พระราชวังจำปาศักดิ์อันหรูหรา ของ เจ้าบุญอุ้ม_ณ_จำปาศักดิ์

สิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยคืนจำปาสักที่ได้ใน พ.ศ. ๒๔๘๔ แก่ฝรั่งเศสแต่ลาวกลับเป็นเมืองขึ้นตามเดิม เสด็จเจ้าบุญอุ้มรับผลตอบแทนจากฝรั่งเศสมหาศาลด้วยการสถาปนาเป็นเจ้าองค์ครองนครจำปาสัก มีฐานการเมืองที่เมืองปากเซตอนใต้ของลาว พระองค์มีโอกาสและช่องทางแสวงหาสมบัติจำนวนมากโดยเฉพาะกำไรกิจการเหมืองแร่และลือว่ามีกิจการค้าอาวุธกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ รวมถึงงบประมาณประจำปีที่รัฐบาลต้องจ่ายตามสัญญาต่อท้าย หลังย้ายศูนย์กลางการเมืองมาปากเซ ใน พ.ศ. ๒๕๑๑ ทรงสร้างพระราชวังอันหรูหราและใหญ่โตที่บ้านพระบาท[13] บนเนินสูงใจกลางเมืองเพื่อเป็นที่ประทับของพระองค์และพระบรมวงศานุวงศ์ พระราชวังห่างจากตัวเมืองปากเซไปทิศตะวันออกบนทางหลวงหมายเลข ๑๓ ระยะทางราว ๕๐๐ ม. ใกล้วัดพระบาทราว ๐.๒ กม. ใกล้พิพิธภัณฑ์มรดกทางประวัติศาสตร์จำปาสักราว ๐.๘ กม.[14]

การสร้างพระราชวังจำปาสักแห่งใหม่ใช้เวลานาน ๗ ปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๑-๒๕๑๘[15] อาศัยสถาปนิกจากฝรั่งเศสโดยรูปแบบสถาปัตยกรรมลาวใต้ผสมโคโลเนียลฝรั่งเศส[16] และสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ พระราชวังสร้างขึ้นตามข้อตกลงในสัญญาต่อท้ายซึ่งฝรั่งเศสสนับสนุนการก่อสร้าง อาศัยแรงงานจากลาว เวียดนาม และไทยจำนวนมาก ช่างชาวอีสานที่เคยเดินทางไปแกะสลักลวดลายในพระราชวังคือนายจันที แหวนเพชร ช่างสลักหินบ้านนากระเดา ตำบลสายนาวัง อำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์[17] พระราชวังเป็นตึกสูงสง่า ๖ ชั้นก่ออิฐถือปูนและฉาบผนังปูน บ้างกล่าวว่าผนังอาคารไม่มีการก่ออิฐถือปูน ฐานพระราชวังไม่มีการตอกเสาเข็มแต่อาศัยเสาจำนวนมากรองรับน้ำหนัก แปลนพระราชวังประกอบด้วยตัวอาคารขนาดใหญ่ ๓ ส่วนรูปอักษรอี (E) ทุกส่วนเชื่อมถึงกันหันหน้าสู่แม่น้ำโขง ด้านหลังติดแม่น้ำเซโดนซึ่งบรรจบแม่น้ำโขงที่ปากน้ำเซบริเวณท่าแพข้ามฟากปากเซ-เมืองเก่า (ท่าบัก) แต่ละชั้นมีป่องเอี้ยมหรือหน้าต่างประดับลวดลายลาวโบราณอย่างวิจิตร ภายในมีประตูและหน้าต่างรวมมากกว่า ๑,๙๐๐ บานจนได้รับฉายาจากชาวลาวว่าศาลาพันป่อง[18] หรือศาลาพันห้อง[19] หลังปฏิวัติชาวบ้านนิยมเรียกว่าเฮือนใหย่ปะซาซน (เรือนใหญ่ประชาชน) ลือว่าหากให้คนหนึ่งคนเปิดปิดหน้าต่างทั้งหมดของพระราชวังต้องใช้เวลา ๑ วัน จุดสูงสุดของพระราชวังคือชั้น ๖ สามารถเห็นทิวทัศน์ตัวเมืองโดยรอบทั้งหมด สามารถเห็นสะพานมิตรภาพลาว-ญี่ปุ่นทอดตัวยาวข้ามแม่น้ำโขง สะพานเหล็กข้ามแม่น้ำเซโดนหลังพระราชวัง และเป็นจุดชมพระอาทิตย์ขึ้น-ตกที่งดงามแห่งหนึ่งของลาวใต้

