บรรพบุรุษคนไทย ของ อาณาจักรน่านเจ้า

นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ ภาษาศาสตร์ และมานุษยวิทยาในอดีต เคยมีแนวความคิดว่า คนในอาณาจักรน่านเจ้านั้นน่าจะเป็นคนไทยหรือบรรพบุรุษของคนไทยในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้เนื่องจากอ้างอิงมาจากหลักฐานทางโบราณคดีของจีน อาทิ วิลเลียม เจ.เกดนีย์ นักวิชาการชาวอเมริกัน, ดร.บรรจบ พันธุเมธา และ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร นักวิชาการชาวไทย ได้ข้อสรุปว่าเป็นถิ่นที่คนไทอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งต่อมาได้มีการผสมผสานระหว่างชาติพันธุ์อื่น และอพยพลงมาสู่ดินแดนสุวรรณภูมิอย่างในปัจจุบัน ซึ่งแนวความคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อคราวไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2518[1]

แต่ก็มีข้อแย้งเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน อาทิ ศ.เฟดเดอริก โมต หรือชาลส์ แบกคัส รวมทั้งนักวิชาการชาวไทย ดร.วินัย พงษ์ศรีเพียร มีความเห็นว่าไม่น่าจะใช่เป็นคนไทย โดยอ้างว่าภาษาที่ใช้ในอาณาจักรน่านเจ้าที่ปรากฏในหนังสือหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นในพุทธศตวรรษที่ 15 มีลักษณะคล้ายภาษาในตระกูลทิเบต-พม่า มากกว่า และมีส่วนที่คล้ายภาษาไทยซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษาขร้า-ไทน้อยมาก และวัฒนธรรมการเอาพยางค์สุดท้ายของพ่อมาตั้งเป็นชื่อพยางค์แรกของลูก เช่น พีล่อโก๊ะ เป็น โก๊ะล่อฝง ก็เป็นวัฒนธรรมร่วมกับวัฒนธรรมชาติพันธุ์ที่พูดภาษาตระกูลทิเบต-พม่า ด้วยเช่นกัน

แต่ในประเด็นนี้ ศ.ดร.ประเสริฐ ณ นคร ยังเห็นแย้งว่า ข้อพิสูจน์นี้ยังไม่หนักแน่นพอ เพราะระยะเวลาที่ผ่านไปหลายร้อยปี ธรรมเนียมบางอย่างอาจแปรเปลี่ยนไป โดย ศ.ดร.ประเสริฐ ยังไม่ยอมรับทั้งหมดว่า ผู้คนที่อาศัยอยู่ในอาณาจักรน่านเจ้ามิใช่คนไทย[2]

ใกล้เคียง

อาณาจักรอยุธยา อาณาจักรรัตนโกสินทร์ (สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์) อาณาจักรล้านนา อาณาจักรสุโขทัย อาณาจักรล้านช้าง อาณาจักรธนบุรี อาณาจักรพระนคร อาณาจักรปตานี อาณาจักรโคตรบูร อาณาจักรฟูนาน