพ้องกับการกำเนิดการ์ตูนไอ้แมงมุมขึ้นมา หลังจากที่มีการโต้แย้งกันในเรื่องนี้ สุดท้าย กู๊ดแมนก็ตกลงว่าจะให้ลีลองเอาเรื่องไอ้แมงมุมไปลงไว้ในหนังสือ "อแมซซิงอเดาท์แฟนตาซี" (Amazing Adult Fantasy) ฉบับสุดท้ายดู ซึ่งฉบับดังกล่าวนั้นเป็นฉบับที่ 15 และได้มีการเปลี่ยนชื่อหนังสือเป็น "อแมซซิงแฟนตาซี" อีกด้วย[16]

ในปี พ.ศ. 2525 แจ็ก เคอร์บี (Jack Kirby) ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ในความเป็นจริงแล้ว ลีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างสรรตัวไอ้แมงมุมน้อยมาก นอกจากนั้นเขา (เคอร์บี) ยังอ้างว่า ตัวไอ้แมงมุมนี้มีต้นแบบมาจากตัวการ์ตูนอีกตัวหนึ่งที่ชื่อ "เดอะซิลเวอร์สไปเดอร์" (The Silver Spider) ซึ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยตัวเคอร์บีเองร่วมกับโจ ไซมอน (Joe Simon) เพื่อจะนำไปเสนอให้ตีพิมพ์ลงหนังสือการ์ตูนแบล็คแมจิค (Black Magic) ในสังกัดเครสท์วูด (Crestwood) แต่ทางผู้ตีพิมพ์หนังสือการ์ตูนดังกล่าวได้ยุติกิจการไปเสียก่อน

แต่จากอัตชีวประวัติของไซมอน ซึ่งตีพิมพ์ในปี พ.ศ. 2533 นั้น ได้ให้ข้อมูลที่ต่างออกไปจากคำกล่าวข้างต้นของเคอร์บี โดยไซมอนได้ยืนยันว่า เขาไม่ได้สร้างตัวการ์ตูนเดอะซิลเวอร์สไปเดอร์ขึ้นมาเพื่อที่จะตีพิมพ์ในแบล็คแมจิคเท่านั้น นอกจากนั้น ในตอนแรกเขาก็ตั้งชื่อให้ตัวการ์ตูนตัวนี้ว่า "สไปเดอร์แมน" เหมือนกับชื่อภาษาอังกฤษของไอ้แมงมุมในปัจจุบัน แต่ภายหลังได้เปลี่ยนมาเป็นเดอะซิลเวอร์สไปเดอร์แทน ส่วนตัวเคอร์บีนั้น ก็มีหน้าที่วางโครงเรื่องและลายละเอียดเกี่ยวกับพลังพิเศษต่าง ๆ ของตัวการ์ตูน ไซมอนได้อธิบายเพิ่มเติมว่า ฐานคติหรือคอนเซ็ปเกี่ยวกับเดอะซิลเวอร์สไปเดอร์ของทั้งเขาและเคอร์บีนั้น สุดท้ายแล้วก็ได้นำไปใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างตัวการ์ตูนยอดมนุษย์อีกตัวหนึ่งที่ชื่อ "เดอะฟราย" (The Fly) ซึ่งอยู่ในสังกัดอาชีคอมมิคส์ (Archie Comics) ของไซมอนเอง โดยเดอะฟรายนั้นเปิดตัวครั้งแรกในช่วงต้นปี พ.ศ. 2502

