สงครามปราบฮ่อ ของ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช

กองทัพฝ่ายเหนือ ซึ่งมีเจ้าหมื่นไวยวรนารถ เป็นแม่ทัพนั้นยกออกจากกรุงเทพฯ โดยทางเรือเมื่อวันอังคารเดือน 11 แรม 11 ค่ำ ปีระกา พ.ศ. 2428 ขึ้นไปถึงเมืองพิชัยเมื่อเดือน 12 แรม 2 ค่ำ ตั้งประชุมพลที่เมืองพิชัยนั้น ได้โปรดฯ ให้พระยาศรีสหเทพ (อ่วม) ขึ้นไปเป็นพนักงานจัดเสบียงพาหนะส่งกองทัพ ได้จัดการเดินทัพขึ้นไปเมืองหลวงพระบางเป็น 3 ทาง คือ

  1. ทางที่ 1 กองทัพใหญ่จะยกจากเมืองพิชัยทาง 3 วันถึงเมืองฝาง ต่อนั้นไป 4 วันถึงท่าแฝกเข้าเขตเมืองน่าน ต่อไปอีก 6 วันถึงบ้านนาแล แต่บ้านนาแล 6 วัน รวม 13 วันถึงเมืองหลวงพระบาง
  2. ทางที่ 2 นั้น จะได้จัดแบ่งเครื่องยุทธภัณฑ์สำหรับกองทัพแต่งให้พระศรีพิชัยสงคราม ปลัดซ้ายกรมการเมืองพิชัย กับนายทหารกรุงเทพฯ ให้คุมไปทางเมืองน้ำปาด ตรงไปตำบลปากลายลงบรรทุกเรือขึ้นไปทางลำน้ำโขง ขึ้นบกที่เมืองหลวงพระบาง
  3. ทางที่ 3 เมื่อกองทัพใหญ่ยกไปถึงนครเมืองน่านแล้ว จะแต่งให้พระพลสงคราม เมืองสวรรคโลก กับนายทหารปืนใหญ่คุมปืนใหญ่และกระสุนดินดำแยกทางไปลงท่านุ่นริมแม่น้ำโขง จัดลงบรรทุกเรือส่งไปยังเมืองหลวงพระบาง

อนึ่ง เสบียงอาหารที่จะจ่ายให้ไพร่พลในกองทัพตั้งแต่เมืองพิชัย เป็นระยะตลอดไปกว่าจะถึงเมืองหลวงพระบางนั้น พระยาศรีสหเทพรับจัดส่งขึ้นไปรวบรวมไว้เป็นระยะทุก ๆ ตำบล ที่พักให้พอจ่ายกับจำนวนพลในกองทัพมิให้เป็นที่ขัดขวางได้

กองทัพตั้งพักรอพาหนะอยู่ ณ เมืองพิชัย ประมาณ 20 วัน ก็ยังหามาพรักพร้อมกับจำนวนที่เกณฑ์ไม่ ได้ช้าง 108 เชือก โคต่าง 310 ตัว ม้า 11 ตัวเท่านั้น แต่จะให้รอชักช้าไปก็จะเสียราชการ จึงได้จัดเสบียงแบ่งไปแต่พอควรส่วนหนึ่งก่อน อีกส่วนหนึ่งได้มอบให้กรมการเมืองพิชัยรักษาไว้ให้ส่งไปกับกองลำเลียง

ครั้น ณ วันศุกร์ เดือนอ้าย แรม 11 ค่ำ ปีระกา พ.ศ. 2428 เวลาเช้า 3 โมงเศษ เจ้าหมื่นไวยวรนารถยกกองทัพออกจากเมืองพิชัยให้นายร้อยเอกหลวงจำนงยุทธกิจ (อิ่ม) คุมทหารกรุงเทพฯ 100 คนเป็นทัพหน้า ให้นายจ่ายวด (สุข ชูโต) เป็นผู้ตรวจตรา ให้พระอินทรแสนแสง ปลัดเมืองกำแพงเพชรคุมไพร่พลหัวเมือง 100 คน เป็นผู้ช่วยกองหน้า สำหรับแผ้วถางหนทางที่รกเรี้ยวกีดขวางให้กองทัพเดินได้สะดวกด้วย ให้นายร้อยเอกหลวงอาจหาญณรงค์ กับนายร้อยเอกหลวงดัษกรปลาศ เป็นปีกซ้ายและขวา นายร้อยเอกหลวงวิชิต เป็นกองหลัง พระพลเมืองสวรรคโลกเป็นกองลำเลียงเสบียงอาหาร และกองอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวมานี้ก็ให้ยกเป็นลำดับไปทุก ๆ กอง

