วัฒนธรรมเกี่ยวกับส้วม ของ ส้วมในประเทศไทย

การใช้ส้วมของคนไทย

วัฒนธรรมการใช้ส้วมของคนไทยนั้นแต่เดิมคนไทยจะใช้ท่านั่งยอง ๆ ในสมัยก่อนก็เหมาะกับลักษณะการบริโภคอาหารของคนไทยที่มักกินอาหารประเภทที่ย่อยง่าย กากใยสูง ใช้เวลาไม่นานก็ยังไม่ทันเป็นตะคริว ก็ปฏิบัติภารกิจส่วนตัวเรียบร้อย ส่วนฝรั่งการนั่งยอง ๆ เป็นการไม่สะดวกเพราะอาหารส่วนใหญ่ เป็นเนื้อทำให้ต้องใช้เวลานาน ในระบบขับถ่ายจึงต้องนั่งแบบโถนั่งเหมือนเก้าอี้ ซึ่งพฤติกรรมในปัจจุบันได้เปลี่ยนไป เป็นแบบตะวันตกมากขึ้น เราจึงเห็นส้วมนั่งยอง ๆ มีน้อยลง ในขณะที่ส้วมแบบโถนั่งชักโครก มีจำนวนเพิ่มขึ้นทั้งในเมืองและในส่วนภูมิภาค[37] ซึ่งก็มีคนไทยบางส่วนมีความเคยชินกับการใช้ส้วมแบบนั่งยอง ๆ และพบว่า 22% จะใช้เท้าเหยียบลงบนที่นั่งบนส้วมแบบชักโครก[38][ลิงก์เสีย]

ส่วนเรื่องการต่อคิวส้วมสาธารณะ ในบ้านเรามักจะต่อคิวเข้าแถวเป็นห้อง ๆ แต่ในยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่นและอีกหลายประเทศ เขาจะเข้าคิวเดียวตรงทางเข้าเลย พอห้องไหนว่าง คนแรกในแถวก็เข้าไป การเข้าแบบนี้มีข้อดีหลายอย่างคือ ไม่ต้องรอนานและเป็นไปตามสิทธิ คือ มาก่อน เข้าก่อน[2]

สำนวนไทย

มีสำนวนภาษาไทยที่ใช้ส้วมในคำเปรียบเปรย ซึ่งมีความหมายในแง่ลบ ในสำนวนโบราณ "เป็นขี้เจ็ดเว็จ" มีความหมายว่า "เกลียดที่สุด" เปรียบกับขี้ซึ่งเป็นของน่าเกลียด "เว็จ" หมายถึงส้วม ลำพังขี้เพียงนิดเดียวคนก็เกลียดแล้ว ถ้ามีจำนวนมากถึง "เจ็ดเว็จ" ก็มีความหมายว่า ยิ่งเกลียดมากขึ้น[39]

และยังมีการนำห้องส้วม ในการเปรียบเปรยสิ่งที่น่ารังเกียจ คนโบราณนำไปเปรียบเปรยกับลูกผู้หญิงว่า "มีลูกสาวเหมือนมีส้วมอยู่หน้าบ้าน" กล่าวคือห้องส้วมนั้นส่งกลิ่นเน่าเหม็นอยู่แล้วหากอยู่หน้าบ้านก็จะส่งกลิ่นเหม็นประจานเจ้าของได้ตลอดเวลา เปรียบกับลูกสาวบ้านไหนหากเผลอไม่ดูแลให้ดีก็อาจจะสร้างความอับอายขายหน้าให้แก่พ่อแม่ เช่นการท้องไม่มีพ่อหรือท้องก่อนแต่งซึ่งคนสมัยก่อนถือว่าเป็นเรื่องเสื่อมเสีย[40]

ส้วมในงานประพันธ์

ในส่วนการประพันธ์ มีการเอ่ยถึงส้วมอยู่บ้าง ทั้งในวรรณคดีและบทเพลง จากวรรณคดีเรื่อง ขุนช้างขุนแผน มีกล่าวถึงส้วมอยู่ 2 ตอน คือ ขุนช้างใส่ความขุนแผนว่า เป็นกบฏต่อพระพันวษา ข้อหาหนึ่งในจำนวนนั้นคือ ซ่องสุมผู้คนและบังอาจทำส้วมไว้ในที่อยู่ คือ การมีส้วมอยู่บนบ้านซึ่งสมัยก่อน ไม่นิยมเอาส้วม หรือ "เว็จ" มาไว้ในตัวบ้าน ดังที่ว่า

