ประวัติ ของ ห้องสารภัณฑ์

คำว่าตู้ (Cabinet) ในทางสถาปัตยกรรมหมายถึง “ห้อง” มิใช้ “ตู้” ที่เป็นเฟอร์นิเจอร์เช่นที่เข้าใจกัน ห้องสารภัณฑ์เริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 แต่การสะสมอย่างง่ายๆ มีมาก่อนหน้านั้นแล้ว ห้องสารภัณฑ์ของสมเด็จพระจักรพรรดิรูดอล์ฟที่ 2 แห่งโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ (ครองราชย์ ค.ศ. 1576-ค.ศ. 1612) ที่ตั้งอยู่ที่ ปราสาทปรากเป็นตู้ที่ไม่มีผู้ใดเทียมได้ทางตอนเหนือของเทือกเขาแอลป์ ที่นอกจากจะทรงใช้เป็นที่หาความสงบจากโลกภายนอก[3] แล้วก็ยังทรงใช้เป็นเครื่องแสดงความมีอำนาจของพระองค์ จากวิธีการจัดตั้งสิ่งที่แสดงอย่างมีความหมาย ต่อราชทูตและขุนนางต่างที่มาเฝ้า[4] พระปิตุลาของพระองค์เฟอร์ดินานด์ที่ 2 อาร์คดยุคแห่งออสเตรียก็ทรงมีห้องสารภัณฑ์ของตนเอง ที่เน้นการสะสมภาพเขียนของผู้มีลักษณะพิการต่างๆ ซึ่งยังคงรักษาไว้โดยแทบจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใน “ห้องศิลปะและสิ่งน่ารู้” (Chamber of Art and Curiosities) ที่ ปราสาทอัมบราส์ในออสเตรีย

ห้องสารภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา แฟร์รันเต อิมเพอราโต (เนเปิลส์ ค.ศ. 1599) ตัวอย่างแรกๆ ของห้องสารภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา

ตัวอย่างแรกของห้องสารภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเป็นภาพพิมพ์ของแฟร์รันเต อิมเพอราโต ที่เนเปิลส์จากปี ค.ศ. 1599 ซึ่งเป็นเครื่องแสดงความมีความรู้จริงของเจ้าของห้องทางด้านความรู้ทางธรรมชาติวิทยา ในภาพทางขวาเป็นชั้นเปิดที่เต็มไปด้วยหนังสือ ที่วางเป็นตั้งๆ ตามแบบการวางหนังสือบนชั้นหนังสือในยุคกลาง หรือวางโดยให้สันหนังสืออยู่ตอนบนเพื่อกันจากฝุ่น ซึ่งไม่เป็นที่น่าข้องใจว่าบางเล่มก็คงจะเป็นหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา เนื้อที่ทุกตารางนิ้วในห้องเต็มไปด้วยสิ่งของต่างๆ ที่รวมทั้ง ปลา หอย สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม โดยมีจระเข้แขวนกลางเพดานกลางห้อง ทางด้านซ้ายของห้องเป็น “studiolo”[5] ที่เป็นตู้ฝังผนัง ด้านหน้าปิดเปิดได้ ภายในเป็นตัวอย่างแร่ธาตุ และสิ่งของต่างๆ อีกมากมาย[6] เหนือตู้รายด้วยนกสตัฟหน้าแผ่นหินฝังตัวอย่าง ที่คงจะเป็นหินอ่อน และแจสเปอร์ หรืออาจจะเป็นลิ้นชักเล็กๆ สำหรับตัวอย่างสิ่งของ ตอนล่างเป็นตู้เก็บกล่องตัวอย่างและโหลเก็บตัวอย่าง