เกร็ก ธีคสตัน (Greg Theakston) นักประวัติศาสตร์ด้านหนังสือการ์ตูน ได้กล่าวว่า หลังจากที่กู๊ดแมนได้ให้ความเห็นชอบกับการใช้ชื่อสไปเดอร์แมน และคอนเซ็ปท์ "วัยรุ่นธรรมดา ๆ" กับตัวการ์ตูนไอ้แมงมุมแล้ว ลีก็ได้ไปพบกับเคอร์บี โดยในการพบกันครั้งนั้น เคอร์บีได้เล่าที่มาของซิลเวอร์สไปเดอร์ ตัวการ์ตูนของเขา ให้ลีฟังว่า ซิลเวอร์สไปเดอร์เป็นเด็กกำพร้าที่อาศัยอยู่กับญาติสูงอายุของเขา และวันหนึ่งเมื่อเขาได้ไปพบแหวนวิเศษ เขาก็ได้รับพลังพิเศษมาจากแหวนวงนั้น ลีกับเคอร์บีนั่งประชุมกันในประเด็นเกี่ยวกับเนื้อเรื่องของไอ้แมงมุม ซึ่งหลังจากการประชุมสิ้นสุด ลีก็ได้มอบหมายให้เคอร์บีเพิ่มเติมรายละเอียดเกี่ยวกับตัวไอ้แมงมุมให้ และลองวาดตัวอย่างมาให้ลีดู หลังจากนั้น 1 หรือ 2 วัน เคอร์บีได้นำการ์ตูนตัวอย่างจำนวน 6 หน้ามานำเสนอให้ลีดู เมื่อลีได้ดูแล้วเขาก็ได้กล่าวว่า “ผมไม่ชอบวิธีที่เขาสร้างมันขึ้นมา ไม่ใช่เพราะฝีมือเขาไม่ดี แต่มันยังไม่ใช่ตัวการ์ตูนที่ผมต้องการ มันออกแนวฮีโร่มากเกินไป”[17] ทางด้านของไซมอนเอง ก็ยืนยันด้วยเหมือนกันว่า เคอร์บีได้นำเอาไอ้แมงมุมแบบดั้งเดิม (เดอะซิลเวอร์สไปเดอร์) ไปเสนอให้แก่ลี ผู้ซึ่งชอบแนวความคิดของเขา และมอบหมายให้เขาวาดตัวอย่างมาให้ดู แต่สุดท้ายลีก็ไม่ชอบผลงานที่เขาวาดออกมา ซึ่งไซมอนได้พรรณนาถึงตัวการ์ตูนที่เคอร์บีวาดเอาไว้ว่า เหมือน “กัปตันอเมริกาที่มีใยแมงมุม[18]

หลังจากนั้นมา ลีก็ได้หันความสนใจไปที่ดิตโก และให้ดิตโกออกแบบองค์ประกอบต่าง ๆ ของไอ้แมงมุม ทั้งเสื้อผ้าที่ใส่ และลักษณะของพลังพิเศษต่าง ๆ แทนเคอร์บี ส่วนในเรื่องของสตอรีบอร์ดนั้น ก็เป็นหน้าที่ของดิตโกอีกเช่นกัน โดยดิตโกได้สร้างร่วมกับเอริค สแตนตัน (Eric Stanton) เพื่อนร่วมชั้นเรียนในโรงเรียนศิลปะ[19] โดยสแตนตันได้ให้สัมภาษณ์กับธีคสตันในปี พ.ศ. 2531 เกี่ยวกับเรื่องการทำงานกับดิตโกว่า เขาทั้งสอง “ได้ทำงานเกี่ยวกับสตอรีบอร์ดร่วมกัน และผมก็ได้เสริมความคิดของผมลงไปนิดหน่อย แต่เนื้องานส่วนใหญ่นั้น ได้รับการสร้างสรรค์มาจากตัวสตีฟเอง...ผมคิดว่าสิ่งที่ผมคิดเอาไว้ในเรื่องนี้ก็คือ ประเด็นที่ไอ้แมงมุมสามารถพ่นใยออกมาจากมือของเขาได้”[20]

