ความเชื่อและตำนาน ของ หมู่บ้านคุ้งตะเภา

แม้ชาวหมู่บ้านคุ้งตะเภาทั้งหมด จะนับถือพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท แต่ยังคงมีความเชื่อเกี่ยวกับตำนานเรื่องเล่าพื้นบ้านที่เกี่ยวกับศาสนาดั้งเดิม หรือศาสนาผี คือ ความเชื่อเกี่ยวกับภูตผี สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งความเชื่อส่วนใหญ่ในหมู่บ้านคุ้งตะเภามีทั้งความเชื่อในตำนานเล่าขานถึงเหตุการณ์ในอดีต ซึ่งทำให้เกิดมีเจ้าที่หรือเจ้าแม่สิงสถิตย์ในที่นั้น ๆ หรือความเชื่อในสถานที่ต่าง ๆ ในหมู่บ้านว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ตำนานและความเชื่อในหมู่บ้านคุ้งตะเภาที่ยังคงมีอยู่และสูญหายไปแล้วพอประมวลได้ดังนี้

ตำนานเรือสำเภาล่ม-เจ้าแม่สำเภาทอง

ภายในศาลเจ้าแม่สำเภาทอง หน้าประตูศาลาการเปรียญเดิม หลังวัดคุ้งตะเภาในปัจจุบัน

ความเชื่อเรื่องเรือสำเภาล่มมีมาตั้งแต่แรกตั้งหมู่บ้าน ตำนานนี้มีความเกี่ยวข้องกับที่มาของชื่อหมู่บ้านคุ้งตะเภาด้วย สันนิษฐานว่ามีความเชื่อเรื่องตำนานเรือสำเภาล่มมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย ส่วนเรื่องการมีอยู่ของเจ้าแม่สำเภาทองนั้น พึ่งมีในสมัยหลัง

ตำนานเรือสำเภาล่มและเจ้าแม่สำเภาทอง สันนิษฐานว่าเป็นเหตุการณ์จริงและเป็นเจ้าแม่มีตัวตนจริงในประวัติศาสตร์ตามตำนานเรือสำเภาล่มหน้าวัดคุ้งตะเภา จากการสืบค้นเอกสารพบหลักฐานที่อดีตผู้ใหญ่บ้าน บุญช่วย เรืองคำ ได้บันทึกไว้ตามคำบอกเล่า พอสรุปได้ว่า "ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีเรือสำเภาส่งสินค้าลำหนึ่ง ซึ่งมีพี่น้องบิดามารดาเดียวกันสองคนที่อยู่กินกันฉันท์สามีภรรยา ได้ทำมาหากินรับส่งสินค้าขึ้นล่องทางเมืองเหนือ จนวันหนึ่งเรือของสองพี่น้องดังกล่าวได้ล่องแม่น้ำน่านผ่านหน้าวัดคุ้งตะเภาและปรากฏว่ามีลมพายุใหญ่เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถประคองเรือไว้ได้ เรือจึงล่มลงตรงหน้าวัดคุ้งตะเภา [ปัจจุบันเป็นหลังวัด และร่องน้ำน่านบริเวณที่เรือล่มได้ตื้นเขินไปแล้วเพราะแม่น้ำเปลี่ยนทิศทางเดินไปไกลจากวัดมาก] ลูกเรือทั้งปวงหนีขึ้นฝั่งได้ แต่สองพี่น้องได้จมหายไปกับเรือ ทิ้งสมบัติไว้กับเรือนั่นเอง[7]

จากตำนานนี้ทำให้ชาวบ้านคุ้งตะเภาเล่าต่อกันมาว่ามีสมบัติถูกฝังไปพร้อมกับเรือ และมีตำนานเล่าว่าเคยมีคนขุดเจอซากเรือและหีบบรรจุเหรียญเงิน แต่แล้วก็มีอันเป็นไป ทั้งสองตำนานเป็นเรื่องเล่าที่เล่าสืบกันมาช้านาน แต่เจ้าแม่สำเภาทองนั้นเพิ่งจะมาได้รับการเชื่อถือกันในระยะหลัง จากเหตุการณ์ที่พระสงฆ์ในวัดคุ้งตะเภาได้ยินเสียงร้องไห้ของผู้หญิงด้านหลังวัดทุกวันที่มีฝนตกในช่วงเข้าพรรษา และเจ้าแม่ได้เข้าฝันพระสงฆ์ในวัดบอกว่าเสียงผู้หญิงร้องเป็นเสียงคน ๆ เดียวกับที่จมไปกับเรือสำเภาในตำนาน[70] ญาติโยมและพระสงฆ์ในวัดคุ้งตะเภาจึงได้ร่วมกันสร้างศาลให้หลังหนึ่งบริเวณหลังวัด และหลังจากสร้างศาลแล้วก็ไม่ปรากฏเสียงผู้หญิงร้องไห้อีก จนความศรัทธาในเจ้าแม่สำเภาทองได้เสื่อมลงไปบ้างในช่วงหลัง

