ศัพทมูลวิทยา ของ เกยย้งก๊กเซียงบี๊

สุมล ว่องวงศ์ศรี ให้รายละเอียดเกี่ยวกับเกยย้งก๊กเซียงบี๊ลงในหนังสือ จานอร่อยจากปู่ย่า สูตรโบราณ 100 ปี ไว้ว่า "...เป็นซุปชนิดหนึ่งลักษณะคล้ายกระเพาะปลา คำว่าเกยย้งนั้นน่าจะหมายถึงไก่ ส่วนก๊กเซียงบี้บ้างก็ว่าเป็นเห็ดแห้งของจีนชนิดหนึ่ง หรือบ้างก็ว่าเป็นเมล็ดข้าวของจีนเพราะคำว่าบี้ในภาษาจีนแปลว่าเมล็ดเล็ก ๆ ซึ่งอาจหมายถึงข้าวก็เป็นได้..."[1] ส่วนนริศ จรัสจรรยาวงศ์ (2566) อธิบายว่าชื่อ เกยย้งก๊กเซียงบี๊ ประกอบด้วยคำว่า โกยย้ง (雞蓉) คือ ไก่หย็อง กับคำว่า กั๊วเซียงบี้ (葛仙米) เป็นไซยาโนแบคทีเรียชนิดหนึ่ง พบได้ตามแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ หรือทะเลสาบ สามารถนำมาประกอบอาหารรับประทานได้ ทั้งยังมีคุณสมบัติทางเภสัชกรรม แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร[2] และเว็บไซต์ครัว ระบุว่า "...'Koxianmi’ ซึ่งหมายถึงเห็ดสายพันธุ์ท้องถิ่นจากจีนแผ่นดินใหญ่ ลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ คล้ายไข่ปลาสีดำสนิท เมื่อพ่อค้าชาวจีนนำล่องเรือมาขายจึงจำต้องตากให้แห้งเพื่อความสะดวกและยืดอายุขัยให้ยาวขึ้น"[1]

ส่วนชื่อ เกาเหลาก๊กเซียงบี๊ นั้น คำว่า เกาเหลา (高樓) เป็นคำที่ใช้เรียกแกงไทยชนิดหนึ่งที่ได้รับอิทธิพลจากจีน หรือก๋วยเตี๋ยวที่ไม่ใส่เส้น และไม่มีอยู่ในรายชื่ออาหารจีน[6] เจริญ เพชรรัตน์ (2555) อธิบายว่า มาจากคำแต้จิ๋วว่า เกาเลา (交捞) แปลว่า "หลายสิ่งหลายอย่างรวมอยู่ด้วยกัน"[7] ส่วนนวรัตน์ ภักดีคำ อธิบายว่า "... น่าจะหมายถึงคำว่า “เกาโหลว” ที่แปลว่าตึกสูง คาดว่าอาจหมายถึงภัตตาคารจีนที่มักมีชื่อลงท้ายว่า “G?o L?u” ซึ่งคนไทยอาจได้ยินชาวจีนเรียกภัตตาคารว่า “เกาโหลว” จึงนำมาใช้เรียกอาหารประเภทนี้ โดยออกเสียงตามภาษาจีนสำเนียงแต้จิ๋วว่า “เกาเหลา”..."[6]