เหตุการณ์สำคัญ ของ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ภายในหอประชุมจุฬาฯ ขณะแสดงดนตรีคลาสสิก
  • วันทรงดนตรี [10]

วันทรงดนตรีเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานแก่คณาจารย์และนิสิตจุฬาฯ ที่ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารีที่ประสูติเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้นิสิตจุฬาฯ เข้าเฝ้าฯ เมื่อวันที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2500 ณ เวทีลีลาศสวนอัมพร ต่อมาพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้รับสั่งกับนายสันทัด ตัณฑนันทน์ หัวหน้าวงดนตรีสากล สโมสรนิสิตจุฬาฯ สมัยนั้นว่าจะนำวงลายครามมาบรรเลงที่จุฬาฯ งานวันทรงดนตรี ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงเริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ที่หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง นอกจากจะทรงดนตรีแล้ว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรยังได้พระราชทานข้อคิดแก่นิสิตจุฬาฯ และพระราชทานความเป็นกันเอง สร้างบรรยากาศอันอบอุ่น สนุกสนานและประทับใจเป็นอย่างยิ่ง พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเสด็จฯ มาทรงดนตรีที่จุฬาฯ ระหว่างปี พ.ศ. 2501 – พ.ศ. 2516 เนื่องจากทรงมีพระราชภารกิจเพิ่มขึ้นจึงไม่ได้เสด็จฯ มาทรงดนตรีที่มหาวิทยาลัยอีก

  • การทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร[11]

กำหนดการของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรในปีนั้นมีว่า ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 เวลา 14.00 น. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเข้าสู่หอประชุม ทรงจุดเทียนชนวนที่แท่นบูชา พลโทมังกร พรหมโยธี นายกสภามหาวิทยาลัยถวายรายงานเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นจึงทูลเกล้าฯ ถวายปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือเป็นปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ใบแรกที่ทูลเกล้าถวายในรัชสมัยของพระองค์

  • พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรพระราชทานพระเกี้ยวองค์จำลองแก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[12]

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยสร้างพระเกี้ยวองค์จำลองจากพระเกี้ยวองค์จริงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเป็นพิจิตรเลขา (สัญลักษณ์ประจำรัชกาล) ประจำพระองค์ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรทรงเจิมและทรงพระสุหร่ายพระเกี้ยวก่อนพระราชทานแก่มหาวิทยาลัยต่อหน้าประชาคมจุฬาฯ ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรประจำปีการศึกษา 2531 เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[13]

  • พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตร

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล เสด็จฯ มาพระราชทานปริญญาบัตรเมื่อวันที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2489 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย[14] นับเป็นการพระราชทานปริญญาบัตรที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยครั้งแรกและครั้งเดียวของรัชกาลนี้

  • สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

วันที่ 29 ตุลาคม พ.ศ. 2539 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ถวายการต้อนรับพระองค์ในพิธีเปิดที่ทำการบริติช เคานซิล (British Council) ประจำประเทศไทย ณ อาคารวิทยกิตติ์ สยามสแควร์ จากนั้นพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งมายังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[15] พร้อมด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี[16] เพื่อรับการถวายการต้อนรับจากประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ ขณะนั้น ศาสตราจารย์กิตติคุณ เกษม สุวรรณกุลเป็นผู้แทนประชาคมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรับเสด็จ ฐานตั้งธงโดยรอบเสาธงชาติของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประดับธงยูเนียนแจ็ก ในการนี้นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกัน "บาก้า" เพื่อถวายพระเกียรติแด่พระองค์บริเวณระเบียงด้านหน้าหอประชุมจุฬาฯ จากนั้นวงดุริยางค์บรรเลงเพลงก็อดเซฟเดอะควีน (God Save the Queen) เป็นการส่งเสด็จ[17][18]

  • สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงได้รับพระราชทานปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทอง หลังพระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[19] ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

  • จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา

นายบิล คลินตัน ประธานาธิบดีสหรัฐ พร้อมด้วยนางฮิลลารี คลินตัน ภริยา เดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เพื่อเข้าร่วมพิธีมอบปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่นายบิล คลินตัน ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[20][21]

นายลินดอน บี. จอห์นสัน ประธานาธิบดีสหรัฐ เดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมด้วยเลดี เบิร์ด จอห์นสัน ภริยา เดินทางมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2510 เพื่อเข้าร่วมพิธีมอบปริญญารัฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์แด่นายลินดอน บี. จอห์นสัน ณ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[22]

