การควบคุมความทรงจำ ของ อะมิกดะลา

อะมิกดะลาช่วยควบคุมการสร้างเสถียรภาพแก่ความทรงจำ (memory consolidation[18]) คือ โดยปกติ เมื่อมีเหตุการณ์ให้เกิดการเรียนรู้ ความทรงจำระยะยาวจะไม่เกิดขึ้นโดยทันที แต่ข้อมูลความจำนั้นจะย้ายไปอย่างช้า ๆ เข้าไปในระบบความทรงจำระยะยาว (ซึ่งอาจจะใช้เวลาทั้งชีวิต) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นโดยกระบวนการ long-term potentiation[12]ผลงานวิจัยเร็ว ๆ นี้บอกเป็นนัยว่า แม้ว่า อะมิกดะลาจะไม่ใช่เป็นเขตบันทึกความทรงจำระยะยาว และไม่ใช่เป็นเขตที่ขาดไม่ได้ในการเรียนรู้ บทบาทของอะมิกดะลาอย่างหนึ่งก็คือ ควบคุมการสร้างเสถียรภาพแก่ความทรงจำในเขตสมองอื่น ๆ[19] อีกอย่างหนึ่ง การปรับสภาวะให้เกิดความกลัว[11] ซึ่งเป็นความทรงจำชนิดหนึ่งที่เสื่อมเสียไปเมื่อมีความเสียหายในอะมิกดะลา ก็มีการสื่อเป็นบางส่วนผ่านกระบวนการ long-term potentiation[12] ด้วย[20][21]

ในช่วงเวลาที่มีการสร้างเสถียรภาพของความจำ ระดับความมั่นคงของความจำสามารถแปรไปได้ คือ ความตื่นตัวทางอารมณ์ความรู้สึกที่ติดตามเหตุการณ์ที่เรียนรู้มีอิทธิพลต่อเสถียรภาพของความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ๆนั่นคือ ความตื่นตัวทางอารมณ์ความรู้สึกที่มีกำลังหลังเหตุการณ์ที่เรียนรู้เพิ่มเสถียรภาพของความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น ๆ สำหรับบุคคลนั้น ๆและงานทดลองก็ได้แสดงว่า การให้ฮอร์โมนความเครียด[14]กับหนูทันทีที่เรียนรู้อะไรบางอย่าง เพิ่มความสามารถในการจำสิ่งที่เรียนนั้นได้เมื่อทดสอบภายหลังอีกสองวัน[22]

อะมิกดะลาโดยเฉพาะส่วน basolateral nuclei เป็นตัวสื่อการที่ความตื่นตัวทางอารมณ์ความรู้สึกมีผลกระทบต่อระดับความจำของเหตุการณ์นั้น ๆ ดังที่ปรากฏในห้องทดลองหลายแห่งรวมทั้งของนายเจมส์ แม็คกัฟ[23]ห้องทดลองเหล่านี้ฝึกสัตว์ให้เรียนรู้งานหลายอย่าง แล้วพบว่า ยาที่ฉีดเข้าที่อะมิกดะลาหลังจากบทเรียนมีผลต่อการทรงจำบทเรียนนั้นได้ บทเรียนที่ฝึกรวมทั้งการหลีกเลี่ยงอันตราย ซึ่งหนูจะเรียนความสัมพันธ์ระหว่างการถูกไฟดูดที่เท้ากับพื้นที่ส่วนหนึ่งในกล่องทดลอง และรวมทั้งงานซับซ้อนอื่น ๆ เช่นทางเขาวงกต หรืออ่างน้ำที่มีตัวช่วย ที่หนูต้องเรียนรู้การว่ายน้ำไปที่แท่นเพื่อหนีออกจากน้ำถ้ามียาฉีดเข้าไปเพื่อกระตุ้นอะมิกดะลา สัตว์ทดลองจะมีความจำดีกว่าเกี่ยวกับบทเรียนนั้น[24] และถ้ายาที่ฉีดเข้าไปมีฤทธิ์ระงับการทำงานของอะมิกดะลา สัตว์ทดลองจะมีความจำที่เสื่อมเสียไปเกี่ยวกับบทเรียนนั้น

