พระราชประวัติ ของ เจ้าแก้วมงคล

เป็นเจ้าเมืองท่ง

ปี พ.ศ. ๒๒๓๘ สมเด็จพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราชแห่งกรุงศรีสัตนาคนหุตล้านช้างเวียงจันทน์เสด็จสวรรคต พระยาแสนสุรินทรลือชัยไกรเสนาบดีศรีสรราชสงคราม (ท้าวมละ) ตำแหน่งเมืองแสน (อัครมหาเสนาบดี) ชิงเอาราชสมบัติ เป็นเหตุให้เจ้าแก้วมงคลและพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์หนีราชภัยลงมาทางใต้พร้อมด้วยเจ้าราชครูหลวงวัดโพนเสม็ด ต่อมา ปี พ.ศ. ๒๒๕๖ เจ้าแก้วมงคลช่วยเหลือเจ้าหน่อกษัตริย์พระโอรสในเจ้านางสุมังคละ พระราชนัดดาในสมเด็จพระเจ้าสุริยวงษาธรรมิกราช และช่วยเหลือเจ้าราชครูหลวงวัดโพนเสม็ดสถาปนาราชอาณาจักรล้านช้างฝ่ายใต้สำเร็จ เจ้าหน่อกษัตริย์ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ามหาชีวิตแห่งนครกาลจำบากนาคบุรีศรี (จำปาศักดิ์) ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธางกูร[4] พระองค์จึงมีพระบรมราชโองการให้เจ้าแก้วมงคลนำกำลังคนในสังกัดของตนข้ามแม่น้ำโขงไปยังบริเวณริมแม่น้ำเสียว ซึ่งเป็นทำเลทุ่งกว้างสำหรับทำนาและให้แหล่งเกลือด้วย แล้วตั้งเป็นเมืองชื่อว่า เมืองทุ่งศรีภูมิ (ปัจจุบันอยู่บริเวณตำบลเมืองทุ่ง และบ้านดงไหม่ ตำบลทุ่งศรีเมือง อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด)[5] ให้เจ้าแก้วมงคลเป็นเจ้าผู้ครองเมืองเสมอกษัตริย์ประเทศราช มีอำนาจสิทธิ์ขาดจัดราชการบริหารบ้านเมืองตามแบบอาญาสี่เช่นเดียวกับนครจำปาศักดิ์ทุกประการ เมื่อครั้งเดินทางมาถึงบริเวณที่จะตั้งเมืองนั้นเป็นเวลาสว่างพอดีคนทั่วไปจึงเรียกบริเวณนั้นว่า แจ้งเมืองท่ง (แจ้งเมืองทุ่ง) หรือแจ้งบ้านท่ง (แจ้งบ้านทุ่ง) พระองค์จึงโปรดฯ ให้สร้างวัดชื่อว่า วัดจำปานคร (วัดบ้านดงใหม่) บริเวณบ้านดงใหม่ ตำบลทุ่งศรีเมือง ตามนามของเมืองจำปานครบุรีอันเป็นเมืองเก่าซึ่งร้างไปก่อนตั้งเมืองท่ง ยุคต่อมา ทายาทของพระองค์ได้ย้ายเมืองไปตั้งยังสถานที่แห่งใหม่ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก (รัชกาลที่ ๑) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงสถาปนาเมืองท่งศรีภูมิใหม่เป็นเมืองประเทศราชออกนามว่า เมืองสุวรรณภูมิราชบุรียประเทศราช หรือเมืองสุวรรณภูมิราชบุรินทร์[6]

เมืองที่ทรงปกครอง

เมืองทุ่งศรีภูมิหรือเมืองท่งสีพูมนั้นคนทั่วไปออกนามว่าเมืองท่งหรือเมืองทุ่ง เป็นเมืองที่มีนุ่งนากว้างขวางและเป็นอู่อารยธรรมมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เดิมเป็นที่ตั้งของนครโบราณในตำนานนามว่า นครจำปานาคบุรี แล้วล่มสลายไป ต่อมาในสมัยสมเด็จพระเจ้าฟ้างุ่มแหล่งหล้าธรณีมหาราช (ครองราชย์ พ.ศ. ๑๘๙๖-๑๙๑๕) ทรงเสด็จมาตีเมืองต่างๆ ในเขตอีสาน และปรากฏเมืองสองเมืองในบริเวณแถบนี้คือ เมืองกว้างท่ง และเมืองสะพังสี่แจ[7] เมืองสะพังสี่แจนี้มีแม่น้ำสี่สายล้อมรอบตามมุมทั้งสี่ทิศของเมือง ต่อมาชาวบ้านทั่วไปออกนามว่า บ้านดงเมืองหาง เนื่องจากเป็นเมืองร้างมีป่าทึบ หลังจากเจ้าแก้วมงคลอพยพไพร่พลมาตั้งเมืองท่งในเขตเมืองกว้างท่งและเมืองสะพังสี่แจเก่าแล้ว จึงมีการออกนามเมืองท่งในพงศาวดารหัวเมืองมลฑลอีสานว่า เมืองสระสี่แจ่ง แฮ้งสี่ตัว แม่ญิงเอาผัว ผู้ชายออกลูก ทายาทในชั้นต่อมาได้ปกครองเมืองต่อจากพระองค์ในบรรดาศักดิ์ พระรัตนาวงษามหาขัติยราช หมายถึง พระราชาผู้เป็นเชื้อสายของเจ้าแก้วมงคล แล้วเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น เมืองสุวรรณภูมิ หรือเมืองสุวัณณภูมิ หลังจากเกิดเหตุการณ์ไม่สงบที่นครจำปาศักดิ์แล้ว เมืองสุวรรณภูมิได้ตั้งเป็นเอกราชอยู่ชั่วเวลาหนึ่ง ก่อนจะถูกบังคับให้เป็นเมืองขึ้นของกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ตามลำดับ[8]

