การออกอากาศ ของ เกียวกูองโฮโซ

บรรยากาศระหว่างการเผยแพร่กระแสพระราชดำรัสว่าด้วยการยุติสงครามมหาเอเชียบูรพา ในวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2488 (ซ้าย) ประชาชนชาวญี่ปุ่นซึ่งเผชิญภัยจากการโจมตีทางอากาศนั่งคุกเข่ารับฟังการออกอากาศพระราชดำรัส (ขวา) เชลยศึกจากกองทัพที่ 31 ของญี่ปุ่น ซึ่งถูกควบคุมตัวไว้ที่เกาะกวม ยืนก้มศีรษะรับฟังการออกอากาศพระราชดำรัส

พระราชดำรัสนี้มิได้ถูกนำออกอากาศโดยตรง แต่เป็นการเล่นเสียงจากแผ่นเสียงซึ่งได้มีการบันทึกไว้จากพระราชวังหลวงในระหว่างวันที่ 13-14 สิงหาคม พ.ศ. 2488 ทหารญี่ปุ่นหลายฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการที่สมเด็จพระจักรพรรดิกำลังจะยุติสงคราม เนื่องจากพวกเขาถือว่าเป็นการทำให้ประเทศเสื่อมเสียเกียรติยศอย่างยิ่ง ไม่นานหลังจากนั้น นายทหารนับพันนายก็พยายามบุกเข้าไปในพระราชวังหลวงในเย็นวันที่ 14 สิงหาคม เพื่อทำลายแผ่นเสียงนี้ (เหตุการณ์นี้ต่อมาเรียกว่า อุบัติการณ์คิวโจ (Kyūjō Jiken) หรือ "เหตุกบฎในพระราชวัง") แต่แผ่นเสียงได้ถูกลักลอบนำออกจากพระราชวังหลวงไปก่อนแล้ว โดยถูกซุกซ่อนไว้ในในตะกร้าซักผ้า ทำให้สามารถนำไปออกอากาศได้ในวันรุ่งขึ้น

เพื่อบรรเทาความสับสน ในตอนสรุปของพระราชดำรัส ผู้ประกาศวิทยุได้ประกาศอย่างชัดเจนว่าพระราชดำรัสของสมเด็จพระจักรพรรดิหมายความว่า ญี่ปุ่นกำลังจะยอมจำนน ตามข้อมูลของนักหนังสือพิมพ์ชาวฝรั่งเศส โรเบิร์ต กิลเลน ผู้ซึ่งอาศัยอยู่ในโตเกียว ณ ขณะนั้น บันทึกไว้ว่า หลังจากผู้ประกาศได้สรุปพระราชดำรัสแล้ว ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากก็เกลับไปอยู่บ้านหรือสำนักงานธุรกิจของตนเองเป็นเวลาหลายชั่วโมง เพื่อที่จะซึมซับและไตร่ตรองความสำคัญของประกาศนั้นอย่างเงียบ ๆ[1]

หลังการออกอากาศบันทึกพระสุรเสียงทรงมีพระราชดำรัสดังกล่าว แผ่นบันทึกเสียงที่ใช้ในการออกอากาศได้สูญหายไปท่ามกลางความโกลาหลหลังการประกาศยอมจำนน แต่ช่างเทคนิคคนหนึ่งของสถานีวิทยุได้ทำสำเนาไว้อย่างลับ ๆ ซึ่งต่อมาได้ส่งมอบให้หน่วยงานของฝ่ายผู้ยึดครองญี่ปุ่น และเป็นต้นฉบับของสำเนาเสียงที่ปรากฏอยู่จนถึงทุกวันนี้[2]