มันปลูกตำหนักป่าพลับพลาแรม     ค่ายป้อมล้อมแหลมเป็นหน้าฉาน
ตั้งที่ลงบังคนชอบกลการ     นานไปก็จะเกิดกลีเมือง[41]

อีกตอนหนึ่งนางวันทองตัดเป็นตัดตายขุนแผน ตอนหึงนางลาวทอง นางเอกที่หัวใจสลายเพราะผัวรักอย่างวันทอง ยังระบายออกมาด้วยความคั่งแค้นว่า

ทั้งน้ำมันกระจกกระแจะแป้ง     จะทิ้งไว้ให้แห้งเป็นสะเก็ด
ให้สิ้นวายหายชาติของคนเท็จ     จะขุดเว็จฟื้นดินให้สิ้นรอย

จากบทความ "ศรีสำราญ" ในนิตยสารสกุลไทย เขียนโดย จุลลดา ภักดีภูมินทร์ ขยายความไว้ว่า

"ส้วมที่เป็นส้วมหลุม จะอยู่นอกบ้าน พอเต็มก็เอาดินกลบจึงย้ายแล้วปลูกเว็จใหม่ ส้วมที่ขุนแผนถ่ายทุกข์เอาไว้ ตั้งแต่ตอนแต่งงานอยู่กินเป็นผัวเมีย กระทั่งขุนแผนไปราชการงานศึกเป็นแรมปี จนของเสียที่ขุนแผนที่นอกใจถ่ายทิ้งเอาไว้เนิ่นนาน กลมกลืนกลายเป็นเนื้อเดียวกับดินใต้เว็จไปเรียบร้อยแล้ว นางวันทองก็ไม่ละ บอกว่าจะยอมลงทุนลงแรง ขุดดินแล้วพรวนเสียใหม่ กลบร่องกลิ่นรอยเก่าเสียให้สิ้น ไม่ให้มีแม้แต่กลิ่นปฏิกูลของผัวตัวดี ลอยละล่องฟ่องฟุ้งเป็นเสนียดกับบ้านและจมูกของตัวนางวันทองอีกต่อไป"[42]

ส่วนในวัฒนธรรมสมัยนิยม มีผู้ประพันธ์เพลงเกี่ยวกับส้วมอยู่บ้าง เน้นความตลกขบขัน อย่างเพลง "สุขาอยู่หนใด" ขับร้องโดยชัยรัตน์ เทียบเทียม เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง วัยอลวน ภาพยนตร์ไทยในปี 2519 นำแสดงโดย ไพโรจน์ สังวริบุตรและลลนา สุลาวัลย์ เพลง "สุขาอยู่หนใด" ประพันธ์โดย ปิยพล เอนกกุล เป็นเพลงที่ร้องกันเล่น ๆ ในหมู่เพื่อนฝูง เอ๋ ไพโรจน์ได้เอาเพลงนี้มาให้ชัยรัตน์เรียบเรียงใหม่ เล่นกับกีตาร์โปร่งตัวเดียว จากนั้นคุณเปี๊ยก โปสเตอร์ ผู้กำกับ ก็เอาเพลงนี้มาใส่ในภาพยนตร์ด้วย ทำให้เป็นที่นิยมในที่สุด[43]

อีกเพลงหนึ่งที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับส้วมคือเพลง "กู้ส้วม" เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง โกยเถอะเกย์ ของผู้กำกับยุทธเลิศ สิปปภาค นำแสดงโดย เสนาหอย เกียรติศักดิ์ อุดมนาค และ เปิ้ล นาคร เพลงนี้ร้องโดยเสนาหอย และท่อนแร็ปโดยดาจิม และมีเปิ้ล นาคร ที่ช่วยร้อง 2 ประโยค เพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิของเพศ และปัญหาการเข้าห้องส้วมสาธารณะของชาวเกย์ เป็นเพลงที่เน้นความตลกขบขันเป็นหลัก[44]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ส้วมในประเทศไทย http://www.bangkokbiznews.com/bodyheart/20060604/n... http://www.bangkoknightparty.com/html/article_deta... http://www.elib-online.com/doctors3/mental_daughte... http://www.kodmhai.com/Kkat/NKkat/Nkkat-2/Newkkat-... http://www.mthai.com/webboard/5/108305.html http://www.oldsonghome.com/chairat/interview.html http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://news.sanook.com/entertain/entertain_77523.p... http://news.sanook.com/immovable/immovable_54904.p... http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sect...