หลังปฏิวัติใน ค.ศ. ๑๙๗๕ (พ.ศ. ๒๕๑๘) พระราชวังอยู่ในความดูแลของรัฐบาล ส่วนพระองค์เสด็จลี้ภัยประทับที่กรุงปารีสใน ค.ศ. ๑๙๗๘ (พ.ศ. ๒๕๒๑) โดยไม่เคยประทับพระราชวังแห่งนี้เนื่องจากเสด็จลี้ภัยก่อนพระราชวังสร้างเสร็จ หลังสร้างค้างไว้ไม่นานรัฐบาลลาวปรับปรุงเป็นสถานที่จัดประชุมพรรคและที่พำนักแขกเมืองจนถึง พ.ศ. ๒๕๓๘ จึงเปิดโอกาสให้บริษัทของ ดร.ปองศักดิ์ ว่องพาณิชเจริญ ชาวจังหวัดศรีสะเกษ ต่อเติมจนเสร็จสิ้นและเปิดเป็นโรงแรม ปัจจุบันถูกดัดแปลงเป็นโรงแรมชั้นหนึ่งของปากเซชื่อโฮงแฮมจำปาสักพาเลดหรือโรงแรมจำปาสักพาเลส (Champasak Palace Hotel)[20] บริหารโดยบริษัท จำปาสัก พาเลด โรงแรมและการท่องเที่ยว เดิมผู้ลงทุนเคยเปลี่ยนชื่อโรงแรมเป็นพระราชวังจำปาสักตามชื่อเดิม แต่ทางการไม่อนุญาตเนื่องจากเป็นชื่อสนับสนุนแนวคิดระบอบเก่าจึงเปลี่ยนใช้ชื่อจำปาสักพาเลดตามเดิม จากนั้นถูกสัมปทานให้ชาวลาวเชื้อสายเวียดนาม[21] ปัจจุบันภายในล็อบบี้โรงแรมกรุด้วยไม้แกะสลักอย่างงดงาม ห้องประชุมตกแต่งด้วยฮูปแต้มหรือจิตรกรรมฝาผนังรูปชาวลาวลุ่มและเผ่าต่าง ๆ ของลาวใต้[22] มีห้องพัก ๑๑๕ ห้อง

ใกล้เคียง

เจ้าบุญวาทย์วงษ์มานิต เจ้าบุญอุ้ม ณ จำปาศักดิ์ เจ้าบ้าน เจ้าเรือน เจ้าบัวทิพย์ ณ เชียงใหม่ เจ้าบุญเลิศ ณ เชียงใหม่ เจ้าบ่าวกลัวฝน เจ้าบุญมี ตุงคนาคร เจ้าบ่าวทีเด็ด เจ้าบุญสารเสวตร์ ณ ลำปาง เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ้าบุญอุ้ม_ณ_จำปาศักดิ์ http://www.agoda.com/th-th/champasak-palace-hotel/... http://socialitywisdom.blogspot.com/2009/03/cia_16... http://socialitywisdom.blogspot.com/2009/04/blog-p... http://guideubon.com/news/view.php?t=49&s_id=2&d_i... http://www.oceansmile.com/Lao/Jampasak.htm http://www.ounon19.com/Champasak1.htm http://www.southlaostour.com/Hotels-in-Pakse/ http://tourlaotai.com/champasak.htm http://board.trekkingthai.com/board/print.php?foru... http://www.culture.go.th/pculture/kalasin/3_8.html