พระราชประวัติ ของ เจ้าบุญอุ้ม_ณ_จำปาศักดิ์

เสด็จเจ้าบุนอุ้มประสูติ พ.ศ. ๒๔๕๔ ภายในพระราชวังหลวงนครจำปาสัก บ้านดอนตลาด นครจำปาสัก ครั้งลาวเป็นอาณานิคมอินโดจีนฝรั่งเศส เป็นพระราชโอรสในสมเด็จเจ้าย่ำขะหม่อมยุติธรรมธร (หยุย ณ จำปาศักดิ์) หรือสมเด็จเจ้าราชดนัย กษัตริย์ครองนครจำปาสักองค์ที่ ๑๒ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๖-๘๙ กับพระอัครชายาเจ้าเฮือนหญิงสุดสมร เป็นพระราชนัดดาในสมเด็จเจ้าย่ำขะหม่อมยุติธรรมธรนครจำปาศักดิ์รักษาประชาธิบดี (คำสุก ณ จำปาศักดิ์) กษัตริย์ครองนครจำปาสักองค์ที่ ๑๑ ในฐานะประเทศราชสยาม สำเร็จการศึกษาจากสำนักการศึกษาอินโดจีนฝรั่งเศส กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม [2] พ.ศ. ๒๔๘๔ นครจำปาสักจำใจตกเป็นของสยามรอบ ๒ หลังกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ฝรั่งเศสยกนครจำปาสักแก่ไทยหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ พร้อมสนับสนุนการสถาปนาเสด็จเจ้าบุนอุ้มขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ครองนครจำปาสัก หลังลาวรับเอกราชเสด็จเจ้าบุนอุ้มตั้งสะสมกำลังขัดแข็งอยู่ภาคใต้นับสิบปีจากนั้นจำปาสักจึงถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของลาว ภายใต้การเกลี้ยกล่อมของพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตเสด็จเจ้าบุนอุ้มจึงยอมสละสิทธิ์การเป็นกษัตริย์เหนือดินแดนดังกล่าว

สภาวะวุ่นวายทางการเมืองลาวหลังรับเอกราชทำให้ลาวแบ่งขั้วการเมืองเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ ลาวฝ่ายขวานิยมสหรัฐอเมริกา ลาวฝ่ายซ้ายนิยมเวียดนามนำโดยเสด็จเจ้าสุพานุวงส์ และลาวฝ่ายเป็นกลางซึ่งพยายามประนีประนอมฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายนำโดยเสด็จเจ้าสุวรรณภูมา เสด็จเจ้าบุนอุ้มเป็นหนึ่งใน ๓ เจ้านายลาวที่มีบทบาทในฝ่ายขวา เมื่อเสด็จเจ้าสุวรรณภูมาพยายามดำเนินนโยบายเป็นกลางใน พ.ศ. ๒๔๙๓ และสามารถเจรจากับฝ่ายซ้ายสำเร็จ เสด็จเจ้าบุนอุ้มซึ่งมีสหรัฐและไทยหนุนหลังทรงคัดค้านอย่างแข็งขัน ทำให้รัฐบาลเสด็จเจ้าสุวรรณภูมาถูกกดดันจนล้ม พ.ศ. ๒๔๙๗ ท้าวกระต่าย โดนสโสฤทธิ์ ผู้รับใช้ฝรั่งเศสอย่างซื่อสัตย์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งวอชิงตันเลือกให้เป็นผู้ทำทุกวิถีทางเพื่อขัดขวางการจัดตั้งรัฐบาลผสม และภรรยาคนที่ ๒ ของท้าวกระต่ายเป็นพระขนิษฐาของเสด็จเจ้าบุนอุ้ม สหรัฐจึงผลักดันให้พระองค์ขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตองค์ต่อไปแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวงศ์ซึ่งทรงประชวรอยู่ [3] ต่อมา พ.ศ. ๒๕๐๒ ท้าวโง่น ชนะนิกร จัดตั้งรัฐบาลแทน นายพลพูมี หน่อสะหวัน เข้ายึดอำนาจการปกครองในธันวาคม ต่อมาสิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ร้อยเอกกองแล วีระสาน ยึดอำนาจในนครหลวงเวียงจันทน์สำเร็จจึงสนับสนุนเสด็จเจ้าสุวรรณภูมาจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ฝ่ายเสด็จเจ้าบุนอุ้มทรงคัดค้านไม่ยอมเจรจาทุกทาง

