การกระจายพันธุ์และถิ่นที่อยู่ ของ อีกากินซาก

แผนที่ยุโรปแสดงการกระจายตัวของอีกากินซาก (C. corone) และอีกาหมวกดำ (C. cornix) จากสองฝั่งของยุโรป โดยมีเขตรอยต่อ (เส้นสีขาว) เป็นเส้นแบ่งสองสายพันธุ์

อีกากินซาก (C. corone) และอีกาหมวกดำ (C. cornix) เป็นกาสองสายพันธุ์ที่เป็นญาติใกล้ชิดกันมาก และมีแหล่งกระจายพันธุ์ทั่วยุโรป (แบ่งตามแผนภาพประกอบ) สันนิษฐานว่า เดิมเป็นชนิดเดียวกันแต่อาจแยกถิ่นที่อยู่จากผลของวัฏจักรของธารน้ำแข็งในสมัยไพลสโตซีน ซึ่งทำให้ประชากรกลุ่มหลักเดิมแยกขาดออกจากกันเป็น 2 กลุ่ม และเริ่มวิวัฒนาการให้ลักษณะทางกายวิภาคต่างกัน ที่ชัดเจนที่สุดคือสีขน ต่อมาเมื่อที่สภาพอากาศร้อนขึ้นทั้ง 2 กลุ่มเริ่มขยายแหล่งกระจายพันธุ์อีกครั้งทำให้เกิดการติดต่อกันแบบย่อย ๆ ในบางพื้นที่ (พื้นที่เขตรอยต่อ)[8][9]

เพิลสตราและคณะ (Poelstra, et al) วิเคราะห์เรียงลำดับจีโนมเกือบสมบูรณ์ จากตัวอย่างประชากรนกซึ่งเชื่อว่าอาศัยอยู่ในเขตที่ห่างพอจากพื้นที่เขตรอยต่อของทั้งสองชนิด พบว่าทั้งอีกาสองชนิดมีความเหมือนกันทางพันธุกรรมทั้งในดีเอ็นเอ และในรูปของ mRNA มีการความต่างกันของของจีโนมในสัดส่วนที่น้อยมาก (น้อยกว่า 0.28%) โดยเฉพาะที่อยู่บนโครโมโซมที่ 18 ซึ่งเป็นตัวกำหนกสีขนของอีกาหมวกดำให้มีสีลำตัวที่อ่อนกว่า ซึ่งหมายถึงทั้งสองชนิดสามารถผสมพันธุ์กันได้ และในความเป็นจริงได้เกิดขึ้นบางครั้งในพื้นที่เขตรอยต่อ แต่เนื่องจากไม่ได้ผสมข้ามพันธุ์กันเสียทุกกรณี คือ มีความเป็นไปได้ที่ในพื้นที่เขตรอยต่อ อีกากินซากที่สีดำล้วนผสมกับเฉพาะอีกากินซาก และในทำนองเดียวกันอีกาหมวกดำที่ผสมกับเฉพาะอีกาหมวกดำ คณะผู้วิจัยระบุว่า มีความชัดเจนว่ารูปลักษณ์ภายนอกของอีกาสองชนิดที่ต่างกัน อาจช่วยยับยั้งการผสมข้ามพันธุ์[8][9] สิ่งนี้เป็นการผสมพันธุ์แบบเลือกสรร (assortative mating) แทนที่จะเป็นการคัดเลือกทางนิเวศวิทยา ข้อได้เปรียบของการผสมพันธุ์แบบนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจน แต่อาจเร่งไปสู่การปรากฏตัวของชนิดย่อยใหม่ หรือแม้แต่ชนิดใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และอาจเป็นไปได้ว่าเป็นสายพันธุ์ที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ยังดึงดูดซึ่งกันและกัน และขยายขนาดประชากร

อุนนิกฤษนัน และอาคีรา (Unnikrishnan และ Akhila) เสนอในทางกลับกันว่าเป็นพฤติกรรมชื่นชอบความคล้าย (koinophilia) เป็นคำอธิบายที่ชัดเจนกว่าสำหรับความต้านทานต่อการผสมพันธุ์ข้ามเขตติดต่อ แม้ว่าจะไม่มีอุปสรรคทางสรีรวิทยากายวิภาคหรือพันธุกรรมในการผสมพันธุ์ดังกล่าว[8]

อีกากินซากยังพบได้ในภูเขาและป่าไม้ของญี่ปุ่นและในเมืองต่างๆของญี่ปุ่น[10] และในบราซิลซึ่งสันนิษฐานว่าอาจมาจากผู้ตั้งถิ่นฐานในสมัยอาณานิคมโปรตุเกส

คาดว่าประชากรอีกากินซากทั้งหมดมีจำนวนหลักสิบล้าน จำนวนประชากรที่มากและการกระจายพันธุ์ที่กว้างขวางจึงจัดว่ามีความเสี่ยงต่ำในการสูญพันธุ์ (LC) โดย IUCN[11]