ประวัติ ของ อิโต_ฮิโรบูมิ

ชีวิตวัยเยาว์-เข้าเป็นทหาร

อิโต โทชิตสึเกะ (ยืนทางขวา) กับทากาซูงิ ชินซากุ (นั่งกลาง) ผู้นำกองทหารปฏิวัติ "คิเฮไต" แห่งแคว้นโชชู

อิโต ฮิโรบูมิ มีชื่อเดิมว่าโทชิตสึเกะ เป็นบุตรคนโตของครอบครัวชาวนาในเมืองฮางิ แคว้นโชชู (ปัจจุบันอยู่ในจังหวัดยามางูจิ) บิดาชื่อว่า จูโซ มารดาชื่อว่าโคโตโกะ เนื่องจากครอบครัวมีฐานะยากจนมาก จึงต้องส่งโทชิตสึเกะไปเป็นบุตรบุญธรรมของซามูไรระดับล่างในท้องถิ่น ชื่อว่า อิโต นาโอเอมง ตั้งแต่อายุ 12 ขวบ หลังจากเข้าเรียนในโรงเรียนมัตสึชิตะจูกุ ก็ไปเกี่ยวพันกับขบวนการโค่นล้มระบอบโชกุนในสมัยนั้น

ในปี 2405 ขณะที่มีอายุได้ 21 ปี ได้มีส่วนร่วมในการวางแผนลอบสังหารนางาอิ อูตะ ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดที่ให้รัฐบาลทหารรวมตัวกับราชสำนักในเกียวโต (และรักษาระบอบโชกุนเอาไว้) นอกจากนี้ยังเข้าร่วมลอบวางเพลิงสถานกงสุลอังกฤษ จนมีชื่อในฐานะผู้ที่มีแนวคิดต่อต้านต่างชาติ ต่อมาในปี 2406 ได้ไปเรียนต่อที่อังกฤษ (คาดว่าแนวคิดต่อต้านต่างชาติคงจะเบาบางลง หลังจากได้เห็นสภาวะของอังกฤษในช่วงนั้น ที่มีกำลังเหนือกว่าญี่ปุ่นมาก) ดังนั้นเมื่อรู้ข่าวว่าแคว้นของตนกำลังเตรียมทำสงครามกับอังกฤษ ก็รีบกลับประเทศเพื่อหาทางหลีกเลี่ยงสงคราม แต่ไร้ผล เพราะในที่สุดแคว้นโชชูก็ได้ทำสงครามกับอังกฤษ (แน่นอนว่าอังกฤษที่มีเทคโนโลยีเหนือกว่าเป็นฝ่ายได้เปรียบ) และหลังสงครามทำหน้าที่เป็นล่ามในการเจรจาสงบศึก

หลังจากที่กองทัพของแคว้นโชชูทำสงครามกับรัฐบาลโชกุนโทกูงาวะและเป็นฝ่ายได้เปรียบ รัฐบาลของแคว้นโชชูก็ได้แสดงเจตนาที่จะโค่นล้มรัฐบาลโชกุนอย่างชัดแจ้ง ฮิโรบูมิก็ได้เข้าเป็นทหารในกองทัพของแคว้นในช่วงนั้นด้วย กองทัพที่ว่านี้มีส่วนสำคัญที่ทำให้การปฏิรูปเมจิประสบความสำเร็จ

การปฏิรูปเมจิ-นายกฯ คนแรก

หลังจากที่ระบอบโชกุนล่มสลายและเกิดระบอบใหม่ที่มีจักรพรรดิเป็นศูนย์กลางแล้ว โทชิตสึเกะ ซึ่งได้เปลี่ยนชื่อเป็น "ฮิโรบูมิ" ในฐานะเป็นผู้มีอำนาจจากแคว้นโชชู ก็ได้ใช้ความสามารถทางภาษาอังกฤษของตนเองเป็นใบเบิกทางเข้าทำงานในตำแหน่งสำคัญๆ เช่นหัวหน้าสำนักงานการต่างประเทศ ผู้ว่าราชการจังหวัดเฮียวโงะ เจ้ากรมโยธาธิการคนแรก ฯลฯ นับได้ว่าเป็นผู้มีอิทธิพลในรัฐบาลใหม่คนหนึ่ง แต่เนื่องจากมีแนวคิดหัวก้าวหน้าเกินไปในสมัยนั้นและยังไปวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหลายอย่างของรัฐบาล จึงเกิดเหตุขัดแย้งกับโอกูโบะ โทชิมิจิ หนึ่งในผู้มีอิทธิพลในรัฐบาลใหม่ และอิวากูระ โทโมมิ อัครมหาเสนาบดีของรัฐบาลเมจิในสมัยก่อนที่จะตั้งระบบคณะรัฐมนตรี แต่ว่าเนื่องจากฮิโรบูมิสนับสนุนความคิดของโอกูโบะและอิวากูระในเรื่องเกี่ยวกับคาบสมุทรเกาหลีว่า ไม่ควรจะดำเนินนโยบายแข็งกร้าวในตอนนี้ แต่ควรพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศให้เข้มแข็งก่อน จึงได้รับความไว้วางใจจากทั้งสองคนในภายหลัง

คณะการทูตอิวากูระใน พ.ศ. 2414 (จากขวา) โอกูโบะ โทชิมิจิ, อิโต ฮิโรบูมิ, อิวากูระ โทโมมิ, ยามางูจิ นะโอะโยะชิ, คิโดะ ทะกะโยะชิ