พระภิกษุผู้เจริญกรุณากรรมฐาน (การฝึกสมาธิโดยใช้ความกรุณา) ปรากฏว่ามีการปรับระดับการทำงานของอะมิกดะลา รวมทั้งส่วน temporoparietal junction และ insular cortex ในขณะที่กำลังอยู่ในสมาธินั้น[25] และเมื่อตรวจสภาวะของสมองโดย fMRI ก็ได้พบว่า การทำงานของ insular cortex ในผู้ฝึกสมาธิที่มีความชำนาญ มีระดับที่สูงกว่าของผู้ที่เริ่มฝึกใหม่[26] ระดับการทำงานที่เพิ่มขึ้นในอะมิกดะลาภายหลังการเจริญสมาธิโดยกรุณากรรมฐาน อาจจะส่งผลให้เกิดความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีขึ้น[27]

ระดับการทำงานของอะมิกดะลาในเวลาที่เข้ารหัสข้อมูลความจำ มีสหสัมพันธ์ (correlation) กับการทรงจำข้อมูลนั้น ๆ แต่ว่า ระดับสหสัมพันธ์นี้ ขึ้นอยู่กับความตื่นตัวทางอารมณ์ความรู้สึกของข้อมูลนั้น ๆข้อมูลที่มีระดับความตื่นตัวทางอารมณ์ความรู้สึกที่สูงกว่า เพิ่มระดับการทำงานในอะมิกดะลา และระดับการทำงานนั้น มีสหสัมพันธ์กับการทรงจำข้อมูลนั้น นิวรอนของอะมิกดะลาแสดงรูปแบบต่าง ๆ ของ neural oscillation[28] ในช่วงที่มีความตื่นตัวทางอารมณ์ความรู้สึกดังเช่น Theta rhythm[29]การทำงานของนิวรอนที่เป็นไปพร้อม ๆ กัน (synchronized) อย่างนี้ อาจจะส่งเสริมให้เกิดสภาพพลาสติกในไซแนปส์ (synaptic plasticity ซึ่งมีบทบาทในการทรงจำไว้ได้) โดยเข้าไปเพิ่มการทำงานร่วมกันระหว่างเขตสมองในคอร์เทกซ์ใหม่ (neocortex) ที่ทำหน้าที่บันทึกความจำ กับโครงสร้างต่าง ๆ ในสมองกลีบข้างที่มีหน้าที่เกี่ยวกับความทรงจำเชิงประกาศ (declarative memory[30])[31]

Rorschach test blot 03

งานวิจัยที่ใช้ Rorschach test[32] blot 03 พบว่า จำนวนคำตอบที่ไม่ซ้ำกันต่อรูปภาพแบบสุ่มนี้ มีความสัมพันธ์กับอะมิกดะลาที่มีขนาดใหญ่กว่านักวิจัยของเรื่องนี้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "เนื่องจากว่า มีรายงานก่อน ๆ ที่แสดงว่า หมู่นักศิลป์ให้คำตอบที่ไม่ซ้ำกันโดยที่คำตอบมีจำนวนสูงกว่าในประชากรที่ไม่ใช่นักศิลป์ สหสัมพันธ์ (correlation) เช่นนี้บอกเป็นนัยว่า ขนาดของอะมิกดะลาอาจจะมีความสัมพันธ์กับระดับความคิดสร้างสรรค์"[33]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อะมิกดะลา http://www.benbest.com/science/anatmind/anatmd9.ht... http://bps-research-digest.blogspot.com/2013/02/ex... http://www.bprcem.com/article/S1521-690X(07) http://www.cell.com/current-biology/retrieve/pii/S... http://www.mercksource.com/pp/us/cns/cns_hl_dorlan... http://www.nature.com/nature/journal/v439/n7078/ab... http://www.nature.com/neuro/journal/vaop/ncurrent/... http://dictionary.reference.com/search?q=amygdala http://www.sciencedaily.com/releases/2004/12/04120... http://www.sciencedaily.com/releases/2006/01/06011...