ความสำเร็จเชิงพาณิชย์

ไม่กี่เดือนหลังจากที่ไอ้แมงมุมได้ปรากฏตัวครั้งแรกในหนังสือการ์ตูนอแมซซิงแฟนตาซี ฉบับที่ 15 (สิงหาคม พ.ศ. 2505) มาร์ติน กู๊ดแมน จากฝ่ายการพิมพ์ของมาร์เวลคอมมิคส์ ก็ได้พบว่า หนังสือการ์ตูนฉบับดังกล่าวนั้นได้กลายเป็นหนึ่งในหนังสือการ์ตูนของมาร์เวลที่มียอดขายสูงที่สุด[21] ต่อมา ไอ้แมงมุมก็ได้มีหนังสือการ์ตูนชุดเป็นของตนเอง โดยเริ่มต้นที่ “ดิอแมซซิงสไปเดอร์แมน” ฉบับที่ 1 (มี.ค. 2506) เป็นอันดับแรก ซึ่งต่อมาหนังสือการ์ตูนชุดนี้ก็ได้กลายเป็นหนังสือการ์ตูนชุดที่มียอดขายสูงที่สุดของมาร์เวลไปอีกเช่นกัน[22] และจากการสำรวจคะแนนเสียงนักศึกษามหาวิทยาลัยของสำนักเอสไควร์ (Esquire) เมื่อปี พ.ศ. 2508 ว่าใครเป็นสัญลักษณ์ในดวงใจที่มี “ความขบถ” อยู่ในตัว ของพวกเขามากที่สุด ก็ปรากฏว่า อันดับที่ 1 ก็คือไอ้แมงมุม ส่วนอันดับถัดลงมานั้น ก็คือ มนุษย์ยักษ์จอมพลัง (The Hulk) ที่เป็นตัวการ์ตูนจากสังกัดมาร์เวลเหมือนกัน นอกจากนั้นยังมีบ็อบ ดีแลน และเช เกบารา ติดอันดับอยู่ด้วย นักศึกษาผู้หนึ่งได้กล่าวถึงเหตุผลที่ลงคะแนนให้ไอ้แมงมุมว่า เพราะเขาถูก “ห้อมล้อมด้วยความทุกข์ ปัญหาทางด้านการเงิน และความสงสัยเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ ซึ่งพิจารณาให้ดีแล้ว เขาก็คือหนึ่งในพวกเรานั่นเอง”[23]

หลังจากที่ดิอแมซซิงสไปเดอร์แมนวางจำหน่ายถึงฉบับที่ 39 สตีฟ ดิตโก ก็ได้ยุติการวาดการ์ตูนชุดนี้ไป โดยผู้ที่มารับหน้าที่นี้ในระยะต่อมาก็คือ จอห์น โรมิตา ซีเนียร์ (John Romita, Sr.)

ในปี พ.ศ. 2513 แม้ว่าจะมีกฎห้ามไม่ให้พรรณนาเนื้อหาที่เกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ว่าจะในแง่บวกหรือลบ ผ่านสื่อหนังสือการ์ตูนก็ตาม กระทรวงสาธารณสุข ศึกษาธิการ และสวัสดิการของสหรัฐอเมริกา ก็ได้ขอร้องให้สแตน ลี ช่วยเพิ่มเนื้อหาที่เกี่ยวกับการรณรงค์ต่อต้านยาเสพติดลงไปในหนังสือการ์ตูนที่ประสบความสำเร็จด้านการขายเรื่องใดเรื่องหนึ่งของมาร์เวลให้[24] ซึ่งลีก็ตอบรับ และได้เลือกดิอแมซซิงสไปเดอร์แมน ฉบับที่ 96 ถึง 98 (พ.ค.ก.ค. 2514) ในการเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับผลเสียของการเสพยาเสพติดลงไป โดยในเนื้อเรื่องส่วนนี้ เป็นการกล่าวถึงแฮร์รี ออสบอร์น (Harry Osborn) เพื่อนของปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ (ไอ้แมงมุม) ที่ไปติดยาเสพติดจนทำให้ร่างกายทรุดโทรมลง ในขณะเดียวกันนั้น ก็เป็นช่วงที่ไอ้แมงมุมต้องต่อสู้กับกรีนกอบลิน (Green Goblin, หรือนอร์แมน ออสบอร์น (Norman Osborn) บิดาของแฮรี) อยู่พอดี สุดท้ายไอ้แมงมุมก็สามารถเอาชนะกรีนกอบลินได้ด้วยการให้นอร์แมนได้เห็นลูกชายของตนเองที่กำลังเจ็บป่วยเพราะพิษยาเสพติดอยู่

