งานวิจัยส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์ในมนุษย์ ของ ส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์

ส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์แบบล่วงล้ำ (Invasive BCI)

ส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์แบบล่วงล้ำ จำเป็นต้องมีการผ่าตัดเพื่อฝังขั้วไฟฟ้าเข้าไปที่เนื้อเทาของสมองใต้หนังศีรษะ ข้อดีคือการได้สัญญาณที่ชัดเจนขึ้น แต่ข้อเสียคือผลข้างเคียงที่เกิดจากการผ่าตัด นอกจากนี้หากร่างกายต่อต้านขั้วไฟฟ้าที่ฝังอาจเกิดผลเสียต่อสุขภาพได้[17]

การมองเห็น

การฝังขั้วไฟฟ้าไปที่สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น สามารถทดแทนฟังก์ชันการมองเห็นที่เสียไปได้ของผู้ป่วยที่ตาบอด ในปี ค.ศ. 1978 วิลเลียม โดเบลล์ นักวิจัยอิสระได้ฝังขั้วอิเล็กโตรด 68 ขั้วเข้าไปที่เปลือกสมองส่วนการเห็นของ "เจอร์รี" ผู้ตาบอด โดเบลล์สามารถสร้างความรู้สึกของการมองเห็นแสง (Phosphene) ขึ้นมาได้สำเร็จ โดยในระบบนั้นมีการติดกล้องเข้าไปที่แว่นตาแล้วส่งสัญญาณไปยังขั้วไฟฟ้าที่อยู่บนสมอง ระบบสามารถทำให้เจอร์รีมองเห็นเฉดของสีเทาได้บ้างแต่ในความละเอียดที่ต่ำ ภาพเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า อุปกรณ์ในช่วงแรกยังใช้คอมพิวเตอร์เมนเฟรมขนาดใหญ่ แต่เมื่อวิวัฒนาการด้านคอมพิวเตอร์เจริญขึ้น อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เล็กลง ทำให้ระบบมีขนาดที่เล็กและคล่องตัวมากขึ้น[18]

ต่อมาในปี ค.ศ. 2002 โดเบลล์เริ่มฝังขั้วไฟฟ้ารุ่นที่สองให้กับเยนส์ เนามันน์ โดยได้พัฒนาขั้วไฟฟ้าให้ดีขึ้น สามารถถ่ายทอดสัญญาณ Phosphenes ไปยังสมองได้ดีขึ้น ทำให้เยนส์กลับมามองเห็นได้ระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม เยนส์และผู้ป่วยคนอื่นๆที่เข้าผ่าตัดในเวลาใกล้เคียงกันนั้นกลับประสบปัญหากับอุปกรณ์ในเวลาต่อมาและสูญเสียการมองเห็นอีกครั้ง นอกจากนี้ เยนส์ยังเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2004[19] ทำให้งานวิจัยไม่ได้มีการบันทึกอย่างชัดเจนและพัฒนาต่ออย่างจริงจัง เยนส์ได้เขียนบันทึกเกี่ยวกับประสบการณ์ในงานวิจัยครั้งนี้ในหนังสือ Search for Paradise: A Patient's Account of the Artificial Vision Experiment[20] และได้กลับบ้านเกิดที่แคนาดา สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ระดับหนึ่ง[21]

การเคลื่อนไหว

การฝังขั้วไฟฟ้าไปที่สมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว สามารถทำให้ผู้ป่วยที่พิการสามารถเคลื่อนไหวหรือขยับอุปกรณ์ที่ช่วยในการเคลื่อนไหวได้ เช่น แขนกลหุ่นยนต์

ในปี ค.ศ. 1998 ฟิลิป เคนเนดี และรอย แบเคย์ นักวิจัยที่มหาวิทยาลัยเอมอรีฝังขั้วไฟฟ้าเพื่อกระตุ้นสมองของจอห์นนี เรย์ ชายผู้ป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมองที่ก้านสมองจนเป็นอัมพาต เรย์เรียนรู้จนสามารถขยับเคอร์เซอร์ของคอมพิวเตอร์ได้ในที่สุด แต่มาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2002 ด้วยโรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง[22]