พระราชโอรส

เจ้าแก้วมงคลทรงมีพระราชโอรสที่ปรากฏพระนามอยู่ ๓ พระองค์ ได้แก่

  1. เจ้าองค์หล่อหน่อคำ เจ้าผู้ครองเมืองน่าน (นันทบุรี) ทรงประสูติแต่พระราชมารดาซึ่งเป็นพระราชธิดาในเจ้าผู้ครองนครน่าน
  2. เจ้ามืดดำดล หรือท้าวมืด หรือท้าวมืดซ่ง เอกสารบางแห่งออกพระนามว่า เจ้ามืดคำดล เนื่องจากทรงประสูติในวันสุริยุปราคา ทรงดำรงพระยศเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิพระองค์ที่ ๒
  3. เจ้าสุทนต์มณี หรือท้าวทน (ทนต์) ดำรงพระยศเป็นอดีตเจ้าอุปฮาดเมืองท่งศรีภูมิ ต่อมาได้เลื่อนเป็นเจ้าเมืองท่งศรีภูมิพระองค์ที่ ๓ และเป็นที่พระยาขัติยะวงษาเจ้าเมืองร้อยเอ็ดพระองค์แรก ทรงเป็นต้นตระกูล ธนสีลังกูร แห่งจังหวัดร้อยเอ็ด[9]

พิราลัย

เจ้าแก้วมงคลทรงถึงแก่พิราลัย ณ เมืองทุ่งศรีภูมิ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๖๘ สิริรวมพระชนม์มายุได้ ๘๔ วัสสา รวมเวลาปกครองเมืองทุ่งศรีภูมิได้ ๑๒ ปี เอกสารบางแห่งกล่าวว่าทรงปกครองเมืองทุ่งศรีภูมิได้ ๗ ปี [10] เจ้ามืดดำดล หรือ ท้าวมืด หรือท้าวมืดซ่ง พระราชโอรสพระองค์โตทรงขึ้นครองราชย์เมืองทุ่งศรีภูมิสืบต่อจากพระองค์ต่อไป[11]

ปฐมราชวงศ์เจ้าจารย์แก้ว

หลังจากที่เจ้าแก้วมงคลทรงถึงแก่พิราลัยแล้ว ทายาทบุตรหลานของพระองค์ได้ย้ายเมืองใหม่ไปตั้งเป็นเมืองสุวรรณภูมิในบริเวณใกล้เคียงกันกับเมืองท่งเดิมแล้วประกาศตัวเป็นเอกราชไม่ขึ้นกับเมืองใดทั้งสิ้น จนกระทั่งถูกพระยาตากสินเจ้าเมืองธนบุรีบังคับให้สวามิภักดิ์ เมืองสุวรรณภูมิจึงกลายเป็นเมืองประเทศราชและถูกลดฐานะเป็นหัวเมืองชั้นเอกในสมัยรัตนโกสินทร์ ทายาทของพระองค์ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองและกรมการเมืองจำนวนมาก หลายหัวเมืองที่ทายาทของพระองค์ทรงปกครองได้กลายเป็นจังหวัด อำเภอ และตำบลในภาคอีสานของประเทศไทย เมืองต่างๆ เหล่านี้ ได้แก่ เมืองสุวรรณภูมิราชบุรีประเทษราช (เมืองสุวรรณภูมิ) เมืองร้อยเอ็ด เมืองชลบถวิบูลย์ (เมืองชลบถ) เมืองขอนแก่น เมืองเพี้ย เมืองรัตนนคร เมืองมหาสารคาม เมืองศรีสระเกษ เมืองโกสุมพิสัย เมืองกันทรวิชัย (เมืองโคกพระ) เมืองวาปีปทุม เมืองหนองหาร เมืองโพนพิสัย เมืองพุทไธสงค์ (เมืองผไทสมัน) เมืองบุรีรัมย์ (เมืองแปะ)[12] เมืองเกษตรวิสัย เมืองพนมไพรแดนมฤค (เมืองพนมไพร) เมืองธวัชบุรี เมืองพยัคฆภูมิพิสัย (เมืองเสือ) เมืองจตุรพักตรพิมาน (เมืองหงษ์)[13] เมืองขามเฒ่า เมืองเปือยใหญ่ (บ้านค้อ) และเมืองนันทบุรี (เมืองน่าน)

ใกล้เคียง

เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าแผ่นดิน เจ้าแก้วมงคล เจ้าแวมไพร์ พันธุ์ตายไว เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เจ้าแม่วัดดุสิต เจ้าแม่จำเป็น เจ้าแว่นทิพย์แห่งเชียงตุง เจ้าแมวยอดนักสืบ เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ้าแก้วมงคล http://jumpana23.blogspot.com/p/blog-page.html http://nu-pla.blogspot.com/ http://ps8921.blogspot.com/2011/09/blog-post.html http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cac... http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=73... http://www.jangkhao.org/p/49274 http://district.cdd.go.th/suwannaphum/about-us/%E0... http://www.roiet.go.th/101/index.php?option=com_co... https://sites.google.com/site/52011011608inetg17/c... https://imtonpaan.wordpress.com/about/%E0%