ทิวทัศน์และสถาปัตยกรรม ของ อัมสเตอร์ดัม

ทิวทัศน์ของใจกลางเมืองเมื่อมองจากอาคารโอสเตอร์โดกสกาเดอไปทางตะวันตกเฉียงใต้

ลักษณะของอัมสเตอร์ดัมเป็นเหมือนเมืองที่กระจายตัวออกเป็นพัดโบราณโดยมีจุดกึ่งกลางอยู่ที่สถานีรถไฟอัมสเตอร์ดัมเซ็นทราลและถนนดัมรัก บริเวณเมืองเก่าคือย่านที่เรียกว่า เดอวัลเลิน (หมายถึง ท่าเรือ) โดยอยู่ทางตะวันออกของถนนดัมรักและมีย่านเรดไลท์ซ่อนอยู่ ทางตอนใต้ของเดอวัลเลินเคยเป็นชุมชนของชาวยิวที่เรียกว่า วาเตอร์โลเพลน

อัมสเตอร์ดัมเมืองเก่าถูกล้อมรอบด้วยคลองสามชั้น ถัดออกไปเป็นย่านยอร์ดันและเดอไปป์ที่เคยเป็นย่านกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ทางใต้มีมิวเซียมเพลนที่มีพิพิธภัณฑ์สำคัญตั้งเรียงรายและโฟนเดิลปาร์กที่กว้างใหญ่ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติกับโยสต์ ฟันเดนโฟนเดิล พื้นที่หลายเขตของอัมสเตอร์ดัมเคยเป็นผืนน้ำมาก่อนและถูกผันน้ำออกเพื่อสร้างเป็นผืนดินการเกษตร สังเกตได้จากการมีคำว่า "เมร์" (meer) ต่อท้ายชื่อ ซึ่งหมายถึง ทะเลสาบ นั่นเอง

คลอง

เฮเรินคราชท์ปรินเซินคราชท์

ระบบคลองในอัมสเตอร์ดัมเกิดจากการวางผังเมืองที่มีแบบแผนในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17[61] พื้นที่ภายในคูคลองทั้งสามชั้นเป็นพื้นที่อยู่อาศัยของชาวเมือง คลองทั้งสามได้แก่ เฮเรินคราชท์ (คลองของลอร์ดผู้ปกครองอัมสเตอร์ดัม) เกเซอร์สคราชท์ (คลองของจักรพรรดิ) และปรินเซินคราชท์ (คลองของเจ้าชาย)[62] นอกจากนี้ยังมีคลองชั้นที่สี่ที่เป็นเหมือนการเรียกรวมๆคลองรอบนอกว่า ซิงเกลคราชท์ (แต่ไม่ใช่คลองซิงเกลที่เป็นคลองดั้งเดิมที่อยู่ใจกลางเมือง)

คลองทำหน้าที่เป็นด่านปราการ ระบบจัดการน้ำ และเส้นทางขนส่งของชาวเมือง มีการสร้างคันดินและเขื่อนดินบริเวณจุดสำคัญของเมืองพร้อมด้วยประตู[63] เริ่มการขุดคลองเมื่อปี ค.ศ. 1613 แล้วเสร็จในปี ค.ศ. 1656 และมีการสร้างอาคารที่อยู่อาศัยเรื่อยมา แต่เดิมมีการวางแผนให้ขุดคลองทางตะวันออกเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมกับแม่น้ำอัมสเติลและอ่าวไอแต่ได้ล้มเลิกแผนไป อย่างไรก็ตาม ในช่งปลายปีที่ผ่านมามีการถมคลองและก่อสร้างขึ้นเป็นถนนและจัตุรัสต่างๆ เช่นที่นิวเวอไซด์สโฟร์บูร์กวัล และ สเปา[64]

