ความสัมพันธ์กับมนุษย์ ของ อีกาโคนปากขาว

เกษตรกรได้สังเกตพฤติกรรมของอีกาโคนปากขาวในไร่นา ประกอบกับผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้ไม่ดีนักหลายฤดูในช่วงต้นคริสต์ทศวรรษที่ 1500 และเข้าใจว่าพวกมันเป็นศัตรูพืช ทำให้ในปี ค.ศ.1532 รัชสมัยกษัตริย์ Henry VIII ได้ออกพระราชบัญญัติศัตรูพืช (Vermin Act) โดยออกคำสั่ง "ให้ทำลายนกประเภทอีกาทัั้งหมด" ซึ่งเป็นการบังคับใช้เพื่อปกป้องพืชผลเฉพาะจากการลงขโมยกินของนกกาเท่านั้น ที่ครอบคลุมสามจำพวกได้แก่ นกกาภูเขาปากแดง (Chough) อีกา (Crow) และอีกาโคนปากขาว (Rook) แต่ถัดมาในรัชสมัย Elizabeth I ได้ผ่าน พระราชบัญญัติเพื่อการอนุรักษ์พืชธัญญาหาร (Act for the Preservation of Grayne) ในปี ค.ศ.1566 ซึ่งได้ยกระดับการบังคับใช้อย่างเข้มงวดและครอบคลุมเป็นวงกว้าง นกจำนวนมากมายหลายชนิดถูกระบุเหมารวมในรายชื่อที่ต้องถูกกำจัด[24]

Francis Willughby กล่าวถึง อีกาโคนปากขาว ใน Ornithology (ค.ศ.1678) ว่า "นกกาเหล่านี้มีกลิ่นสกปรกน่ารังเกียจ และเป็นอันตรายต่อข้าวโพดและธัญพืช ดังนั้นชาวไร่ชาวนาจึงถูกกดดันให้จ้างคนเพื่อบีบแตร จุดประทัด เขย่ากระดิ่ง และแม้กระทั่งด้วยการขว้างปาก้อนหิน เพื่อไล่นกศัตรูพืช”[25] นอกจากนี้เขายังกล่าวว่า "หุ่นไล่กาถูกวางเรียงในทุ่งนา และแต่งตัวตามเครื่องแต่งการของแต่ละท้องถิ่น ซึ่งนกเหล่านี้ไม่กล้าเข้ามาใกล้บริเวณที่ตั้งหุ่นไล่กา"[25] เป็นระยะเวลานานพอสมควรก่อนที่นักธรรมชาติวิทยาผู้ช่างสังเกต เช่น จอห์น เจนเนอร์เวียร์ และ โทมัส เพนแนนต์ จะสังเกตว่าในจำนวนชนิดของนกศัตรูพืชต่างๆ อีกาโคนปากขาว มีคุณค่าต่อธัญพืชมากกว่าการเป็นศัตรูต่อพืช[25]

รังฝูงของอีกาโคนปากขาว มักถูกมองว่าเป็นสิ่งที่น่ารำคาญในชนบทของสหราชอาณาจักร ทำให้ในสมัยนั้นมีการสร้างขนบการยิงลูกนกอีกาโคนปากขาว (เรียกว่า Brancher - นกที่ยังเล็ก บินไม่ได้ และอาศัยการเกาะคอนไม้ กิ่งไม้) เพื่อนำมาประกอบอาหาร พายเนื้อกา (พายเนื้อลูกนกกา) ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายในเรื่องรสชาดแบบเดียวกับพายเนื้อกระต่าย[26]

อีกาโคนปากขาว มีถิ่นที่อยู่ที่กระจายตัวกว้างมาก และมีจำนวนประชากรโดยรวมที่มาก ภัยคุกคามหลักที่นกชนิดนี้เผชิญมาจากการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อเกษตรกรรม การใช้ปุ๋ย ยาฆ่าแมลงและการใช้สารเคมีเคลืิอบเมล็ดพืช การรบกวนโดยการล่าเพื่อทำอาหาร แม้ว่าประชากรนกชนิดนี้ลดลง แต่ไม่ได้เป็นอัตราที่รวดเร็วจนก่อให้เกิดความกังวล ซึ่งสหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ ได้ประเมินสถานะการอนุรักษ์ของอีกาโคนปากขาว ว่า "มีความเสี่ยงต่ำต่อการสูญพันธุ์"