เจ้าแม่โพธิ์เขียว

เจ้าแม่จุฑามาศ หรือตันยางยักษ์วัดคุ้งตะเภา ขณะนำขึ้นจากแม่น้ำน่าน

เจ้าแม่โพธิ์เขียวเป็นความเชื่อในความมีอยู่ของรุกขเทวดาประจำต้นพระศรีมหาโพธิ์ประจำวัดของหมู่บ้านคุ้งตะเภา โดยเป็นความเชื่อในช่วงหลังจากเหตุการณ์โค่นต้นพระศรีมหาโพธิ์วัดคุ้งตะเภา ซึ่งมีผู้ศรัทธานับถือถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลหลายคน ทำให้มีผู้มาสร้างศาลให้เจ้าแม่หลายศาลตรงบริเวณใกล้กับที่ตั้งต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่ถูกโค่น ปัจจุบันศาลยังตั้งอยู่และยังคงมีผู้มากราบไหว้อยู่เสมอ แม้ต้นพระศรีมหาโพธิ์จะไม่มีอยู่แล้ว[71]

เจ้าแม่จุฑามาศ

เจ้าแม่จุฑามาศ เป็นความเชื่อในความมีอยู่ของรุกขเทวดาหรือเจ้าแม่ประจำต้นยางยักษ์ที่วัดคุ้งตะเภานำขึ้นมาจากท้องแม่น้ำน่าน ซึ่งต้นยางยักษ์วัดคุ้งตะเภานี้เป็นยางนา นำขึ้นมาจากแม่น้ำน่านบริเวณเหนือหมู่บ้านคุ้งตะเภา เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2550 ยาว 8 เมตร 45 เซนติเมตร หรือยาว 23 วา 12 ศอก มีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง 1 เมตร 85 เซนติเมตร ชาวบ้านคุ้งตะเภาบางส่วนนับถือว่ามีเจ้าแม่สถิตย์อยู่ตามความเชื่อของคนทรงเจ้าที่ตั้งชื่อให้ว่า "เจ้าแม่จุฑามาศ"[72]

ต้นยางต้นนี้พบโดยชาวบ้านที่ดำน้ำหาปลาในแม่น้ำน่าน โดยวัดคุ้งตะเภาได้นำขึ้นมาจากแม่น้ำน่านโดยวัตถุประสงค์จะนำมาบูรณะศาลาการเปรียญ[73] แต่ชาวบ้านคุ้งตะเภาส่วนหนึ่งได้ขอร้องให้นำโคนและต้นยางขึ้นมาเก็บรักษาที่วัดคุ้งตะเภาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 ซึ่งยางต้นนี้กินพื้นที่ความยาวกว่าครึ่งของวัดคุ้งตะเภา โดยส่วนโคนต้นที่วางหันไปทางทิศตะวันออกมีลักษณะเหมือนช้างเอราวัณ หรือสามเศียร ปัจจุบันความนิยมในเจ้าแม่จุฑามาศได้เสื่อมลง วัดคุ้งตะเภาจึงได้นำต้นไปบูรณะศาลาการเปรียญ คงเหลือส่วนปลายและโคนต้นไว้ให้ผู้สนใจได้ศึกษา[73]

ป่าไผ่หลวง

ไผ่หลวง ซึ่งในปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่ทุ่งนาของชาวบ้าน ซึ่งได้มีการบอกเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของพื้นที่แห่งนี้

ป่าไผ่หลวงหรือตำนานไผ่หลวง เป็นความเชื่อของคนคุ้งตะเภาและใกล้เคียงที่มีในสถานที่บริเวณกลุ่มป่าไผ่ขนาดใหญ่บริเวณพื้นที่หลังหมู่บ้านคุ้งตะเภา ความเชื่อนี้มีสืบต่อกันมานาน จนหายไปหมดสิ้นหลังจากชาวบ้านบุกรุกป่าไผ่หลวงจนกลายเป็นทุ่งนาเช่นในปัจจุบันเมื่อ 40 กว่าปีก่อน

