โชกุน
โชกุน

โชกุน

โชกุน (ญี่ปุ่น: 将軍 โรมาจิshōgun) เป็นผู้ใช้อำนาจเผด็จการทหารแห่งญี่ปุ่นระหว่าง ค.ศ. 1185–1868 ส่วนใหญ่ในช่วงดังกล่าว โชกุนเป็นประมุขของประเทศในทางพฤตินัย แต่โดยนิตินัยแล้วเขาได้รับการแต่งตั้งจากจักรพรรดิญี่ปุ่นอีกที[1]คำว่า "โชกุน" นั้นแปลว่า "จอมทัพ" ตัดมาจาก "เซอิไทโชกุน" (征夷大将軍) ที่แปลว่า "จอมทัพใหญ่ปราบเถื่อน"[2] เดิมเป็นตำแหน่งผู้นำทัพปราบกลุ่มเอมิชิที่ขัดขืนอำนาจส่วนกลางเมื่อต้นยุคเฮอัง (คริสต์ศตวรรษที่ 7–10)[3] ส่วนคณะเจ้าหน้าที่ของโชกุนนั้นเรียกรวมกันว่า "รัฐบาลโชกุน" (shogunate) หรือ "บากูฟุ" (幕府) ที่แปลว่า "สำนักพลับพลา" เดิมเป็นคำเรียกที่บัญชาการของขุนศึก[4]โชกุนครองอำนาจที่แทบเบ็ดเสร็จเหนือดินแดนญี่ปุ่นโดยใช้วิธีทางทหาร ยกเว้นในยุคคามากูระ (ค.ศ. 1199–1333) เมื่อสิ้นโชกุนมินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ แล้ว ตระกูลโฮโจก็ควบคุมรัฐบาลโชกุนไว้ได้ทั้งหมด โดยสำเร็จราชการแทนโชกุนในฐานะชิกเก็ง (ค.ศ. 1199–1256) และโทกูโซ (ค.ศ. 1256–1333) ทำให้โชกุนตกอยู่ในสภาพเดียวกับจักรพรรดิ คือ เป็นผู้นำแบบหุ่นเชิด ช่วงเวลานี้เรียกว่า "สมัยชิกเก็ง" (執権政治)[5] จนเกิดรัฐประหารล้มล้างตระกูลโฮโจในช่วงคริสต์ทศวรรษที่ 1300 ทำให้โชกุนกลับมาบริหารอำนาจในพระนามาภิไธยอีกครั้ง[5]โชกุนคนสุดท้าย คือ โทกูงาวะ โยชิโนบุ ผู้สละตำแหน่งให้แก่จักรพรรดิเมจิใน ค.ศ. 1867[6]