ในปี พ.ศ. 2515 ไอ้แมงมุมได้ปรากฏตัวร่วมกับตัวการ์ตูนอื่น ๆ ของมาร์เวลในหนังสือการ์ตูนชุด “มาร์เวลทีมอัพ” (Marvel Team Up)

ในปี พ.ศ. 2519 มาร์เวลได้ออกหนังสือการ์ตูนชุดของไอ้แมงมุมมาเป็นชุดที่สอง โดยใช้ชื่อว่า “ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์, เดอะสเปคแทคูลาร์สไปเดอร์แมน” (Peter Parker, The Spectacular Spider-Man) ซึ่งได้วางจำหน่ายไปพร้อมกับดิอแมซซิงสไปเดอร์แมน ซึ่งเป็นผลงานชุดแรก

ในปี พ.ศ. 2528 มาร์เวลก็สร้างหนังสือการ์ตูนชุดของไอ้แมงมุมมาเป็นชุดที่สาม โดยใช้ชื่อว่า “เว็บออฟสไปเดอร์แมน” (Web of Spider-Man) ซึ่งได้นำมาจำหน่ายแทนชุดมาร์เวลทีมอัพที่ยุติการสร้างไป

ในปี พ.ศ. 2533 ก็มีการวางจำหน่ายหนังสือการ์ตูนชุดของไอ้แมงมุมเป็นชุดที่สี่ โดยคราวนี้ผู้ที่มาเขียนบทและวาดให้คือศิลปินผู้โด่งดังที่ชื่อ ทอดด์ แมคฟาร์เลน (Todd McFarlane) ซึ่งการ์ตูนชุดนี้ สามารถเปิดตัวด้วยยอดขายที่สูงถึง 3 ล้านเล่มด้วยกัน[25] นอกจากนั้น ยังมีการ์ตูนไอ้แมงมุมอีกอย่างน้อย 2 ชุดที่วางจำหน่ายตลอด

นอกจากจะเป็นตัวละครเอกในชุดของตนเองแล้ว ไอ้แมงมุมยังได้ปรากฏตัวอยู่ในหนังสือการ์ตูนที่ตีพิมพ์ออกมาแบบจำกัดจำนวน และยังได้เป็นแขกรับเชิญในหนังสือการ์ตูนของขอดมนุษย์ตัวอื่นอีกด้วย

เมื่อดิอแมซซิงสไปเดอร์แมนวางจำหน่ายถึงฉบับที่ 441 (พฤศจิกายน พ.ศ. 2541) นักประพันธ์และศิลปิน จอห์น ไบร์น (John Byrne) ก็ได้นำเอาต้นกำเนิดของไอ้แมงมุมมาปรับปรุงใหม่ และนำไปสร้างเป็นหนังสือการ์ตูนชุดพิเศษที่ชื่อ “สไปเดอร์แมน: แชปเตอร์วัน” (Spider-Man: Chapter One, ธันวาคม พ.ศ. 2541 – ตุลาคม พ.ศ. 2542)

ในเดือนมกราคม พ.ศ. 2542 ดิอแมซซิงสไปเดอร์แมนก็ได้เริ่มวางจำหน่ายชุดที่ 2 มาเป็นฉบับแรก ซึ่งเมื่อวางจำหน่ายถึงฉบับที่ 59 ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2546 จำนวนหนังสือการ์ตูนดิอแมซซิงสไปเดอร์แมนทั้งชุดที่ 1 และ 2 ก็มีจำนวนรวมกันถึง 500 ฉบับพอดี

