ชีวิต ของ เกเลน

เกเลนเกิดที่เมืองเพอร์กามอน (Pergamum), มีเชีย (Mysia) (ปัจจุบันคือเมืองเบอร์กามา (Bergama) ประเทศตุรกี) [1] เป็นบุตรของสถาปนิกที่มีฐานะชื่อ อียูลิอุส นิคอน (Aeulius Nicon) เขามีความสนใจในหลายๆ ด้าน เช่น เกษตรกรรม สถาปัตยกรรม ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ปรัชญา ก่อนที่สุดท้ายจะสนใจในวิชาการแพทย์

เมื่อเขาอายุ 20 ปี เขาได้ทำงานเป็นผู้ช่วยรักษาโรคของเทพเจ้าแอสคลีปิอุส (Asclepius) ในโบสถ์ท้องถิ่นเป็นเวลา 4 ปี แม้ว่าเกเลนจะสนใจศึกษาร่างกายมนุษย์ แต่การชำแหละร่างกายมนุษย์ในสมัยนั้นถือว่าขัดกับกฎหมายของโรมัน เขาจึงศึกษาในหมู เอป และสัตว์อื่นๆ แทน ข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่อนุญาตให้ศึกษาร่างกายมนุษย์ทำให้เขาเข้าใจอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ผิดไป ตัวอย่างเช่นเขาคิดว่า rete mirabile ซึ่งเป็นกลุ่มหลอดเลือดที่อยู่ใกล้ด้านหลังของสมองนั้นพบได้ทั่วไปในมนุษย์ แต่ความเป็นจริงแล้วโครงสร้างนี้พบได้เฉพาะในสัตว์บางชนิดเท่านั้น หลังจากที่บิดาของเขาเสียชีวิตในปี ค.ศ. 148 หรือ ค.ศ. 149 เข้าได้ออกจากเมืองเพอร์กามอนเพื่อไปศึกษาในเมืองสเมอร์นา (Smyrna), โครินธ์ และอเล็กซานเดรีย เป็นเวลา 12 ปี ในปี ค.ศ. 157 เกเลนได้กลับมาที่เมืองเพอร์กามอน และทำงานเป็นแพทย์ในโรงเรียนสอนกลาดิอาตอร์เป็นเวลา 3-4 ปี ในช่วงเวลานี้เองที่เขาได้รับประสบการณ์มากมายในการรักษาอาการบาดเจ็บโดยเฉพาะบาดแผล ซึ่งในเวลาต่อมาเขาเรียกว่าเป็น หน้าต่างที่เปิดเข้าสู่ร่างกาย (windows into the body)

เกเลนเป็นผู้ที่กล้าผ่าตัดในบริเวณที่ไม่มีใครกล้าทำ เช่น การผ่าตัดสมองหรือดวงตา ซึ่งแม้กระทั่งหลังจากยุคเกเลนเป็นเวลากว่าสองพันปีก็ไม่มีใครกล้าทำเช่นเขา ในการผ่าตัดต้อกระจก เกเลนได้ใส่เครื่องมือลักษณะคล้ายเข็มเข้าไปในหลังเลนส์ตา แล้วจึงดึงเครื่องมือไปทางด้านหลังเล็กน้อยเพื่อเอาต้อกระจกออก การดึงเครื่องมือไถลไปแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้ตาบอดถาวรได้

เกเลนย้ายไปที่โรมในปี ค.ศ. 162 ซึ่งเป็นที่ที่เขาบรรยาย มีงานเขียน และสาธิตความรู้ทางด้านกายวิภาคศาสตร์อย่างมาก เกเลนเริ่มมีชื่อเสียงมากขึ้นในฐานะที่เป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์ ทำให้มีนักเรียนมาเรียนกับเขามากมาย ซึ่งในจำนวนนั้นก็มีกงสุลนามว่า ฟลาวิอุส โบเอธิอุส (Flavius Boethius) ซึ่งได้แนะนำเขาให้เข้าสู่อิมพีเรียล คอร์ท (imperial court) เกเลนได้เป็นแพทย์ประจำพระองค์ของจักรพรรดิมาร์คุส ออเรลิอุส (Marcus Aurelius) แม้เกเลนจะเป็นสมาชิกของอิมพีเรียล คอร์ท แต่เกเลนกลับเลี่ยงที่จะใช้ภาษาละติน แต่พูดและเขียนภาษากรีกซึ่งเป็นภาษาแม่ของเขา เกเลนเป็นแพทย์ที่ถวายการรักษาจักรพรรดิของโรมันหลายพระองค์ เช่น ลูซิอุส เวรุส (Lucius Verus) , คอมโมดุส (Commodus) , และเซพติมิอุส เซเวรุส (Septimius Severus) ในปี ค.ศ. 166 เกเลนได้เดินทางกลับเมืองเพอร์กามอน และอยู่ที่นั่น แล้วเดินกลับมาที่โรมครั้งสุดท้ายในปี ค.ศ. 169

เกเลนใช้เวลาที่เหลือของชีวิตในอิมพีเรียล คอร์ท และทำงานเขียนและการทดลอง เขาได้ทดลองชำแหละสัตว์ที่มีชีวิตอยู่หลายชนิดเพื่อศึกษาหน้าที่ของไตและไขสันหลัง

มีรายงานว่าเกเลนใช้เสมียนจำนวน 12 คนในการจดบันทึกงานของเขา ในปี ค.ศ. 191 เกิดเพลิงไหม้ในวิหารแห่งความสงบ (Temple of Peace) เพลิงทำลายงานเขียนของเขาบางส่วน จากเอกสารอ้างอิงในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 10 กล่าวว่าเกเลนน่าจะเสียชีวิตในราว ค.ศ. 200 แต่มีนักวิจัยบางคนแย้งว่ามีหลักฐานงานเขียนของเกเลนที่เขียนในราวปี ค.ศ. 207 ดังนั้นเกเลนน่าจะมีชีวิตหลังจากนี้ ปีที่เกเลนน่าจะเสียชีวิตที่มีการเสนอขึ้นคือในราวปี ค.ศ. 216[2]

ใกล้เคียง

เกเลน เกเลน เออร์โซ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ เกเลชี อิเฮอานาชอ เฮเลน เคลเลอร์ เฮเลน เมียร์เรน เกเนอราลพลานอ็อสท์ เยเลนาแห่งมอนเตเนโกร เกลน โพเวลล์ เอเลนอร์แห่งอังกฤษ พระราชินีแห่งกัสติยา

แหล่งที่มา

WikiPedia: เกเลน http://galen.edu.bz/about.php?option=com_content&t... http://www.ancientlibrary.com/medicine/0109.html http://www.ancientlibrary.com/medicine/index.html http://www.channel4.com/history/microsites/H/histo... http://www.easyrashi.com/heart_misconceptions.htm http://www.udayton.edu/~hume/Galen/galen.htm http://www.uh.edu/engines/epi2097.htm http://www.healthsystem.virginia.edu/internet/libr... http://pacs.unica.it/biblio/lesson2.htm http://www.aina.org/aol/peter/greek.htm