การขยายเมือง

หลังจากมีการพัฒนาระบบคลองในศตวรรษที่ 17 การพัฒนาเมืองของอัมสเตอร์ดัมไม่เคยเกินรัศมีของของคลองเป็นเวลาเกือบสองศตวรรษ ต่อมาในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซามูเอล ซาร์ปาตี นักวางผังเมืองได้วางผังของอัมสเตอร์ดัมใหม่โดยดูแบบของปารีสและลอนดอนเป็นหลัก ผังเมืองใหม่ส่งเสริมให้มีการสร้างบ้านเรือน อาคาร และถนนนอกอาณาเขตคลองสามชั้นของอัมสเตอร์ดัมเพื่อพัฒนาสุขอนามัยของชาวเมือง แม้แผนจะไม่ได้ทำให้เมืองเติบโตเท่าไหร่นักแต่ได้มีการสร้างอาคารสาธารณะขนาดใหญ่บริเวณรอบนอก เช่นอาคารปาเลสโฟร์โฟล์กสไฟลท์ (Paleis voor Volksvlijt) อันเป็นหอแสดงสินค้าขนาดใหญ่ที่ถูกไฟไหม้เมื่อปี ค.ศ. 1929[65][66][67]

ต่อมา อัมสเตอร์ดัมได้ว่าจ้าง ยาโคบุส ฟันนิฟตริก และยัน กาล์ฟฟ์ ออกแบบบริเวณพื้นที่วงแหวนรอบนอกรอบอัมสเตอร์ดัม พื้นที่เหล่านี้กลายมาเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกลุ่มผู้ใช้แรงงานในเวลาต่อมา[68]

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง มีการสร้างเมืองใหม่ทางตะวันตก ทางตะวันออกเฉียงใต้ และทางเหนือของอัมสเตอร์ดัมเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนที่อยู่อาศัยของชาวเมือง ให้คนมีบ้านในงบประมาณที่เข้าถึงได้ ย่านที่อยู่อาศัยเหล่านี้มักเป็นอาคารชุด มีพื้นที่สีเขียวอยู่ตรงกลางชุมชน เชื่อมต่อด้วยถนนกว้าง สัญจรด้วยรถยนต์สะดวก

สถาปัตยกรรม

อาคารสเคปฟาร์ตเฮาส์ สถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในรูปแบบโรงเรียนอัมสเตอร์ดัม ออกแบบโดยโยฮัน ฟันเดร์เมย์

สถาปัตยกรรมในอัมสเตอร์ดัมมีประวัติศาสตร์ยาวนาน อาคารที่เก่าแก่ที่สุดคือเอาเดอแกร็ก (โบสถ์เก่า) ใจกลางย่านเดอวัลเลิน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1306 ส่วนอาคารไม้ที่เก่าแก่ที่สุดคือ เฮ็ทเฮาเติเฮยส์ (Het Houten Huys) ใกลักับย่านเบไคน์โฮฟ[69] ก่อสร้างขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1425 และเป็นหนึ่งในสองอาคารไม้ที่ยังหลงเหลืออยู่ในปัจจุบันและมีสถาปัตยกรรมแบบกอทิก

ในคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีการรื้อถอนอาคารไม้และสร้างอาคารอิฐแทนที่ มีการก่อสร้างตึกในรูปสถาปัตยกรรมสมัยฟื้นฟูศิลปวิทยา มีจุดเด่นอยู่ที่หน้าจั่วของหลังคาที่เป็นแบบขั้นบันได สถาปนิกที่โด่งดังในยุคนี้คือเฮนดริก เดอเกย์เซอร์ ผู้ออกแบบเว็สเตอร์แกร็ก (โบสถ์ตะวันตก)[70] จากนั้นในศตวรรษที่ 17 สถาปัตยกรรมบาโรกได้รับความนิยมทั่วยุโรป ประจวบเหมาะกับช่วงเวลายุคทองของเนเธอร์แลนด์ที่ชาวดัตช์มั่งคั่งไปด้วยการค้า สถาปัตยกรรมที่เน้นความโอ่งโถงหรูหรานี้จึงได้รับเสียงตอบรับดีจากชาวเมืองอัมสเตอร์ดัม สถาปนิกที่โดดเด่นในยุคนี้ได้แก ยาค็อบ ฟันคัมเพิน ฟิลิปส์ ฟิงโบนส์ และดาเนียล สตัลแปร์ต[71] นอกจากฟิลิปส์ ฟิงโบนส์จะออกแบบบ้านให้กับพ่อค้าผู้มั่งคั่งแล้วยังเป็นผู้ออกแบบอาคารสำคัญในอัมสเตอร์ดัมอีกมากมาย เช่น พระราชวังหลวงที่ดัมสแควร์ใจกลางเมือง

