วิวัฒนาการ ของ อักษรจีนตัวเต็ม

หลักฐานอักษรจารึกบนกระดูกสัตว์ เจี๋ยกู่เหวิน ปัจจุบันเก็บรักษาที่ประเทศเยอรมนี
การวาดด้วยมือเปล่าของอักษรจารึกบนกระดูกสมัยราชวงศ์โจว

หลักฐานที่เก่าแก่ที่สุดของอักษรจีนพบหลักฐานปรากฏมาจากแหล่งโบราณคดีปั้นปอ เมืองซีอานของมณฑลส่านซีทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศจีน สามารถนับย้อนหลังกลับไปได้กว่า 5,000 ปี โดยอยู่ในรูปของอักษรภาพที่สลักเป็นลักษณะรูปวงกลมเสี้ยวพระจันทร์และภูเขาห้ายอดบนเครื่องปั้นดินเผา ซึ่งนับเป็นยุคต้นของศิลปะการเขียนอักษรจีน อักษรภาพที่เก่าแก่ที่สุดในจีน ต่อมาเป็นที่เรียกกันว่า อักษรจารึกบนกระดูกสัตว์ หรือ เจี๋ยกู่เหวิน (甲骨文) เป็นอักษรที่ใช้มีดแกะสลักหรือจารึกลงบนกระดองเต่าหรือกระดูกสัตว์ ปรากฏแพร่หลายในราชวงศ์ชาง เมื่อ 1,300–1,100 ปีก่อนคริสตกาล อักษรที่จารึกบนกระดูกสัตว์ได้พัฒนาไปเป็นอักษรหลอมหรือจารึกบนโลหะหรืออักษรโลหะ หรือจินเหวิน (金文) เป็นอักษรที่ใช้ในสมัยซางต่อเนื่องถึงราชวงศ์โจว (1,100 – 771 ปีก่อนคริสตศักราช) มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ‘จงติ่งเหวิน’ (钟鼎文) หมายถึงอักษรที่หลอมลงบนภาชนะทองเหลืองหรือสำริด เนื่องจากตัวแทนภาชนะสำริดในยุคนั้นได้แก่ ‘ติ่ง’ซึ่งเป็นภาชนะคล้ายกระถางมีสามขา

ต่อมาได้มีการพัฒนาไปเป็นอักษรต้าจ้วน (大篆) ซึ่งอักษรต้าจ้วนเป็นอักษรจีนที่ใช้ตั้งแต่ยุคปลายราชวงศ์โจวตะวันตก เกือบเข้ายุคประมุของค์สุดท้ายของโจวตะวันตก จนถึงยุคชุนชิวจ้านกั๋ว

อักษรจีนได้มีวิวัฒนาการต่อเนื่องมาถึงในสมัยราชวงศ์ฉิน ในรัชสมัยจักรพรรดิจิ๋นซี เสนาบดีหลี่ซือ ได้เปลี่ยนแปลงรูปแบบอักษรโดยย่ออักษรจีนมาเป็นอักษรชุดใหม่ที่เรียกว่า เสี่ยวจ้วน (小篆) โดยย่ออักษรจีนต้าจ้วน อักษรจีนแบบเสี่ยวจ้วนที่เสนาบดีหลี่ซือประดิษฐ์ถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการสมัยจักรพรรดิจิ๋นซี

หลังจากจักรพรรดิจิ๋นซีผนวก6รัฐเข้ากับรัฐฉิน ออกราชโองการให้ดินแดนที่เคยเป็นรัฐทั้ง 6 เปลี่ยนมาใช้อักษรแบบเดียวกันหมด ทุกรัฐต้องใช้อักษรเหมือนกัน โดยใช้เสี่ยวจ้วนที่เสนาบดีหลี่ซือประดิษฐ์ขึ้นใหม่ ก่อนหน้าที่มีอักษรเสี่ยวจ้วน คนจีนใช้อักษรต้าจ้วนเป็นหลัก