ครั้น ณ วันพุธ เดือนยี่ แรมค่ำ 1 ปีระกา ฯ กองทัพได้ยกไปถึงสบสมุนใกล้กับเมืองน่าน ระยะทางราว 200 เส้นเศษ พักจัดกองทัพอยู่ใกล้เมือง เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน แต่งให้พระยาวังซ้าย และเจ้านายบุตรหลาน แสนท้าวพระยา คุมช้างพลายสูง 5 ศอก ผูกเครื่องจำลองเขียนทอง 3 เชือก กับดอกไม้ ธูปเทียนออกมารับ แม่ทัพจึงให้รอกองทัพพักอยู่นอกเมือง 1 คืน

ครั้นรุ่งขึ้นวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม 2 ค่ำ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน จึงแต่งให้ท้าวพระยาคุมช้างพลายผูกจำลองเขียนทอง ออกมารับ 3 เชือก และจัดให้เจ้าวังซ้ายผู้หลานคุมกระบวนออกมารับกองทัพด้วย เวลาเช้า 3 โมงเศษ เดินช้างนำทัพเข้าในเมืองพร้อมด้วยกระบวนแห่ที่มารับ ตั้งแต่กองทัพฝ่ายเหนือออกจากเมืองพิชัยไปจนถึงเมืองน่าน รวมวันเดินกองทัพ 17 วัน หยุดพักอยู่เมืองฝางและท่าแฝก 4 วัน รวมเป็น 21 วัน

เวลาบ่าย 3 โมงเศษ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน พร้อมด้วยเจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้านายบุตรหลาน แต่งตัวเต็มยศตามแบบบ้านเมืองมายังทำเนียบที่พักกองทัพนั้น ฝ่ายกองทัพก็ได้จัดทหารกองเกียรติยศ 12 คน มีแตรเดี่ยว 2 คัน คอยรับอยู่ที่ทำเนียบ เมื่อเจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน เสด็จมาถึงแล้วสนทนาปราศรัยไต่ถามด้วยข้อราชการ และอวยชัยให้พรในการที่จะปราบศัตรูให้สำเร็จ โดยพระบรมราชประสงค์ทุกประการและจัดพระพุทธรูปศิลาศรีพลี 1 องค์ พระบรมธาตุ 1 องค์ ให้แม่ทัพ เพื่อเป็นพิชัยมงคลป้องกันอันตรายในการที่จะไปราชการทัพนั้น กับให้ของทักถามแก่กองทัพสำหรับบริโภคด้วยหลายสิ่ง ครั้นรุ่งขึ้นแม่ทัพนายกองได้ไปเยี่ยมตอบเจ้านครเมืองน่าน กับเจ้าอุปราชเจ้าราชวงศ์และเจ้านายเมืองน่าน

ต่อมาพระยาศรีสหเทพข้าหลวงเชิญเครื่องราชอิสริยาภรณ์มหาสุราภรณ์มงกุฎสยามชั้นที่ 1 ซึ่งโปรดฯ พระราชทานแก่ เจ้าอนันตวรฤทธิเดชฯ เจ้านครเมืองน่าน ขึ้นไปถึงแม่ทัพได้จัดพิธีรับพระราชทานตามธรรมเนียม

ครั้น ณ วันเสาร์ เดือนยี่ แรม 11 ค่ำ เจ้านครน่านได้ส่งช้างมาเข้ากองทัพ 100 เชือก แม่ทัพจึงให้เปลี่ยนช้างหัวเมืองชั้นในที่ได้บรรทุกกระสุนดินดำ เสบียงอาหารมาในกองทัพ 58 เชือก มอบให้พระพิชัยชุมพลมหาดไทยเมืองพิชัย คุมกลับคืนไปยังเมืองพิชัย เพื่อจะได้บรรทุกเสบียงลำเลียงเข้าจากเมืองพิชัยขึ้นมาส่งยังฉางเมืองท่าแฝก ซึ่งพระยาสวรรคโลกได้มาตั้งฉางพักเสบียงไว้สำหรับเมืองน่านจะมารับลำเลียงส่งไปถึงท่าปากเงยและเมืองหลวงพระบางจะได้จัดเรือมารับแต่ปากเงย ส่งต่อไปถึงเมืองงอย[8]

ใกล้เคียง

เจ้าอนุวงศ์ เจ้าอินทวโรรสสุริยวงษ์ เจ้าอนันตวรฤทธิเดช เจ้าอุบลวรรณา เจ้าอาวาส เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) เจ้าอินทยงยศโชติ เจ้าอุปราช (สิทธิสาร ณ น่าน) เจ้าอุปราช (บุญทวงษ์) เจ้าอินทนนท์ ณ เชียงใหม่