ห้องสารภัณฑ์สองห้องที่มีชื่อเสียงที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ก็ได้แก่ห้องโอลเวิร์ม (Ole Worm) ของโอเลาส์ เวอร์เมียส (ค.ศ. 1588-1654) นายแพทย์และนักสะสมของโบราณชาวเดนมาร์ก และของ อทานาเซียส เคอร์เชอร์ (Athanasius Kircher) (ค.ศ. 1602-1680) ผู้คงแก่เรียนและนักบวชเยซูอิดชาวเยอรมัน ห้องสารภัณฑ์ของคริสต์ศตวรรษที่ 17 สองห้องนี้เต็มไปด้วยสัตว์สตัฟ, เขาสัตว์, งาช้าง, โครงกระดูก, แร่ธาตุ และ สิ่งอื่นๆ ที่น่ารู้น่าเห็นที่สร้างโดยมนุษย์ ที่รวมทั้งประติมากรรมโบราณ, หุ่นกล (automaton) ; ตัวอย่างของใช้ที่เกี่ยวกับชาติพันธุ์วรรณนาต่างๆ จากแดนแปลกแดนไกล สิ่งของเหล่านี้เป็นการสะสมที่ไม่ใช่การสะสมทางหลักวิทยาศาสตร์/ประวัติศาสตร์เช่นที่ทำกันในปัจจุบัน แต่เป็นการสะสมที่ผสมระหว่างสิ่งที่เป็นความจริงและสิ่งที่สร้างความพิศวงให้แก่ผู้ดูที่อาจจะเป็นสิ่งที่คิดขึ้นโดยปราศจากมูลความจริง หรือ รวมทั้งสัตว์จากตำนานลึกลับ เช่นงานสะสมของโอลเวิร์มรวมทั้ง ต้นแกะแห่งทาทารี (Vegetable Lamb of Tartary) ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เชื่อกันว่าออกผลเป็นแกะที่พบกลางทวีปเอเชีย แต่ในขณะเดียวกันโอลเวิร์มก็เป็นผู้ระบุว่างาของนาร์วาฬ (narwhal) เป็นงาของวาฬแทนที่จะเป็นเขาของยูนิคอร์นตามที่เจ้าของผู้อื่นเชื่อกัน ตัวอย่างที่แสดงในห้องสารภัณฑ์มักจะได้มาจากการเดินทางสำรวจ หรือ การเดินทางค้าขาย

A corner of a cabinet, painted by ฟรันส์ แฟรงเค็นผู้เยาว์ (Frans Francken the Younger) ในปี ค.ศ. 1636 แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ควรสะสมของคอผนักสะสมตู้สารภัณฑ์ในสมัยบาโรก

ตู้สารภัณฑ์มักจะเป็นอุปกรณ์ประกอบความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เมื่อมีการพิมพ์ภาพเนื้อหาของห้อง “พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เวอร์มิเนีย” (ค.ศ. 1655) ใช้สิ่งที่สะสมเป็นจุดเริ่มต้นของการเล็งของเวิร์มเกี่ยวกับปรัชญา, วิทยาศาสตร์, ธรรมชาติวิทยา และ อื่นๆ

ในปี ค.ศ. 1587 กาเบรียล คาลเทอมารคท์ให้คำแนะนำแก่คริสเตียนที่ 1 แห่งแซกโซนีสามประการพื้นฐานอันจำเป็นของการสร้างงานสะสมสำหรับ “ตู้สารภัณฑ์” หรืองานสะสมศิลปะ: ประการแรกคือการสะสมประติมากรรม ประการที่สอง “สิ่งที่น่าสนใจจากแดนไกล” และประการที่สาม “หัว, เขา, อุ้งตีน, ขน และสิ่งอื่นๆ ที่เป็นของสัตว์ที่แปลกที่เป็นที่น่ารู้น่าเห็น”[7] เมื่ออัลเบรชท์ ดือเรอร์เดินทางไปเที่ยวในเนเธอร์แลนด์ในปี ค.ศ. 1521 นอกจากงานจิตรกรรมที่ส่งกลับมายังNurembergแล้ว ดือเรอร์ก็ยังส่งสิ่งอื่นที่รวมทั้งเขาสัตว์ ชิ้นปะการัง, ครีบปลาขนาดใหญ่ และอาวุธที่ทำด้วยไม้จากอีสต์อินดีสกลับมาด้วย[8] ลักษณะที่บ่งถึงความสนใจทั่วไปของการสะสมสิ่งของแบบต่างสำหรับตู้สารภัณฑ์เห็นได้จากภาพเขียนโดยฟรันส์ แฟรงเค็นผู้เยาว์ที่เขียนในปี ค.ศ. 1636 แสดงให้เห็นภาพเขียนที่สะสมบนผนังที่มีตั้งแต่ภาพภูมิทัศน์ที่รวมทั้งภาพคืนที่มีพระจันทร์ส่องสว่าง ไปจนถึงภาพเหมือน และ ภาพทางศาสนา (“การชื่นชมของแมไจ”) ผสมเผสกับปลาสตัฟจากประเทศร้อน, สร้อยลูกปัดที่อาจทำจากไพลิน ซึ่งเป็นทั้งอัญมณีอันมีค่าและสิ่งที่น่าสนใจทางธรรมชาติวิทยา ประติมากรรมทั้งฆราวัสศิลป์และศาสนศิลป์