หลังจากโอกูโบะถูกลอบสังหาร อิโตได้ดำรงตำแหน่งเจ้ากรมมหาดไทยแทนโอกูโบะ และในที่สุดก็ได้เป็นผู้ที่มีอำนาจทางการเมืองสูงสุดหลังจากเสาหลักของการปฏิรูป 3 คน (คือ โอกูโบะ โทชิมิจิ, ไซโง ทากาโมริ และคิโดะ ทากาโยชิ) เสียชีวิตหมดแล้ว ต่อมาหลังจากรัฐประหารในปีเมจิที่ 14 (2424) ซึ่งทำให้โอกูมะ ชิเงโนบุสูญเสียอำนาจแล้ว อิโตก็เข้ามามีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญ และยังได้เดินทางไปยังยุโรปเพื่อศึกษารัฐธรรมนูญของประเทศพัฒนาแล้วอีกด้วย ต่อมาปี 2428 หลังจากที่เกิดระบบคณะรัฐมนตรี ก็ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนแรก ประธานองคมนตรี และประธานวุฒิสภา (หลังจากนั้นยังได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก 3 ครั้ง รวมเป็น 4 สมัย)

ปี 2443 ก่อตั้งพรรคริกเก็นเซยูไก (立憲政友会) และดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเป็นคนแรก ก่อนหน้าสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่น ได้ชูแนวความคิดว่าไม่ควรทำสงครามโดยตรง แต่ควรเจรจากับรัสเซียเพื่อให้ญี่ปุ่นมีสิทธิเหนือเกาหลีและเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน ญี่ปุ่นจะรับรองสิทธิของรัสเซียเหนือแมนจูเรีย อีกทั้งยังต่อต้านแนวคิดที่ให้ญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรกับอังกฤษเพื่อถ่วงดุลกับรัสเซีย

หลังสงครามดังกล่าว ได้มีส่วนร่วมในการจัดการเรื่องต่าง ๆ หลังสงคราม และกลายเป็นหนึ่งในคณะเก็นโร

ผู้ตรวจราชการเกาหลีคนแรก-ถูกลอบสังหาร

ภาพสุดท้ายของอิโต ฮิโรบูมิ ก่อนถูกลอบสังหารโดยชาวเกาหลีผู้เกลียดชังการปกครองของญี่ปุ่น

หลังจากที่สนธิสัญญาอึลซา ได้รับการลงนามในปี พ.ศ. 2448 แล้ว จักรวรรดิเกาหลีก็กลายเป็นรัฐในอารักขาของญี่ปุ่น อิโตได้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการเกาหลีคนแรก ซึ่งนอกจากจะควบคุมนโยบายการต่างประเทศแล้ว ยังมีอำนาจแทรกแซงกิจการภายในของจักรวรรดิเกาหลีได้ เท่ากับว่าจักรวรรดิเกาหลีได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นแล้วในทางปฏิบัติ

ดังนั้นเมื่อมีความคิดที่จะรวมเกาหลีเข้าเป็นส่วนหนึ่งของญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ และล้มระบอบกษัตริย์ของเกาหลี อิโตจึงต่อต้านความคิดนี้อย่างแข็งขันในตอนแรก แต่หลังจากเผชิญหน้ากับขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นในเกาหลี ในที่สุดอิโตก็ยอมรับแนวคิดดังกล่าว (แต่มีข้อแม้ว่าต้องยืดเวลาปฏิบัติการต่อไปอีกพอสมควร) แนวคิดของอิโต แม้จะแตกต่างกับแนวคิดของฝ่ายที่ยืนยันว่าต้องรวมเกาหลีในประเด็นปลีกย่อยและวิธีการ แต่แนวคิดพื้นฐานนั้นไม่ต่างกัน

จากนโยบายดังกล่าวของอิโต เขาจึงถูกเกลียดชังจากประชาชนเกาหลีเป็นอย่างมาก และนั่นเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกลอบสังหารในที่สุด

อิโตลาออกจากตำแหน่งผู้ตรวจราชการเกาหลีในปี พ.ศ. 2452 และเตรียมจะกลับไปดำรงตำแหน่งประธานองคมนตรี แต่ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน อิโตได้เดินทางไปยังฮาร์บิน โดยมีวัตถุประสงค์ในการเจรจากับรัฐมนตรีกระทรวงการคลังของรัสเซียอย่างไม่เป็นทางการ เกี่ยวกับปัญหาแมนจูเรียและเกาหลี และถูกนักรณรงค์เพื่อเอกราชเกาหลีชื่อว่า อัน จุง-กึน ยิงเสียชีวิตที่สถานีฮาร์บิน เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม (อัน จุง-กึนถูกจับกุมทันที ส่วนผู้ร่วมก่อการอีก 3 คนถูกตำรวจรัสเซียจับกุมภายหลัง หลังจากนั้นทั้ง 4 คนได้ถูกพิจารณาคดีในศาลญี่ปุ่น ณ คาบสมุทรเหลียวตงที่ขณะนั้นเป็นอาณานิคมญี่ปุ่น อัน จุง-กึนถูกตัดสินประหารชีวิต ผู้ร่วมกระทำความผิดคนหนึ่งถูกตัดสินจำคุก 2 ปี อีกสองคนต้องโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน) กล่าวกันว่า พออิโตได้ทราบก่อนเสียชีวิตว่าผู้ที่ยิงตนนั้นเป็นคนเกาหลี ก็พึมพำว่า "ไอ้คนทำนี่มันช่างโง่จริง ๆ ที่มายิงข้า"

รัฐพิธีศพของอิโตจัดขึ้น ณ สวนสาธารณะฮิบิยะ กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน ปีเดียวกัน