วงจรชีวิต ของ หมึกสายวงน้ำเงิน

การเรืองแสงของหมึกสายวงน้ำเงินชนิด H. lunulata

จะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียวตลอดวงจรชีวิต เพศเมียจะวางไข่ติดกันเป็นพวง จำนวน 20-300 ฟอง สำหรับชนิด H. lunulata เพศเมียจะกางหนวดอุ้มไข่ไว้และดูแลไข่จนกระทั่งฟักเป็นตัว ส่วนชนิด H. maculosa เพศเมียจะวางไข่ติดกับวัสดุใต้น้ำ ไข่จะใช้เวลาฟักตัวประมาณ 2 สัปดาห์ โดยมีรายงานว่าลูกหมึกชนิด H. maculosa ดำรงชีวิตแบบหน้าดิน ขณะที่ H. lunulata ดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอน แต่จากการทดลองเพาะเลี้ยงลูกหมึกที่ใช้พ่อแม่พันธุ์ที่รวบรวมจากบริเวณทะเลจังหวัดระยอง พบว่าเพศเมียอุ้มไข่ แต่ลูกหมึกมีการดำรงชีวิตแบบแพลงก์ตอน จึงเป็นไปได้ว่าในน่านน้ำไทยมีหมึกสกุลนี้มากกว่า 1 ชนิด หรืออาจเป็นชนิดใหม่ในทางวิชาการ

ด้วยความสวยงามประกอบกับความที่ตัวเล็ก จึงทำให้ หมึกสายวงน้ำเงินเป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาสวยงาม และสัตว์แปลกๆ แต่ทว่าด้วยพิษอันร้ายแรงนี้ จึงทำให้กรมประมงไม่อนุญาตให้นำเข้าหมึกชนิดนี้ในประเทศ แต่ทว่าก็ยังคงมีการลักลอบนำเข้าและเลี้ยงดู ในหน่วยงานราชการก็ยังคงมีการเลี้ยงหมึกสกุลนี้อยู่เพื่อการศึกษา เช่น คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[4]

และในต้นปี ค.ศ. 2016 ก็ปรากฏว่ามีผู้พบหมึกสายวงน้ำเงินปะปนมากับหมึกชนิดอื่น ๆ วางขายบนแผงขายอาหารทะเลในห้างสรรพสินค้าประเภทค้าส่งแห่งหนึ่งทางภาคอีสาน[5]