"นาร์วาฬตัวผู้หรือ ยูนิคอร์น"

พิพิธภัณฑ์แอชโมเลียนที่ออกซฟอร์ดได้รับมรดกจากอีไลอัส แอชโมล (Elias Ashmole) ที่มาจากงานสะสมส่วนใหญ่ที่เป็นของจอห์น เทรดสแคนท์ผู้อาวุโส (John Tradescant the elder) และบุตรชาย จอห์น เทรดสแคนท์ผู้เยาว์ (John Tradescant the younger) บางส่วนของงานสะสมยังคงตั้งแสดงอยู่ด้วยกัน ซึ่งเป็นการแสดงถึงภาพพจน์ของความหลายหลายของสิ่งที่สะสม สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ที่สมบูรณ์คือนกโดโด้สตัฟที่ตกไปเป็นของพิพิธภัณฑ์พิทท์ริเวอร์สในคริสต์ศตวรรษที่ 19 แต่งานหัตถกรรมของชาวอเมริกันอินเดียนที่เป็นเสื้อคลุมของชีพเพาว์ฮาทันผู้เป็นพ่อของโพคาฮอนทัสยังเป็นส่วนหนึ่งของงานสะสม

ห้องที่ตกแต่งอย่างงดงามของห้องสารภัณฑ์ฟรานเชสโคที่ 1ใน วังเวคโค, ฟลอเรนซ์

ตู้สารภัณฑ์เป็นสิ่งที่เป็นของผู้มีฐานะดีพอที่จะสะสมและรักษาสิ่งที่แสวงหามาได้ พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ต่างก็มีงานสะสมขนาดใหญ่ เช่นห้องสารภัณฑ์ฟรานเชสโคที่ 1 ที่เป็นของฟรานเชสโคที่ 1 เดอ เมดิชิผู้เป็นแกรนด์ดยุคคนแรกของทัสเคนี พระ เจ้าเฟรเดอริคที่ 3 แห่งเดนมาร์กก็เป็นพระมหากษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ทรงมีงานสะสมขนาดใหญ่ ผู้ทรงผนวกงานสะสมเวอร์เมียสเข้ามาเป็นของพระองค์ หลังจากการเสียชีวิตของเวอร์เมียส ตัวอย่างที่สามก็ได้แก่ พิพิธภัณฑ์คุนสท์คาเมราที่ก่อตั้งขึ้นโดยซาร์ปีเตอร์ที่ 1 แห่งรัสเซียในเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในปี ค.ศ. 1727 สิ่งของที่สะสมหลายชิ้นซื้อมาจากอัมสเตอร์ดัมจากอัลเบอร์ทัส เซบา และ เฟรเดอริค รุยสช์ งานสะสมอันอลังการของราชวงศ์ฮับส์บวร์กรวมงานหัตถกรรมหลายชิ้นของแอซเท็คที่รวมทั้งขนนกประดับพระเศียรหรือมงกุฎของจักรพรรดิม็อคเตซูมาที่ 2 ที่ปัจจุบันตั้งแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในกรุงเวียนนา

งานสะสมที่คล้ายคลึงกันแต่มีขนาดเล็กกว่าก็ได้แก่งานสะสมอันซับซ้อน “Kunstschränke” (ตู้ศิลปะ) ที่สร้างขึ้นเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 โดยพ่อค้า, นักการทูต และ นักสะสมศิลปะชาวออกสเบิร์กชื่อฟิลิปป์ เฮนโฮเฟอร์ งานสะสมที่ว่านี้เป็น “ตู้” ที่เป็นเฟอร์นิเจอร์ที่สร้างจากวัสดุหลากหลายที่ทั้งแปลกและมีราคาสูง และภายในตู้ก็เต็มไปด้วยสิ่งของต่างๆ ที่ตั้งใจที่จะให้เป็นโลกย่อของโลกทั้งหมด งานสะสมที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดีนี้เป็นงานที่ออกสเบิร์กถวายแด่พระเจ้ากุสตาฟ อดอล์ฟัสแห่งสวีเดนในปี ค.ศ. 1632 ที่เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑ์กุสตาฟ ใน อุปซอลา