ในปี ค.ศ. 2005 แมตต์ นาเกิล ผู้ป่วยอัมพาตเป็นบุคคลแรกที่สามารถขยับแขนเทียมโดยใช้ BCI ได้ ขั้วไฟฟ้า 96 ขั้วฝังอยู่ในเปลือกสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวแขนทำให้สามารถขยับแขนหุ่นยนต์ได้เพียงแค่การนึกคิดว่าจะขยับ นอกจากนี้ยังสามารถขยับเคอร์เซอร์คอมพิวเตอร์ เปิดปิดหลอดไฟ และโทรทัศน์ได้[23]

ส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์แบบกึ่งล่วงล้ำ (Partially invasive BCI)

ส่วนต่อประสานแบบกึ่งล่วงล้ำนี้ยังอาศัยการผ่าตัดแต่แทนที่จะฝังขั้วไฟฟ้าไปที่เนื้อเทาของสมอง จะวางขั้วไฟฟ้าที่บนเปลือกสมองแทน สัญญาณที่ได้จะชัดเจนกว่าส่วนต่อประสานแบบไม่ล่วงล้ำและไม่มีความเสี่ยงที่จะเกิดเนื้อเยื่อแผลเป็นที่เกิดจากการที่สมองต่อต้านสิ่งแปลกปลอม จึงมีความปลอดภัยมากกว่าส่วนต่อประสาทแบบล่วงล้ำ

การบันทึกคลื่นไฟฟ้าเปลือกสมอง (Electrocorticography หรือ ECoG) เป็นการวัดกิจกรรมไฟฟ้าภายใต้กระโหลกศีรษะเช่นเดียวกับ EEG แต่ขั้วไฟฟ้าจะฝังอยู่ในแผ่นพลาสติกที่วางอยู่บนเปลือกสมองและใต้เยื่อดูรา[24] มีการทดสอบในมนุษย์ครั้งแรกในปี ค.ศ. 2004 โดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เซนต์หลุยส์ ผู้ป่วยสามารถเล่นเกมสเปซอินเวเดอส์ผ่านทางคลื่นไฟฟ้าเปลือกสมองได้[25] ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยสามารถควบคุมอุปกรณ์ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมีการฝึกฝนที่นาน และน่าจะเป็นจุดสมดุลระหว่างการได้สัญญาณที่ชัดเจนกับระดับในการล่วงล้ำเข้าไปยังสมอง

อย่างไรก็ตาม ขั้วไฟฟ้าเหล่านี้มักไม่ได้ฝังเพื่อการสร้างระบบต่อประสานกับคอมพิวเตอร์เป็นหลัก ผู้ป่วยมักมีปัญหาโรคลมชักมาแต่ก่อนแล้ว แต่ขั้วไฟฟ้าเหล่านี้มักฝังขึ้นชั่วคราวเพื่อให้แพทย์สามารถวินิจฉัยหาบริเวณที่เกิดความผิดปกติในสมองเพื่อผ่าตัดออกไปได้ การพัฒนาระบบ BCI เป็นเพียงผลพลอยได้จากการฝังขั้วไฟฟ้าเหล่านี้[26]

ส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์แบบไม่ล่วงล้ำ (Non-invasive BCI)


ใกล้เคียง

ส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์ ส่วนต้นของกระดูกต้นแขน ส่วนต่อประสานกับผู้ใช้ ส่วนต่อประสานกราฟิกกับผู้ใช้ ส่วนต้นของกระดูกอัลนา ส่วนต่อขยายของรถไฟฟ้าบีทีเอส ส่วนต้นของกระดูกเรเดียส ส่วนตัดต่ำสุด ส่วนต่อประสานโปรแกรมประยุกต์ ส่วนต่อประสานระบบคอมพิวเตอร์ขนาดเล็ก

แหล่งที่มา

WikiPedia: ส่วนต่อประสานสมองกับคอมพิวเตอร์ http://cec.sonus.ca/econtact/14_2/brouse_brainwave... http://cec.sonus.ca/econtact/14_2/gupta-palanappia... http://cec.sonus.ca/econtact/14_2/ouzounian_biomus... http://pediain.com/seminar/brain-computer-interfac... http://www.thewhig.com/2012/11/28/mans-high-tech-p... http://adsabs.harvard.edu/abs/2006Natur.442..164H http://adsabs.harvard.edu/abs/2008JNEng...5...75S http://www.chronicle.pitt.edu/?p=1478 http://web.cs.ucla.edu/~vidal/Real_Time_Detection.... http://www.cs.ucla.edu/~vidal/Real_Time_Detection....