ฤทธิ์ทางเภสัชวิทยา ของ เจ็มไฟโบรซิล

ตัวรับ PPARα (peroxisome proliferator-activated receptor-alpha receptor) เป้าหมายการออกฤทธิ์ของเจ็มไฟโบรซิล

เจ็มไฟโบรซิล (5-(2,5-dimethylphenoxy)-2,2-dimethylpentanoic acid) เป็นยาลดระดับไขมันในกระแสเลือดที่มีโครงสร้างทางเคมีที่คล้ายคลึงกับคลอไฟเบรต โดยเจ็มไฟโบรซิลมีประสิทธิภาพในการลดระดับไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDL cholesterol) และไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นต่ำมาก (VLDL cholesterol) ได้เป็นอย่างดีในทางคลินิก[1] นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มระดับไลโปโปรตีนคอเลสเตอรอลชนิดความหนาแน่นสูง (HDL cholesterol) ได้อีกด้วย[1][5] อย่างไรก็ดี เมื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างการลดระดับคอเลสเตอรอลกับการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ของเจ็มไฟโบรซิลแล้วพบว่า เจ็มไฟโบรซิลมีประสิทธิภาพในการลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในกระแสเลือดได้ดีกว่า ส่วนการลดระดับคอเลสเตอรอลนั้นจะลดได้อย่างมีนัยสำคัญเฉพาะในผู้ป่วยที่มีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเท่านั้น[5][6][7][8]

การศึกษาทางคลินิกการศึกษาหนึ่งพบว่า นอกจากเจ็มไฟโบรซิลจะมีฤทธิ์ในการเพิ่มระดับ HDL-C และลดระดับ VLDL-C แล้ว ยังมีผลเพิ่มอะโปโปรตีนเอ-ทู (apoprotein A-II) ด้วย แต่ไม่มีผลต่ออะโปโปรตีนเอ-วัน (apoprotein A-I)[3] นอกจากนี้แล้ว เจ็มไฟโบรซิลอาจมีผลชะลอการดำเนินไปของโรคหลอดเลือดแข็ง (atherosclerosis) ในผู้ป่วยไขมันในเลือดสูงชนิดที่ 2 และ 4 (type II and IV hyperlipidemia) โดยผ่านกระบวนการการลดความไวในการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของ LDL-C [9]การศึกษาหลายการศึกษาในผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงพบว่า กระบวนการป้องกันการเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดในรูปแบบดังกล่าวนั้น เป็นผลมาจากการลดการหลั่งไลโปโปรตีนที่เป็นสาเหตุของการเกิดความผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง VLDL-C[10]

ในบรรดาการศึกษาทางคลินิกที่ผ่านมา มีการศึกษาหนึ่งที่พบว่า การใช้เจ็มไฟโบรซิลในขนาด 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง มีผลเพิ่มการทำงานของเอนไซม์พาราออกซาโนส (paraoxanose) ในผู้ป่วยไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงจำนวน 57 คนได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p value < 0.001) ซึ่งเอนไซม์ดังกล่าวเป็นเอนไซม์ที่ทำหน้าที่สัมพันธ์กับ HDL-C ในการไฮโดรไลซ์สารประกอบเอสเทอร์ (high-density lipoprotein (HDL)-associated ester hydrolyase enzyme) โดยเอนไซม์ดังกล่าวจะทำให้ HDL-C มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ โดยจากการทดลองพบว่า เอนไซม์ดังกล่าวมีผลลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นของ LDL ที่เกิดจากการเหนี่ยวนำของทองแดง รวมไปถึงลดการตอบสนองต่อ LDL ที่ถูกออกซิไดซ์ (oxidized LDL) และสารประกอบไขมันที่เหนี่ยวนำให้เกิดการอักเสบ 9lipid-induced inflammatory) ของผนังหลอดเลือดแดงด้วย[11]

นอกเหนือไปจากการเพิ่มระดับ HDL และลดระดับไตรกลีเซอไรด์แล้ว การได้รับการรักษาด้วยเจ็มไฟโบรซิลในขนาด 300 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง จะส่งผลให้กระบวนการสลายลิ่มเลือดอุดตันในผู้ป่วยที่มีภาวะการทำงานของการสลายลิ่มเลือดบกพร่อง (้hypofibrinolytic state) ดีขึ้นได้ ซึ่งจะมีประโยชน์อย่างมากในผู้ป่วยที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ[12] ยิ่งไปกว่านั้น อีกการศึกษาหนึ่งพบว่า การได้รับเจ็มไฟโบรซิลในขนาดที่สูงขึ้น คือ 600 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง  ยังมีผลเพิ่มความไวต่ออินซูลินและสารสื่อประสาทต่างๆที่มีผลทำให้หลอดเลือดขายตัว (Flow-mediated vasodilation) ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 อย่างไรก็ตาม การศึกษาดังกล่าวเป็นเพียงการศึกษาขนาดเล็กเท่านั้น (n=10)[13]

ใกล้เคียง

เจ็มไฟโบรซิล เอ็มไทย เอ็มไทยท็อปทอล์กอะเบาต์ 2014 เร็มไชท์ เอ็มไพร์ส: ดาวน์ออฟเดอะโมเดิร์นเวิลด์ เจ็ทไฟเออร์ (ทรานส์ฟอร์มเมอร์ส) เอ็มไทยท็อปทอล์กอะเบาต์ 2013 เอ็มไพร์ทาวเวอร์ (กรุงเทพมหานคร) เอ็มไอเอ็ม-104 แพทริออต เก็มไมจะ

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ็มไฟโบรซิล http://www.ahjonline.com/article/S0002-8703(97)700... http://www.chemspider.com/Chemical-Structure.3345.... http://www.micromedexsolutions.com/micromedex2/lib... http://www.webmd.com/drugs/2/drug-11423/gemfibrozi... http://water.epa.gov/scitech/wastetech/biosolids/t... //pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/828263 //www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1864017 http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC186401... http://www.kegg.jp/entry/D00334 http://www.commonchemistry.org/ChemicalDetail.aspx...