หน้าปกหนังสือการ์ตูน "มาร์เวลแอดเวนเจอร์สไปเดอร์แมน" ฉบับที่ 1

ในปี พ.ศ. 2550 ไอ้แมงมุมได้ปรากฏตัวอยู่ในหนังสือการ์ตูนชุดต่าง ๆ ของมาร์เวลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ดิอแมซซิงสไปเดอร์แมน, นิวอเวนเจอร์ส (New Avengers), เดอะเซนเซชันแนลสไปเดอร์แมน (The Sensational Spider-Man), เฟรนลีเนเบอร์ฮูดสไปเดอร์แมน (Friendly Neighborhood Spider-Man) , สไปเดอร์แมนแฟมิลี (Spider-Man Family) , ดิอแมซซิงสไปเดอร์เกิร์ล (The Amazing Spider-Girl), อัลทิเมต สไปเดอร์-แมน (Ultimate Spider-Man), สไปเดอร์แมนเลิฟส์แมรี เจน (Spider-Man Loves Mary Jane), มาร์เวลแอดเวนเจอรส์สไปเดอร์แมน (Marvel Adventures Spider-Man) และมาร์เวลแอดเวนเจอรส์: ดิอเวนเจอรส์ (Marvel Adventures: The Avengers) นอกจากนั้น ยังรวมไปถึงหนังสือการ์ตูนชุดอื่น ๆ ที่ขายอย่างจำกัดจำนวนของมาร์เวลอีกด้วย

ในปัจจุบันนี้ ไอ้แมงมุมได้กลายมาเป็นตัวการ์ตูนที่สำคัญของมาร์เวล และมักจะถูกนำมาใช้เป็นตัวนำโชคประจำบริษัทอยู่บ่อย ๆ โดยในครั้งที่มาร์เวลได้เข้าสู่ตลาดหุ้นของสหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2534[26] วารสารวอลล์สตรีท (Wall Street Journal) ก็ได้ตั้งหัวข้อข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ว่า “ไอ้แมงมุมบุกวอลล์สตรีทแล้ว” (Spider-man is coming to Wall Street) และในวันที่มีการโปรโมทหุ้นของบริษัท สแตน ลี พร้อมด้วยนักแสดงที่ใส่ชุดไอ้แมงมุมก็ได้เดินทางไปร่วมโปรโมทกันที่ตลาดหุ้นด้วย[27]

หลังจากที่เกิดเหตุการณ์ก่อความไม่สงบในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 มาร์เวลก็ต้องการจะตีพิมพ์เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ผ่านทางการ์ตูนเรื่องหนึ่งของสังกัด ซึ่งสุดท้ายพวกเขาก็ได้เลือกการ์ตูนเรื่องไอ้แมงมุมเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดเรื่องราวเหล่านั้น โดยที่เนื้อเรื่องดังกล่าวอยู่ในหนังสือการ์ตูนชุดดิอแมซซิงสไปเดอร์แมน ฉบับเดือนธันวาคม 2544[28]

ในปี พ.ศ. 2549 หลังจากที่มีข่าวว่า ไอ้แมงมุมจะถอดหน้ากากของตนเองออก เพื่อเผยว่าผู้ที่อยู่ใต้หน้ากากนั้นก็คือปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ในหนังสือการ์ตูนชุด "มาร์เวล: ซิวิลวอร์" (Marvel: Civil War) สื่อมวลชนในโลกแห่งความจริงหลาย ๆ แห่งต่างก็ลงข่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวนี้อย่างพร้อมเพรียงกัน[29] ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กโพสท์ของสหรัฐอเมริกาที่ลงข่าวดังกล่าวนี้หนึ่งหน้ากระดาษหนังสือพิมพ์เต็ม ๆ โดยได้ลงเอาไว้ก่อนที่หนังสือการ์ตูนตอนดังกล่าวจะวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการเสียอีก[30]

ใกล้เคียง

สไปเดอร์-แมน สไปเดอร์แมน: โน เวย์ โฮม สไปเดอร์-แมนในภาพยนตร์ สไปเดอร์แมน: ฟาร์ ฟรอม โฮม สไปเดอร์แมน: โฮมคัมมิ่ง สไปเดอร์-แมน ผงาดสู่จักรวาล-แมงมุม สไปเดอร์-แมน: เดอะวิดีโอเกม สไปเดอร์แมน (ละครชุดทางโทรทัศน์ญี่ปุ่น) สไปเดอร์-แมน: ผงาดข้ามจักรวาลแมงมุม สไปเดอร์-แมน (ไมล์ โมราเลส)