อักษรแบบข่ายซู สมัยราชวงศ์ซ่ง

ในสมัยจักรพรรดิจิ๋นซี มีทาสคนนึงนามว่า เฉิงเหมี่ยว (程邈) ประดิษฐ์อักษรชุดหนึ่ง ซึ่งภายหลังอักษรนี้ถูกใช้คู่กับเสี่ยวจ้วนในสมัยราชวงศ์ฉิน และเป็นแบบอักษรมาตรฐานในสมัยราชวงศ์ฮั่นจนถึงยุคสามก๊ก อักษรชุดใหม่ที่ทาสผู้นี้ประดิษฐ์เรียกว่า ลี่ซู (隸書) อักษรลี่ซูพบหลักฐานตั้งแต่สมัยจ้านกั๋ว แต่พบไม่มาก ต่อมาเฉิงเหมี่ยวประดิษฐ์อักษรชุดนี้เพิ่มจนเป็นอักษรที่ใช้คู่กับอักษรเสี่ยวจ้วนของเสนาบดีหลี่ซือ

หลังจากราชวงศ์ฉินถูกโค่นโดยหลิวปัง (劉邦) หลิวปังก่อตั้งราชวงศ์ฮั่น อักษรลี่ซูที่ใช้ในสมัยราชวงศ์ฉินเป็นอักษรจีนมาตรฐานที่ใช้ในยุคราชวงศ์ฮั่นจนถึงยุคสามก๊ก

พจนานุกรมคังซี

ต่อมาอักษรลี่ซูได้พัฒนาไปเป็น อักษรข่ายซู ซึ่งเป็นอักษรแบบเส้นสัญลักษณ์ที่ประกอบกันขึ้น ภายใต้กรอบสี่เหลี่ยม หลุดพ้นจากรูปแบบอักษรภาพของตัวอักขระยุคโบราณอย่างสิ้นเชิงอักษรข่ายซูมีต้นกำเนิดในยุคปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ภายหลังราชวงศ์วุ่ยจิ้น (สามก๊ก) (คริสตศักราช 220 – 316) ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย จากการก้าวเข้าสู่ขอบเขตขั้นก้าวพ้นจากข้อจำกัดของลายเส้นที่มาจากการแกะสลัก เมื่อถึงราชวงศ์ถัง (คริสตศักราช 618 – 907) จึงก้าวสู่ยุคทองของอักษรข่ายซูอย่างแท้จริง อักษรข่ายซูยังเป็นอักษรมาตรฐานของอักษรจีนจวบจนปัจจุบัน

ในสมัยราชวงศ์หมิงได้มีการรวบรวมแบบอักษรจีนดั้งเดิมที่สืบมาจากอักษรข่ายซูไว้ใน สารานุกรมหย่งเล่อ ที่จดบันทึกเกี่ยวกับศาสตร์วิชาต่างๆ จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ในรัชสมัยจักรพรรดิคังซี ได้มีการทำพจนานุกรมรวบรวมอักษรจีนขึ้นอย่างเป็นระบบหรือที่เรียกว่า พจนานุกรมคังซี อักษรจีนได้สืบทอดการใช้จนมาถึงยุคสาธารณรัฐจีนสมัยแผ่นดินใหญ่ ได้ใช้เป็นอักษรทางการหรือเรียกว่า อักษรจีนตัวเต็ม การใช้อักษรจีนตัวเต็มอย่างเป็นทางการได้ยุติลงเมื่อรัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งแห่งสาธารณรัฐจีนแพ้สงครามกลางเมืองจีน ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนปกครองแผ่นดินใหญ่แทนและสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ในยุครัฐบาลคอมมิวนิสต์ได้ประกาศใช้ตัวอักษรจีนตัวย่อที่เตรียมมา ส่วนฝ่ายสาธารณรัฐจีนที่ไปไต้หวันก็ยังคงรักษารูปแบบอักษรจีนตัวเต็มไว้เป็นอักษรทางการและต่อต้านการใช้อักษรจีนตัวย่อ