ที่มาของชื่อ ของ อำเภอห้วยทับทัน

เดิมน่าจะชื่อว่า "ห้วยทัพทัน" เพราะมีความหมายสอดคล้องตำนานเมืองศรีสะเกษมากกว่า แต่ในปัจจุบันเพี้ยนมาเป็น "ห้วยทับทัน" จากตำนานที่ว่า สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีของไทย เมื่อพระเจ้าเอกทัศครองราชย์อยู่นั้น ได้เกิดอาเพศช้างเผือกแตกโรงหนี แล้วมุ่งหน้ามาทางทิศตะวันออก มาถึงเขตดินแดนเขมรป่าดง (เขตจังหวัดศรีสะเกษและสุรินทร์ในปัจจุบัน) พระเจ้าเอกทัศทรงให้ทหารนายกองออกตามจับช้างเผือก ขบวนทหารร่วมกับหัวหน้ากลุ่มชนชาวเขมรป่าดงที่ชำนาญการจับช้าง ออกตามจับช้างจน "มาทัน" ที่ลำธารแห่งหนึ่งปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภอห้วยทับทัน จึงเห็นตัวช้างแต่ยังจับไม่ได้ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อลำธารที่นายกองจับช้างตามมาทันนั้นว่า ห้วยทัพทัน เพราะกองทัพตามจับช้างมาทันที่นั่น ช้างเผือกวิ่งหนีเลยไปทางทิศใต้ด้านเขาพนมดงรัก จึงไล่ติดตามจนจับช้างเผือกได้ที่เชิงเขาพนมดงรัก ในเขตอำเภอกันทรลักษ์ปัจจุบัน เมื่อนำช้างเผือกมาถึงหมู่บ้านใหญ่บ้านหนึ่งซึ่งเป็นตัวเมืองศรีสะเกษปัจจุบัน ช้างเผือกได้รับบาดเจ็บ พอรักษาพยาบาลช้างจนหายแล้วจึงออกเดินทางนำช้างเผือกส่งถึงกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านเป็นชาวกูยจึงเรียกหมู่บ้านนั้นว่า "บ้านเจียงอี" (ภาษากูย แปลว่า "บ้านช้างเจ็บ") และวัดในหมู่บ้านจึงได้ชื่อว่า "วัดเจียงอี" นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา[2]