ความสัมพันธ์กับมนุษย์ ของ หมึกสาย

หมึกสาย เป็นหมึกที่มนุษย์ผูกพันและใช้ประโยชน์มาตั้งแต่โบราณ ด้วยการบริโภคเป็นอาหารเช่นเดียวกับหมึกหรือหอยประเภทอื่น โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปใต้ เช่น กรีซ ที่นั่นจะมีการออกจับหมึกสาย ด้วยการใช้ภาชนะดินเผาคล้ายหม้อทิ้งลงไปในพื้นทะเล ก่อนที่จะกลับมากว้านขึ้นมา หมึกสายก็จะเข้าไปอาศัยอยู่ในนั้น หากหมึกสายไม่ยอมออกมาก็จะมีวิธีไล่ด้วยการใช้น้ำเกลือเข้มข้นสาดเข้าไป จนกระทั่งในอารยธรรมกรีกโบราณ มีภาพจิตรกรรมบนภาชนะดินเผาชนิดต่าง ๆ ปรากฏเป็นรูปหมึกสายอยู่เป็นจำนวนมาก[10] ในขณะที่น่านน้ำไทยมีหมึกสายอยู่ประมาณ 7 ชนิด ได้แก่ Amphioctopus aegina, A. marginatus, A. membranaceus, A. exannulatus, Callistoctopus ornatus, Cistopus indicus, และOctopus cyanea[3] ชาวประมงที่จังหวัดเพชรบุรี มีวิธีการตกหมึกสายด้วยภูมิปัญญาที่คิดขึ้นเอง ซึ่งจะจับได้ดีโดยเฉพาะในยามที่ทะเลมีคลื่นลมแรง ด้วยการใช้เปลือกหอยสังข์ร้อยต่อกันให้ยาวแล้วผูกด้วยเชือก ใช้เวลาจับ 1 คืน อันเป็นภูมิปัญญาที่ส่งต่อผ่านกันมารุ่นต่อรุ่น[11]

หมึกสาย ยังเป็นหมึกอีกชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาบริโภคกันแบบซูชิของอาหารญี่ปุ่น ที่เรียกกันว่า "ทะโกะ" หรือ "ดะโกะ" (ญี่ปุ่น: タコ, だこ; และในหมึกสายขนาดเล็กเรียกว่า "ไอดะโกะ"; あいだこ ส่วนหมึกสายขนาดใหญ่เรียก "ไมดะโกะ"; まいだこ[12]) เช่นเดียวกับอาหารทะเลชนิดอื่น ๆ โดยมักจะผ่านการแล่ให้เป็นชิ้นที่บางขึ้น โดยเฉพาะส่วนหนวด จนกลายเป็นอุตสาหกรรมประมงขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าทางการตลาดสูง มีการส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ มีทั้งการแช่แข็งและบริโภคสด[13]

ในปี ค.ศ. 2017 นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยซองคยูนกวาน ประเทศเกาหลีใต้ ได้ประดิษฐ์แผ่นกาวที่เลียนแบบปุ่มดูดของหนวดหมึกสาย จากการสังเกตเฝ้าพฤติกรรมของหมึกสายเป็นเวลา 2 ปี ผลที่ได้ คือ แผ่นกาวที่ประดิษฐ์จากแผ่นโพลิเมอร์ที่มีความเหนียวและแรงยึดเกาะสูงมาก สามารถยึดเกาะวัสดุต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดีทั้ง ซิลิคอน, แก้ว, วัตถุที่มีพื้นผิวชุ่มชื้น, วัตถุที่อยู่ในน้ำ หรือเปื้อนน้ำมันได้ และยังสามารถดูดวัตถุที่อยู่ในน้ำที่มีน้ำหนักมากถึง 400 กรัมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้มากถึง 10,000 ครั้ง ซึ่งจะมีการพัฒนาต่อไปเพื่อใช้ในวงการแพทย์สำหรับเป็นเทปกาวปิดแผลที่ไม่มีผลระคายเคืองผิวหนังมนุษย์ [14]

นอกจากนี้แล้วในวัฒนธรรมร่วมสมัย หมึกสายยังเป็นหมึกประเภทที่มักปรากฏตัวในรูปลักษณ์ของสัตว์ประหลาดขนาดใหญ่ที่จู่โจมมนุษย์ เช่น นวนิยายวิทยาศาสตร์ หรือภาพยนตร์เรื่องต่าง ๆ อาทิ Twenty Thousand Leagues Under the Sea ของ ฌูล แวร์น เป็นต้น[7]