ต่อมาในศตวรรษที่ 18 สถาปัตยกรรมของเนเธอร์แลนด์ได้รับอิทธิพลมาจากฝรั่งเศสค่อนข้างมาก ต่อมาในปี ค.ศ. 1815 หลังเนเธอร์แลนด์ได้รับเอกราชต่อการปกครองของจักรวรรดิฝรั่งเศส สถาปัตยกรรมก็เปลี่ยนเป็นรูปแบบใหม่ (นีโอ)[72] อาคารโกทิกกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งในรูปแบบสถาปัตยกรรมฟื้นฟูกอทิก ก่อนที่ศิลปะแบบอาร์นูโว ที่เน้นรูปแบบธรรมชาติจะได้รับความนิยมในศตวรรษที่ 19 อันเป็นช่วงเวลาที่อัมสเตอร์ดัมขยายเมืองอย่างรวดเร็ว อาคารสมัยใหม่จึงมีสถาปัตยกรรมแบบนี้ เช่น บ้านเรือนแถบมิวเซียมเพลน

ห้องสมุดสาธารณะอัมสเตอร์ดัม หนึ่งในตัวอย่างของสถาปัตยกรรมในคริสต์ศตวรรษที่ 21

จากนั้น สถาปัตยกรรมแบบอาร์ตเดโคที่เน้นการผสนผสานศิลปะหลากหลายรูปแบบ มีความเป็นสมัยใหม่และมีประโยชน์ทางการใช้สอย เข้ามามีบทบาทในการสร้างอาคารสมัยใหม่ในอัมสเตอร์ดัม มีการพัฒนารูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีเอกลักษณ์เรียกว่า โรงเรียนอัมสเตอร์ดัม (Amsterdamse School) ซึ่งเน้นโครงสร้างอิฐ มีการตกแต่งที่เด่นชัด และบางครั้งมีหน้าต่างและประตูรูปทรงแปลก

โดยรวมแล้ว อาคารสมัยเก่ามักกระจุกรวมอยู่ที่บริเวณใจกลางเมือง ส่วนเมืองใหม่ที่สร้างขึ้นช่วงศตวรรษที่ 19 และ 20 นั้นจะกระจายอยู่รอบนอก

สวนสาธารณะ

อัมสเตอร์ดัมมีสวนสาธารณะ พื้นที่สีเขียว และจัตุรัสอยู่ทั่วเมือง โฟนเดิลปาร์กเป็นสวนที่ใหญ่ที่สุดของเมืองโดยตั้งอยู่ทางใต้ ตั้งชื่อเพื่อเป็นเกียรติกับโยสต์ ฟันเดนโฟนเดิล กวีผู้ยิ่งใหญ่ในศตวรรษที่ 17 มีผู้เยี่ยมชมกว่า 10 ล้านคนต่อปี ภายในสวนยังมีโรงละครกลางแจ้ง นอกจากนี้ ทางใต้ของอัมสเตอร์ดัมยังมีสวนเบียทริกซ์ปาร์ก ที่ตั้งชื่อเพื่อเฉลิมพระเกียรติแด่สมเด็จพระราชินีนาถเบียทริกซ์แห่งเนเธอร์แลนด์ มีการปลูกป่าอัมสเตอร์ดัมเซอโบสทางตะวันออกเฉียงใต้ของเมือง เป็นพื้นที่นันทนาการที่ใหญ่ที่สุดของอัมสเตอร์ดัม มีขนาดราวๆ 3 เท่าของเซ็นทรัลปาร์กในนครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา[73]

แหล่งที่มา

WikiPedia: อัมสเตอร์ดัม http://www.emporis.com/en/wm/ci/bu/sk/li/?id=10075... http://www.holland.com/global/Tourism/Cities-in-Ho... http://geography.howstuffworks.com/europe/geograph... http://www.iamsterdam.com/ http://www.iamsterdam.com/press_room/press_release... http://www.jlgrealestate.com/Samuel_Sarphati/Sarph... http://www.oldest-share.com/ http://www.weatherbase.com/weather/weather-summary... http://www.uncp.edu/home/rwb/Amsterdam_l.html http://ec.europa.eu/culture/our-programmes-and-act...