คุณสมบัติ ของ เขื่อนบางปะกง

เขื่อนบางปะกง เป็นเขื่อนรูปแบบเขื่อนผันน้ำในรูปแบบปิดกั้นลำน้ำเดิม คือแม่น้ำบางปะกง โดยขุดคลองลัดขึ้นมาเพื่อบังคับการไหลของน้ำให้ผ่านมายังจุดที่ต้องการคือตัวเขื่อน และตัวแม่น้ำเดิมได้สร้างทำนบดินปิดกั้นไว้พร้อมกับประตูระบายน้ำ ตัวเขื่อนประกอบด้วยประตูระบายน้ำขนาดใหญ่จำนวน 5 ช่อง แบ่งเป็นชนิดบานเดี่ยวจำนวน 3 บาน สำหรับระบายน้ำ และบานคู่จำนวน 2 บาท สำหรับควบคุมระดับน้ำที่ไหลผ่านเขื่อนบางปะกง โดยใช้การควบคุมทางไกลผ่านอาคารควบคุมบนตลิ่งทางด้านขวาของเขื่อน[1]

นอกจากนี้ยังมีการติดตั้งเครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าจำนวน 4 เครื่อง ความสามารถสูบได้เครื่องละ 4 ลบ.ม./วินาที เพื่อสูบน้ำเข้าสู่โครงข่ายชลประทานในพื้นที่ โดยมีพื้นที่ชลประทานอยู่ในโครงการทั้งหมด 92,000 ไร่[1]

ลักษณะเขื่อน

เขื่อนบางปะกง อยู่ห่างจากปากแม่น้ำบางปะกงประมาณ 71 กิโลเมตร มีขนาดความจุของอ่างเก็บน้ำ 248 ล้าน ลบ.ม. ประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ เขื่อนหลัก และเขื่อนบริเวณลำน้ำเดิม มีรายละเอียด[2] ดังนี้

  • เขื่อนหลัก เป็นเขื่อนดินประเภทแบ่งโซน (Zone Type) มีความยาว 2,500 เมตร มีความสูง 24 เมตร ระดับสันเขือน 39 เมตร (ระดับทะเลปานกลาง)
    • ตัวเขื่อนส่วนที่เป็นประตูระบายน้ำ มีความยาว 166 เมตร ลึก 11 เมตร[3]
    • สะพานข้ามแม่น้ำบางปะกง ขนาด 2 ช่องจราจร แยกจากตัวเขื่อนในลักษณะคู่ขนานไปกับแนวของเขื่อน
  • เขื่อนกั้นลำน้ำเดิม เป็นเขื่อนดินประเภทแบ่งโซน (Zone Type) มีความยาว 1,600 เมตร มีความสูง 7 เมตร ระดับสันเขื่อน 39 เมตร (ระดับทะเลปานกลาง) พร้อมด้วยประตูระบายน้ำและถนนบนสันเขื่อนพร้อมสะพานข้ามร่องลำน้ำเดิม สร้างขึ้นเพื่อควบคุมการไหลของน้ำให้ไปยังเขื่อนหลัก

พื้นที่ชลประทาน

ประตูระบายน้ำของเขื่อนบางปะกง

เขื่อนบางปะกง เป็นแหล่งกักเก็บน้ำไว้สำหรับทำเกษตรกรรมให้กับเกษตรกรในพื้นที่อำเภอบางคล้า อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา อำเภอบ้านโพธิ์ อำเภอบางปะกง รวมไปถึงอำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี และเป็นแหล่งน้ำไว้สำหรับสนับสนุนในพื้นที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระองค์ไชยานุชิต โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษานครนายก[4][5]

การป้องกันน้ำเค็ม

เขื่อนบางปะกงมีศักยภาพในการป้องกันน้ำเค็มที่รุกล้ำมาจากปากแม่น้ำบางปะกง และรักษาทรัพยากรน้ำจืดซึ่งอยู่เหนือเขื่อน ด้วยการชะลอปริมาณการไหลของน้ำจืดและน้ำเค็มจากทั้งสองทิศทาง ร่วมกับการปล่อยน้ำจืดจากเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน คืออ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำคลองระบบ และพิจารณาการใช้น้ำจาก เขื่อนขุนด่านปราการชล อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา อ่างเก็บน้ำพระปรง อ่างเก็บน้ำคลองพระสะทึง เพื่อประคองสถานการณ์และรักษาน้ำจืดในพื้นที่เหนือเขื่อนจนกว่าจะเข้าสู่ฤดูฝนเพื่อให้มีน้ำเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภคและผลิตน้ำประปา[6][7]

ใกล้เคียง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เขื่อนบางปะกง //tools.wmflabs.org/geohack/geohack.php?pagename=%... http://www.damrong-journal.su.ac.th/?page=view_art... http://sanumjun.go.th/public/bangpakong/data/index... https://www.77kaoded.com/news/sontanaporn/2258029 https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/biz2u/10068... https://mgronline.com/local/detail/9640000122586 https://www.touronthai.com/article/472 https://thai.tourismthailand.org/Attraction/%E0%B9... https://archives-library.rid.go.th/handle/12345678...