พระราชประวัติในเอกสารประวัติศาสตร์ ของ เจ้าแก้วมงคล

ในพงศาวดารภาคอีสานของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณ ร้อยเอ็จ)

ในพงศาวดารภาคอีสาน ฉะบับของพระยาขัติยวงษา (เหลา ณร้อยเอ็จ) พิมพ์ในงานปลงศพนางศรีสุภา (โต เอี่ยมศิริ) ณเชิงบรมบรรพต วัดสระเกส เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๓๒ กล่าวว่า

...ครั้นครบพรรษาหนึ่ง พระเจ้าเวียงจันทน์ จึงพร้อมพระครูทั้งหลายฮดภิกษุบวชใหม่ให้นามว่า พระครูโพนเสม็ดบ้าง บางคนก็เรียกว่าพระครูสีดาตามนามเดิม ท่านพระครูรักษาศีลบริสุทธิ์ ไม่ช้านานเท่าใด ก็ได้อภิญญา ๕ อัฐฐสมาบัติ ๘ ประการ สำเร็จไปด้วยฌาน จะว่าสิ่งใดก็แม่นยำโดยบารมีธรรม โปรดสำเร็จดังมโนนึกความปรารถนา น้ำมูตรและอาจมก็หอม พระเจ้าเวียงจันทน์จัดให้มีโยมอุปