ส้วมสาธารณะ ของ ส้วมในประเทศไทย

ส้วมสาธารณะ คือ ห้องส้วมในที่สาธารณะหรือสถานประกอบการที่จัดเตรียมไว้ให้ประชาชนทั่วไปใช้บริการ ซึ่งจากอดีตที่ผ่านมาส้วมเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญทางด้านสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และทางกรมอนามัยเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการในเรื่องนี้[20]

มาตรฐานส้วมไทย

ในปี พ.ศ. 2547 กรมอนามัยได้สำรวจส้วมสาธารณะในประเทศไทย 1,100 แห่ง ผู้ใช้บริการ 5,786 คน ใน 20 จังหวัด พบปัญหาทั้งความไม่สะอาดและผู้ใช้ยังใช้ไม่เป็น ส้วมสาธารณะส่วนใหญ่แยกชาย/หญิงร้อยละ 76 ในจำนวนนี้จัดให้คนพิการ 10% มีส้วมสะอาดระดับปานกลาง 58.9% มีส้วมสกปรก 19.5% มีกลิ่นเหม็น 34% ส่วนประเด็นการใช้ส้วมของคนไทยพบว่า 83.6% เคยชินกับการใช้ส้วมแบบนั่งยอง ๆ ราดน้ำ ส่วนชักโครก พบว่า 22.1% จะใช้เท้าเหยียบลงบนที่นั่งหรือยกที่นั่งขึ้นแล้วขึ้นไปเหยียบบนโถส้วม ที่สำคัญคือยังมีคนถึง 6.5% หลังใช้ส้วมแล้วไม่ล้างมือ[21]

จากการสุ่มสำรวจส้วมสาธารณะในประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม 2549สุ่มสำรวจส้วมจำนวนกว่า 6,149 แห่ง ในพื้นที่ 12 จังหวัด อาทิ นนทบุรี ลพบุรี ชลบุรี ราชบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น กำแพงเพชร ฯลฯ ปรากฏว่ามีส้วมที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานสูงถึง 5,993 แห่ง มีปัญหาเรื่องความสะอาด 90% ที่พบมากคือ ถังขยะไม่มีฝาปิด ไม่มีกระดาษชำระหรือสายฉีดน้ำ และไม่มีสบู่ล้างมือ ปัญหาเรื่องความพอเพียงพบ 76% ส่วนใหญ่ไม่มีส้วมสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุและสตรีมีครรภ์ ส่วนเรื่องความปลอดภัยพบปัญหา 69% ไม่มีการแยกส้วมชาย-หญิง พื้นไม่แห้ง และส้วมตั้งอยู่ในที่เปลี่ยว[22][23]

ในปี พ.ศ. 2552 กระทรวงสาธารณสุขประเมินส้วมสาธารณะในประเทศไทย มีส้วมผ่านเกณฑ์เพียง 40.37% จากมาตรฐานประเมินเรื่อง ความสะอาด (Heathy) เพียงพอ (Accessibility) และปลอดภัย (Safety) โดยส้วมที่ผ่านมาตรฐาน แบ่งเป็น ห้างสรรพสินค้า 88.52% โรงพยาบาล 83.11% ส้วมริมทาง 67.02% แหล่งท่องเที่ยว 62.91% สวนสาธารณะ 60.06% ตลาดสด 48.6% สถานที่ราชการ 47.28% โรงเรียน 44.45% ปั๊มน้ำมัน 44.07% สถานีขนส่ง 41.4% ร้านอาหาร 36.15% และวัด 11.75%[24] ในปี พ.ศ. 2554 มีรายงานผลดำเนินงานพัฒนาส้วมสาธารณะไทย มีส้วมสาธารณะสะอาด พอเพียง ปลอดภัย เพียงร้อยละ 55.47 ไม่บรรลุตามเป้าประสงค์ที่ตั้งไว้คือร้อยละ 60[25]

ส้วมสาธารณะในประเทศไทยยังไม่เอื้ออำนวยต่อคนพิการ กรมอนามัยเปิดเผยว่า จากการสำรวจส้วมสาธารณะใน 20 จังหวัด จำนวน 1,100 แห่ง เมื่อปี 2547 พบว่ามีส้วมคนพิการเพียง 10% คือสถานที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น สถานที่ราชการ สถานีขนส่งทุกประเภท โรงแรม สวนสาธารณะ ร้านอาหาร สนามกีฬา สถานบันเทิง และสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ เป็นต้น ไม่มีส้วมสำหรับคนพิการ[26] และส่วนใหญ่ถ้ามีก็ไม่สามารถใช้งานได้ มักใส่กุญแจไว้ หรือใช้เป็นห้องเก็บอุปกรณ์ทำความสะอาดแทน จึงเป็นความยากสำหรับคนพิการในการเดินทางไปไหนมาไหน ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้รณรงค์ขอให้ทุกสถานที่จะต้องมีส้วมสำหรับคนพิการอย่างน้อย 1 ห้อง[27]

การส่งเสริมและรณรงค์

ในปี พ.ศ. 2548 ทางกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (สสปน.) ได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย โดยกำหนดพื้นที่เป้าหมายหลัก 11 ประเภท อาทิ สถานที่ราชการ โรงเรียน โรงพยาบาล ศาสนสถาน สวนสาธารณะ สถานีบริการน้ำมัน ตลาดสด ฯลฯ ด้วยการวางกรอบการพัฒนาไว้ 3 ประเด็น คือ สะอาด เพียงพอ ปลอดภัย และได้มาตรฐาน หรือมีคำย่อว่า "HAS" ซึ่งมาจากคำว่า Healty Accessibility และ Safety[28]

ในปี พ.ศ. 2549 ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ งานประชุมส้วมโลก 2006 หรือ World Toilet Expo & Forum 2006 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ที่อิมแพ็คอารีน่า เมืองทองธานี โดยจะมีผู้แทนจาก 19 ประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ญี่ปุ่น ฮ่องกง จีน อินโดนีเซีย ออสเตรเลีย อินเดีย สิงคโปร์ เวียดนาม เข้าร่วม ซึ่งเป็นงานที่มีการอภิปรายหาแนวทางการแก้ปัญหาเรื่อง "การพัฒนาส้วมสาธารณะ" รวมถึงมีการจัดนิทรรศการแสดงส้วมไทย และส้วมแปลก ๆ ที่มีความสร้างสรรค์ใหม่ ๆ งานครั้งนั้นยังเป็นการสร้างความตระหนักให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง หันมาดูแลส้วมสาธารณะให้ดีขึ้นอีกด้วย[29][30]

นอกจากนั้นกรมอนามัยได้มีโครงการต่าง ๆ เกี่ยวกับส้วมสาธารณะ เช่นโครงการสายสืบส้วม (Toilet Spy) เป็นโครงการที่มีอาสาสมัคร ตัวแทนประชาชนในการเฝ้าระวัง ดูแล ตรวจตราและแจ้งเบาะแสส้วมทั้งที่ได้มาตรฐานให้กรมอนามัยทราบและดำเนินการ[31] และอีกโครงการของกรมอนามัย คือโครงการพัฒนาส้วมสาธารณะไทย พ.ศ. 2549-2551 โดยตั้งหลักชัยอยู่ที่ 3 คำสำคัญคือ สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย มีการลงนามความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้แก่ กรมการปกครอง กรมอุทยานแห่งชาติ และกลุ่มธุรกิจผู้ค้าน้ำมัน[32][ลิงก์เสีย]

แหล่งที่มา

WikiPedia: ส้วมในประเทศไทย http://www.bangkokbiznews.com/bodyheart/20060604/n... http://www.bangkoknightparty.com/html/article_deta... http://www.elib-online.com/doctors3/mental_daughte... http://www.kodmhai.com/Kkat/NKkat/Nkkat-2/Newkkat-... http://www.mthai.com/webboard/5/108305.html http://www.oldsonghome.com/chairat/interview.html http://www.posttoday.com/%E0%B8%82%E0%B9%88%E0%B8%... http://news.sanook.com/entertain/entertain_77523.p... http://news.sanook.com/immovable/immovable_54904.p... http://www.sarakadee.com/web/modules.php?name=Sect...