๑๐ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๓ นายพลพูมีประกาศงดใช้รัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรลาวพร้อมประกาศกฎอัยการศึกทั่วพระราชอาณาจักร และจัดตั้งคณะปฏิวัติตามแบบอย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้เป็นน้า โดยยกเสด็จเจ้าบุนอุ้มเป็นหัวหน้าคณะ นิตยสารไทม์ของอเมริกันเคยชมเชยพระองค์ว่า ทรงเป็นแบบฉบับบุรุษเจ้าสำราญของลาวโดยแท้ ทรงมีของโปรดอยู่ ๓ สิ่งคือ เงิน เหล้า และสตรี ดังนั้นเมื่อเสด็จเจ้าบุนอุ้มได้เป็นผู้นำคณะปฏิวัติจึงเป็นเรื่องขบขันทั่วนครหลวงเวียงจันทน์ เหตุที่พระองค์และนายพลพูมีไม่พอใจรัฐบาลเสด็จเจ้าสุวรรณภูมาและทำรัฐประหารซ้อนล้มรัฐบาล นายพลพูมีอ้างว่าเพราะรัฐบาลนั้นไม่สามารถรักษาสถานการณ์ได้ ปล่อยให้เวียดมินห์บุกรุกพระราชอาณาจักรทางพงสาลี ซำเหนือ และเชียงขวาง แต่ข้อเท็จจริงเป็นเพราะนายพลพูมีไม่พอใจนโยบายเป็นกลางและสันติซึ่งมีกีนิม พลเสนา สนับสนุนอยู่ อันเปิดโอกาสให้เพิ่มอำนาจแก่คอมมิวนิสต์และแนวลาวรักชาติ นายพลพูมีจึงพยายามเอาชนะทางการทหารเพื่อต่อรองทางการเมืองแต่ไม่สำเร็จ[4] ส่วนสหรัฐและไทยฉวยโอกาสแทรกแซงการเมืองภายในลาวโดยสนับสนุนนายพลพูมีซึ่งพยายามสร้างกองกำลังที่แขวงสุวรรณเขต ไทยเปิดโอกาสให้สหรัฐตั้งฐานทัพในประเทศเพื่อสะสมกองกำลังทิ้งระเบิดในลาว นำมาซึ่งความโกรธแค้นของชาวลาวต่อไทยและสหรัฐสืบถึงปัจจุบัน ฝ่ายเสด็จเจ้าสุวรรณภูมาพยายามเจรจากับฝ่ายปะเทดลาวเพื่อตั้งรัฐบาลผสม สหรัฐกดดันเสด็จเจ้าสุวรรณภูมาให้เจรจากับนายพลพูมีจนพระองค์เสด็จลี้ภัยไปกัมพูชาใน ๑๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๓ ฝ่ายร้อยเอกกองแลหันไปร่วมมือกับขบวนการปะเทดลาว ความฝักใฝ่การเมืองของเสด็จเจ้าบุญอุ้มยังไม่ยอมลดละ โดย พ.ศ. ๒๕๐๔ มีการจัดตั้งรัฐบาลลาวฝ่ายขวาซึ่งพระองค์เป็นผู้นำทำให้สงครามกลางเมืองลาวขยายตัว

ต่อมาสหรัฐเชิญเสด็จเจ้าบุญอุ้มเข้าร่วมการประชุมเจนีวาในพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๔ การเจรจายืดเยื้อถึง พ.ศ. ๒๕๐๕ ในที่สุดที่ประชุมยินยอมให้เสด็จเจ้าสุวรรณภูมาเป็นผู้นำลาว บทบาททางการเมืองของเสด็จเจ้าบุนอุ้มจึงลดลง ฝ่ายขบวนการปะเทดลาวทำสงครามรุกคืบจนได้ชัยชนะใน พ.ศ. ๒๕๑๘ และจับพระบรมวงศานุวงศ์ขุนนางข้าราชการจำนวนมากไปสังหาร ฝ่ายเสด็จเจ้าบุญอุ้มไหวตัวทันจึงเสด็จลี้ภัยออกนอกประเทศพร้อมพระบรมวงศานุวงศ์จำนวนหนึ่ง ทรงประทับและสิ้นพระชนม์ที่ฝรั่งเศสใน พ.ศ. ๒๕๒๓[5]

ใกล้เคียง

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เจ้าบ้าน เจ้าเรือน เจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ เจ้าบุญเลิศ ณ เชียงใหม่ เจ้าบ่าวกลัวฝน เจ้าบุญมี ตุงคนาคร เจ้าบ่าวทีเด็ด เจ้าบุญสารเสวตร์ ณ ลำปาง เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ้าบุญอุ้ม_ณ_จำปาศักดิ์ http://www.agoda.com/th-th/champasak-palace-hotel/... http://socialitywisdom.blogspot.com/2009/03/cia_16... http://socialitywisdom.blogspot.com/2009/04/blog-p... http://guideubon.com/news/view.php?t=49&s_id=2&d_i... http://www.oceansmile.com/Lao/Jampasak.htm http://www.ounon19.com/Champasak1.htm http://www.southlaostour.com/Hotels-in-Pakse/ http://tourlaotai.com/champasak.htm http://board.trekkingthai.com/board/print.php?foru... http://www.culture.go.th/pculture/kalasin/3_8.html