เจ็ดนางฟ้า

เจ็ดนางฟ้า เป็นตำนานปรัมปราของจีนว่าด้วยงานประเพณีใน วันที่ 7 เดือน 7 (จีน: 七夕; พินอิน: qī xī; แปลว่า ราตรีแห่งเลขเจ็ด) ตามปฏิทินแบบจีน เป็นที่มาของประเพณี ทานาบาตะ ในญี่ปุ่น และประเพณี Chilseok (칠석) ในเกาหลี ซึ่งมีการโยงตำนานนี้กับสถานที่ในภูเขาคึมกังซาน (ภูเขาเพชร) ที่ว่ากันว่าเป็นจุดที่นางฟ้าลงมาเล่นน้ำด้วย เทศกาลวันดังกล่าวเปรียบได้ว่าเป็นวันแห่งความรักในประเพณีจีน ช่วงเวลาแห่งประเพณีนี้คือเมื่อดวงดาวในสามเหลี่ยมฤดูร้อนโคจรขึ้นสูงเหนือศีรษะ ดาวสำคัญในสามเหลี่ยมฤดูร้อนที่เกี่ยวข้องกับตำนานนี้ คือดาวอัลแทร์ และดาวเวกานักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่า ตำนานเจ็ดนางฟ้าของจีนนี้ (ซึ่งเล่าขานกันในเกาหลี เวียดนาม และญี่ปุ่นด้วย) สามารถสืบกันได้กับนิทานเรื่องพระสุธนมโนห์รา ซึ่งเล่ากันแพร่หลายในไทย ลาว และอินโดนีเซีย โดยมีแก่นเรื่องคล้ายคลึงกันและทำให้เห็นได้ว่า น่าจะมาจากแหล่งเดียวกัน กล่าวคือ เป็นเรื่องของผู้หญิงเจ็ดคน (หรือแปดคนในตำนานบางฉบับของเกาหลี) ที่มีความสามารถมากกว่ามนุษย์ คือ บินได้ด้วยเครื่องช่วยบางอย่าง (ปีกและหางของกินรี และอาภรณ์เทพธิดาของนางฟ้าทั้งเจ็ด) ลงมายังโลกมนุษย์เพื่อเล่นน้ำ น้องสาวคนเล็กสุดและสวยที่สุดของนางเหล่านี้ถูกมนุษย์ผู้ชายจับได้และยึดอุปกรณ์ช่วยบินไว้ (ในบางตำนาน ผู้จับได้เป็นตัวพระเอกเอง บางตำนานเป็นนายพรานซึ่งนำไปถวายพระเอกที่เป็นเจ้าเหนือหัวของตน) นางเอกจึงยอมแต่งงานกับมนุษย์ แต่ต่อมามีเหตุให้นางเอกต้องใช้อุปกรณ์ทิพย์บินหนีจากโลกมนุษย์คืนไปสู่ถิ่นเดิมของนาง และพระเอกต้องเริ่มต้นผจญภัยเพื่อตามหาตัวนางคืน เรื่องดังกล่าวมีจารึกเป็นภาพสลักไว้ที่ บุโรพุทโธ ในอินโดนีเซีย เนื่องจากเชื่อว่าเป็นอดีตชาติหนึ่งของพระพุทธเจ้า และพระเถระชาวเชียงใหม่ได้รจนาไว้เป็นภาษาบาลีใน ปัญญาสชาดก ซึ่งนักวิชาการเชื่อว่าแต่งขึ้นระหว่างปีพ.ศ. 2000-2020 ด้วย โดยให้ชื่อเรื่องว่า สุธนชาดก