ไผ่หลวงเป็นพื้นที่ ๆ ชาวบ้านคุ้งตะเภาและใกล้เคียงเมื่อกว่า 40 ปีก่อนลงไปนับถือว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ มีเจ้าที่เจ้าทางคุ้มครองดูแลรักษาอยู่ ซึ่งพอเปรียบเทียบได้กับวังนาคินทร์คำชะโนด ที่จังหวัดอุดรธานี โดยมีตำนานพื้นบ้านเล่าขานมากมายเกี่ยวกับไผ่หลวงแห่งนี้ ซึ่งตำนานส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องราวของนายพรานหรือคนบ้านที่ไปจับสัตว์ในไผ่หลวงแล้วหาทางออกไม่ได้ หรือไปทำลบหลู่ในบริเวณไผ่หลวงจนเกิดมีอันเป็นไปต่าง ๆ นา ๆ แม้ชาวบ้านคุ้งตะเภาส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่พอมีอายุที่ยังทันเห็นป่าไผ่หลวง มักจะมีเรื่องเล่าถึงประสบการณ์ที่ตนเคยพบเหตุการณ์อัศจรรย์ต่าง ๆ ในบริเวณป่าไผ่หลวงนี้[74]

ในอดีต โดยรอบหมู่บ้านคุ้งตะเภาจะเป็นป่าดิบไม่มีคนอาศัย ดังนั้นตำนานไผ่หลวงจึงเป็นเรื่องเล่าที่สำคัญที่บอกให้เห็นว่าในอดีตนั้นบริเวณบ้านคุ้งตะเภามีความอุดมสมบูรณ์มาก ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่ไม่สามารถหากลุ่มต้นไม้รกทึบร่มรื่นเช่นในอดีตได้อีก[75]

เขาหญ้าวัว

เขาหญ้าวัว (ค่ายพระยาพิชัยดาบหัก) ถ่ายข้ามฝั่งแม่น้ำน่าน จากมุมมองหมู่บ้านคุ้งตะเภา

เขาหญ้าวัว หรือเขาเยี่ยววัว, เขายูงงัว ตั้งอยู่กลางค่ายพระยาพิชัยดาบหัก ตำบลท่าเสา มีลักษณะเป็นเนินเขาขนาดเล็กไม่สูงมาก ตัวเขาตั้งอยู่ตรงข้ามวัดคุ้งตะเภาคนละฝั่งแม่น้ำ ในอดีตนั้นตีนเขาหญ้าวัวเคยเป็นที่ตั้งของวัดไทรย้อย (บริเวณประตู 1 ค่ายพระยาพิชัยดาบหัก) ซึ่งหลังจากรัฐบาลได้มาเวนคืนพื้นที่เพื่อสร้างค่ายทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 วัดไทรย้อยได้ย้ายที่ตั้งไปสร้างบริเวณข้างค่ายพระยาพิชัยดาบหัก อันได้แก่ที่ตั้งวัดดอยท่าเสาในปัจจุบัน

เขาหญ้าวัวในปัจจุบัน แม้จะตั้งอยู่ต่างตำบลและอยู่คนละฝั่งแม่น้ำ แต่แม้กระนั้นเขาหญ้าวัวก็ถือว่าเป็นสถานที่สำคัญที่ชาวบ้านคุ้งตะเภาและชาวท่าเสานับถือร่วมกันมานานว่าเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งมีเรื่องราวและตำนานมากมายเกี่ยวกับเขาแห่งนี้ เช่น ตำนานแท่นฤๅษี ถ้ำฤๅษี (ที่สามารถมุดลอดไปออกแม่น้ำน่านได้) เรื่องการมีอันเป็นไปของคนที่เข้าไปทำร้ายสัตว์ที่อาศัยอยู่บนเขา หรือแม้กระทั่งการหลงป่าของนายทหารที่ขึ้นไปลองของบนยอดเขา เป็นต้น[76]

ในปัจจุบัน ค่ายพระยาพิชัยดาบหักคงตั้งค่ายอยู่เพียงเชิงตีนเขาหญ้าวัว โดยไม่ได้ขึ้นไปสร้างสิ่งก่อสร้างถาวรใด ๆ บนยอดเขา ปล่อยให้เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติ[77]

ใกล้เคียง

หมู่บ้านคุ้งตะเภา หมู่บ้านฝาย (จังหวัดอุตรดิตถ์) หมู่บ้านหาดเสือเต้น หมู่บ้านลุ่ม หมู่บ้านป่าขนุน หมู่บ้านสันติคีรี หมู่บ้านหัวหาด หมู่บ้านป่ากล้วย หมู่บ้านกกค้อ หมู่บ้าน (ประเทศไทย)

แหล่งที่มา

WikiPedia: หมู่บ้านคุ้งตะเภา http://maps.google.com/maps?ll=17.65299,100.143802... http://www.multimap.com/map/browse.cgi?lat=17.6529... http://www.rottourthai.com/showthread.php?t=51 http://dictionary.sanook.com/search/dict-th-th-roy... http://www.terraserver.com/imagery/image_gx.asp?cp... http://www.oknation.net/blog/print.php?id=464165 http://www.globalguide.org?lat=17.65299&long=100.1... http://www.wikimapia.org/maps?ll=17.65299,100.1438... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%...