  • สถานที่ประกาศผลและมอบรางวัลรางวัลโทรทัศน์ทองคำ

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเคยได้รับเลือกจากชมรมส่งเสริมโทรทัศน์ ให้เป็นสถานที่จัดงานประกาศผลรางวัลโทรทัศน์ทองคำครั้งแรก และได้รับเลือกอีก 5 ครั้ง ในหลายปีถัดมา[23]

  • หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงได้รับพระราชทานศิลปกรรมศาสตรบัณฑิต

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมายังหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อพระราชทานปริญญาบัตรแก่บัณฑิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยประจำปีการศึกษา 2551 ในการนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญาทรงเป็นหนึ่งในบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรในครั้งนี้ด้วย พระองค์ทรงจบการศึกษาศิลปกรรมศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 1 (เหรียญทอง) ภาควิชานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.93 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินมายังจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพร้อมด้วย ท่านผู้หญิงศรีรัศมิ์ สุวะดี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร[24]

  • "กิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad"

วันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558 พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะยังดำรงพระยศเป็นสยามมกุฎราชกุมาร ทรงนำประชาชนไทยปั่นจักรยานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ใน "กิจกรรมปั่นเพื่อพ่อ Bike for Dad" หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ประทับรับรองพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาและสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา[25][26]

  • การบรรยายพิเศษของมาฮาดีร์ บิน โมฮามัด ในโอกาสเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย

วันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2561 มาฮาดีร์ บิน โมฮามัด นายกรัฐมนตรีแห่งสหพันธรัฐมาเลเซีย เดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย และแสดงบรรยายพิเศษ ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย และตอบคำถามอื่น ๆ จากผู้เข้าร่วมงาน โดยอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศ. ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ และคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ดำเนินรายการ หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่จัดกิจกรรมครั้งนี้และถือเป็นการทำหน้าที่รับรองผู้นำรัฐบาลต่างประเทศครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย[27][28]

  • การแสดงปาฐกถาพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส เนื่องในโอกาสการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ

วันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส มุขนายกแห่งคริสตจักรกรุงโรม (Bishop of the Church of Rome) พระประมุขของนครรัฐวาติกัน และผู้นำคริสตจักรโรมันคาทอลิกทั่วโลก เสด็จเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของรัฐบาลไทย ในวาระฉลอง 350 ปี มิสซังสยามและรำลึก 122 ปี แห่งการเสด็จเยือนนครรัฐวาติกันของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระผู้พระราชทานกำเนิดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพระมหากษัตริย์พุทธมามกะพระองค์แรกที่เสด็จเยือนนครรัฐวาติกัน[29]

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยทำหน้าเป็นสถานที่แสดงปาฐกถาพิเศษของสมเด็จพระสันตะปาปาฯ พร้อมทั้งเป็นพื้นที่ให้ผู้แทนศาสนาทุกศาสนาในประเทศไทยได้ร่วมเข้าเฝ้าสมเด็จพระสันตะปาปาฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และแสดงถึงเอกลักษณ์ของสังคมไทยที่เต็มไปด้วยความหลากหลายแต่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ทั้งนี้รัฐบาลไทยและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษา นักวิชาการและประชาชนทั่วไปได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ในฐานะเวทีทางวิชาการที่เปิดกว้างด้วย[30][31]

ใกล้เคียง

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หอประชุมกองทัพเรือ หอประชุมนักบวช หอประชุมมหาวชิราลงกรณ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร หอประชาชน หอประชุมสุวรรณสมโภช หอประชุมฟินแลนเดีย หอพระนาก หอพระธาตุมณเฑียร หอพระแก้ว

แหล่งที่มา

WikiPedia: หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย http://asaconservationaward.com/index.php/2016-06-... http://www.prachachat.net/news_detail.php http://www.arts.chula.ac.th/events/arts96/exhibiti... http://www.cca.chula.ac.th/protocol/graduation-cer... http://www.cu100.chula.ac.th/story-en/promoting-in... http://www.memohall.chula.ac.th/ http://www.memohall.chula.ac.th/article/%E0%B8%9E%... http://www.memohall.chula.ac.th/history/%E0%B8%9B%... http://www.pr.chula.ac.th/index.php/15-article/113... http://www.prm.chula.ac.th/cen28.html