การดำเนินงาน ของ ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น

ห้องควบคุมหลักของเครือข่ายอวกาศห้วงลีก หรือ DSN ที่ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น ในปี 1993

ภายในองค์การนาซา ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น และศูนย์การบินอวกาศก็อดเดิร์ด (Goddard Space Flight Center, GSFC) เป็นสองหน่วยงานที่รับผิดชอบการดำเนินงานภารกิจยานสำรวจอวกาศแบบไร้คนขับทั้งหมดของนาซา โดยหน่วยงานที่เหลือจะเน้นภารกิจการสำรวจอวกาศแบบใช้คนขับ เช่น ศูนย์การบินอวกาศมาร์แชล (Marshall Space Flight Center, MSFC), ศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center, JSC), ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center, KSC) หรือหน่วยงานวิจัยการบินอวกาศ เช่น ศูนย์วิจัยแลงลีย์ (Langley Research Center, LaRC), ศูนย์วิจัยการบินอาร์มสตรอง (Armstrong Flight Research Center, AFRC), ศูนย์วิจัยเอมส์ (Ames Research Center, ARC) และศูนย์วิจัยเกลนน์ (Glenn Research Center)

ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่นดูแลภารกิจการสำรวจอวกาศกว่า 25 ภารกิจ ซึ่งหนึ่งในสามอยู่ระหว่างการพัฒนา งบประมาณที่ใช้ในโครงการมีตั้งแต่ 10 ล้านไปจนถึง 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ยานสำรวจบางลำยังทำงานไปได้อีกหลายทศวรรษ เจพีแอลรู้จักกันดีจากภารกิจยานสำรวจดาวอังคาร แต่แท้จริงแล้วยังมีการทำงานในด้านอื่นๆ อีกมาก ห้องปฏิบัติการมีการพัฒนาการสำรวจทางดาราศาสตร์ การสำรวจทรัพยากรโลก และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ สำหรับใช้ในยานอวกาศหรืออากาศยานอื่นๆ นอกจากนี้ยังรับผิดชอบการดำเนินงานของสถานีสื่อสารซี่งใช้สำหรับติดต่อกับยานสำรวจอวกาศคือเครือข่ายอวกาศห้วงลึก (Deep Space Network, DSN) ซึ่งมีสถานีฐานกระจายอยู่ทั่วโลก และโครงการค้นหาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลก (Near-Earth Object Observations Program) และยังมีการพัฒนากล้องโทรทรรศน์อวกาศอีกด้วย เจพีแอลคอยให้การสนับสนุนด้านเทคนิคแก่ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโลยีอวกาศอื่นๆ เช่น ห้องปฏิบัติการฟิสิกส์ประยุกต์ของมหาวิทยาลัยจอนส์ฮอปกินส์, สถาบันวิจัยตะวันตกเฉียงใต้ (Southwest Research Institute, SwRI), Ball Aerospace & Technologies และแอร์บัส[32]

เจพีแอลนับว่าเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาภารกิจการสำรวจอวกาศในระบบสุริยะโดยใช้ยานสำรวจแบบไร้คนขับ ได้แก่ การสำรวจดาวอังคาร (ยานมาร์สซายน์เอนซ์แล็บบอราทอรี, ยานมาร์เอกซ์พลอเรชันโรเวอร์) การสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอก (ยานกัสซีนี–เฮยเคินส์, ยานกาลิเลโอ) และการสำรวจอุกกาบาตและดาวหาง (ยานดีปอิมแพกต์) อีกทั้งยังมียานสำรวจอวกาศอยู่ระหว่างการพัฒนา เช่น ยานมาร์ส 2020 (Mars 2020), ยานไซคี (Psyche), ยานยูโรปาคลิปเปอร์ (Europa Clipper) เจพีแอลยังได้พัฒนาดาวเทียมสำรวจทรัพยากรโลก (Earth observation satellite) เป้าหมายเพื่อทำการศึกษาวัฏจักรของน้ำ แก๊สในชั้นบรรยากาศ (คาร์บอนไดออกไซด์, โอโซน, ฯลฯ) และพลังงาน (ดาวเทียม GRACE-FO, ดาวเทียมเจสัน-3) ซึ่งเกิดจากความร่วมมือกับหน่วยงานอวกาศอื่นๆ นอกจากนี้ เจพีแอลยังดูแลโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศเพื่อทำการสังเกตรังสีอินฟราเรด และแสงที่มองเห็นได้ เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศสปิตเซอร์ และกล้องโทรทรรศน์อวกาศเคปเลอร์ ที่ทำให้มีการค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบ นอกจากนี้ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ได้แก่ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ WFIRST (Wide Field Infrared Survey Telescope) และยังมีส่วนช่วยในการพัฒนากล้องโทรทรรศน์อวกาศยูคลิด (Euclid) ของยุโรปอีกด้วย[33]

งบประมาณของหน่วยงานทั้งสิ้น 2.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐที่ได้รับในปี 2018 ถูกใช้ไปในโครงการสำรวจดาวอังคาร (ร้อยละ 20), การสำรวจส่วนอื่นของระบบสุริยะ (ร้อยละ 25), ดาราศาสตร์ (ร้อยละ 15), การสำรวจทรัพยากรโลก (ร้อยละ 25) และการดูแลหน่วยงานเครือข่ายอวกาศห้วงลึก หรือ DSN (ร้อยละ 8)[32][34]

ใกล้เคียง

ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น ห้องปฏิบัติการกลาง (ประเทศไทย) ห้องปฏิบัติการ ห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ห้องต้องประสงค์ ห้องรับประทานอาหาร ห้องทดลองของเด็กซ์เตอร์ ห้องเรียนจารชน ห้องราฟาเอล ห้องอำพัน

แหล่งที่มา

WikiPedia: ห้องปฏิบัติการแรงขับเคลื่อนไอพ่น http://www.astronautix.com/c/corporal.html http://www.astronautix.com/s/sergeant.html http://www.astronautix.com/w/wac.html http://www.latimes.com/nation/la-me-qian-xuesen1-2... http://www.nas.edu/history/igy/ http://www.centerforsacramentohistory.org/-/media/... //doi.org/10.1063%2F1.2761801 //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... https://www.space.com/16952-nasa-jet-propulsion-la... https://appel.nasa.gov/wp-content/uploads/2013/05/...