ใจความสำคัญ ของ เกียวกูองโฮโซ

เนื้อหาหลักของกระแสพระราชดำรัสคือการประกาศการยอมจำนนของญี่ปุ่นโดยจักรพรรดิฮิโระฮิโตะ อย่างไรก็ตาม คำศัพท์ที่ปรากฏในพระราชดำรัสดังกล่าวเป็นศัพท์สูง ฟังเข้าใจได้ยากยิ่ง คนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยในสมัยนั้นก็ยังไม่แน่ใจในความหมายที่แท้จริงในทันที และจากเนื้อความทั้งหมดที่สมเด็จพระจักรพรรดิทรงประกาศ แม้ว่าเนื้อหาหลักคือการยอมจำนนของญี่ปุ่น แต่ก็ไม่มีส่วนใดเลยที่ระบุคำว่า “ยอมแพ้”[3]

เนื้อความที่สื่อว่าญี่ปุ่นยอมแพ้ตามพระราชดำรัสของสมเด็จพระจักรพรรดิคือ

ภาษาญี่ปุ่น
อักขรวิธีตามเอกสารต้นฉบับ
คำอ่าน
อักษรโรมัน
คำแปลภาษาอังกฤษ
(แปลโดย ฮิระกะวะ ทะดะอิชิ)
คำแปลภาษาไทย

朕ハ帝國政府ヲシテ米英支蘇四國ニ對シ其ノ共同宣言ヲ受諾スル旨通告セシメタリ

Chin wa teikoku-seifu wo shite Bei Ei Shi So shikoku ni taishi sono kyōdō-sengen wo judaku suru mune tsūkoku seshimetari

We have ordered Our Government to communicate to the Governments of the United States, Great Britain, China and the Soviet Union that Our Empire accepts the provisions of their Joint Declaration.

"เราได้มีบัญชาให้รัฐบาลจักรวรรดิแจ้งไปยังสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร จีน สหภาพโซเวียต สี่ประเทศ ว่าเรายอมรับปฏิญญาที่พวกเขาได้ร่วมกันประกาศไว้"

ปฏิญญาที่พระองค์มีรับสั่งถึง คือ ปฏิญญาพ็อทซ์ดัม ซึ่งสี่ชาติใหญ่ร่วมกันเรียกร้องให้ญี่ปุ่นยอมแพ้โดยไม่มีเงื่อนไข ในตอนนั้น ประชาชนคนไหนไม่รู้จักคำประกาศนี้ ก็อาจไม่เข้าใจชัดเจนในทันทีว่านั่นหมายถึงการยอมแพ้ของญี่ปุ่น[4]

และท้ายที่สุด พระองค์ตรัสถ้อยคำที่มีชื่อเสียงว่า: "แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราจะต้องดำเนินไปตามกระแสแห่งกาลเวลา อดทนในสิ่งที่เหลือจักทานทน ข่มกลั้นในสิ่งที่ยากจักข่มกลั้น เพื่อถากถางปูทางสู่มหาสันติภาพอันจักยั่งยืนสืบไปนับพันปี"

ทั้งนี้ เนื้อหาในพระราชดำรัสได้แปลเป็นภาษาอังกฤษและและออกอากาศไปยังดินแดนโพ้นทะเลของฝ่ายสัมพันธมิตรในเวลาเดียวกันโดย ฮิระกะวะ ทะดะอิชิ (平川唯一) โดยที่ประเทศสหรัฐอเมริกานั้น คณะกรรมาธิการการสื่อสารของรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Communications Commission: FCC) ได้บันทึกเสียงการออกอากาศครั้งนี้ไว้ และคำแปลภาษาอังกฤษของพระราชดำรัสนี้ได้มีการตีพิมพ์เนื้อหาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์ The New York Times.[5]