ลักษณะทางสถาปัตยกรรม ของ อาสนวิหารโอเติง

บริเวณกลางโบสถ์มรณสักขีนักบุญแซ็งฟอเรียง ภาพเขียนสีน้ำมันโดยฌ็อง-โอกุสต์-ดอมีนิก แอ็งกร์ (ค.ศ. 1834)

แผนผังโดยรวมของอาสนวิหารเป็นทรงกางเขนละติน แบ่งเป็นบริเวณกลางโบสถ์แบบมีทางเดินข้าง แขนกางเขนแบบโถงเดี่ยว และบริเวณร้องเพลงสวดแบบครึ่งวงกลม 3 ด้าน ภายในประกอบด้วยบริเวณกลางโบสถ์และทางเดินข้างละฝั่ง แบ่งเป็นทั้งหมดเจ็ดช่วงเสา ซึ่งแต่ละช่วงกั้นโดยผนังที่มีช่องโค้งสันที่เรียงกันอย่างขนานทั้งสองฝั่ง บริเวณหัวเสาสลักเสลาเป็นลวดสวยงามด้วยลายตามแบบโรมาเนสก์ การรับน้ำหนักของผนังไม่พบการใช้ครีบยันลอยแต่อย่างใดในตอนแรก ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงของการพังทลายลงมา และเพิ่งจะติดตั้งภายหลังในคริสต์ศตวรรษที่ 13 บริเวณโถงทางเข้ามีความหนาสองช่วงเสา และบริเวณด้านบนนั้นเป็นที่ตั้งของหอคอยแฝดซึ่งเป็นงานสร้างใหม่ในสมัยช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19[4] ตามแบบของเดิม (สันนิษฐานจากหอที่ปาแร-เลอ-มอนียาล)[5] และบริเวณจุดตัดกลางโบสถ์มีด้านบนเป็นหอคอยกลางแบบกอทิกซึ่งสร้างในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 บริเวณปลายยอดเป็นไม้กางเขน

บริเวณกลางโบสถ์นั้นแบ่งตามความสูงเป็นทั้งหมด 3 ระดับ ล่างสุดเป็นซุ้มทางเดิน ถัดไปเป็นระเบียงแนบ และบนสุดเป็นช่องรับแสง ซึ่งแต่ละชั้นจะสังเกตได้โดยง่ายจากบัวเชิงตกแต่ง โดยความสูงของบริเวณกลางโบสถ์นี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยการใช้ช่องโค้งสันแบบปลายแหลม ซึ่งในแต่ละช่วงเสาจะแยกกันเป็นสันโค้งจรดบริเวณเพดานในแต่ละช่วง บริเวณแขนกางเขนมีความกว้างเท่ากับสองช่วงเสาของบริเวณกลางโบสถ์ และยื่นออกมาเล็กน้อยจากดานข้าง ช่วงฝั่งทางเข้าด้านในเป็นโถงทางเข้าซึ่งมีช่องโค้งปลายแหลมอยู่เหนือบริเวณประตูทางเข้าคู่[6] บริเวณฐานของระเบียงแนบตกแต่งเป็นบัวเชิงสลักเป็นลายใบกุหลาบ และถัดไปด้านบนเป็นบานหน้าต่างตันทั้งหมด 3 บาน

บริเวณร้องเพลงสวดนั้นก่อสร้างภายหลังราวคริสต์ศตวรรษที่ 15 ในแบบสถาปัตยกรรมกอทิก และงานกระจกสีเป็นงานสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19 และ 20

อีกหนึ่งส่วนที่มีความน่าสนใจได้แก่การตกแต่งบริเวณหัวเสาในแต่ละช่วงเสาอย่างวิจิตรซึ่งเป็นงานของฌีลแบร์[7] สลักเป็นการเล่าเรื่องเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ ตามพระคัมภีร์ อาทิ พระเยซูหนีไปอียิปต์ วันสมโภชพระคริสต์แสดงองค์ เป็นต้น[8]

ฉากประดับแท่นบูชา Noli me tangere (อย่าแตะต้องเรา) เป็นงานชิ้นเดียวในอาสนวิหารที่มีอายุถึงคริสต์ศตวรรษที่ 16 เป็นภาพของมารีย์ชาวมักดาลากับพระเยซูคั่นกลางด้วยต้นไม้ และทรงยกพระหัตถ์ทำท่าทางก่อนที่จะตรัสให้แก่นักบุญมารีย์ชาวมักดาลาว่า "Noli me tangere"

นอกจากนี้ ยังพบงานศิลปะอีกบางส่วน อาทิ ภาพเขียนขนาดใหญ่ของฌ็อง-โอกุสต์-ดอมีนิก แอ็งกร์ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับมรณสักขีและนักบุญแซ็งฟอเรียงแห่งโอเติง ตั้งอยู่ด้านหน้าห้องเก็บเครื่องพิธีภายในอาสนวิหาร อีกชิ้นหนึ่งได้แก่ภาพเขียนชื่อว่า การฟื้นคืนชีพของนักบุญลาซารัส ของฟร็องซัว-โฌแซ็ฟ แอ็ง จิตรกรชาวฝรั่งเศส วาดในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และยังมีภาพพระแม่ระทมทุกข์ ผลงานของแกวร์ชีโน ชาวอิตาลี และภาพพระเยซูสิ้นพระชนม์ ผลงานของดานีเยล ไซเทอร์

  • การฟื้นคืนชีพของนักบุญลาซารัส โดยฟร็องซัว-โฌแซ็ฟ แอ็ง
  • งานกระจกสีบริเวณร้องเพลงสวด
  • บริเวณโถงทางเข้าโบสถ์และออร์แกน
  • เพดานและการตกแต่ง
  • ตัวอย่างงานสลักหัวเสา

ใกล้เคียง

อาสนวิหาร อาสนวิหารน็อทร์-ดามแห่งปารีส อาสนวิหารกลอสเตอร์ อาสนวิหารอัสสัมชัญ อาสนวิหารลิงคอล์น อาสนวิหารนักบุญเปาโล อาสนวิหารแร็งส์ อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล อาสนวิหารโคโลญ อาสนวิหารอาเมียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: อาสนวิหารโอเติง http://france-for-visitors.com/burgundy/morvan/aut... http://www.france-for-visitors.com http://www.sacred-destinations.com/france/autun-ca... http://mydas.ath.cx/bourgogneromane/edifices/autun... http://www.culture.gouv.fr/public/mistral/merimee_... http://en.wikipedia.org/wiki/Regional_characterist... http://fr.wikipedia.org/wiki/Cath%C3%A9drale_Saint... //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%...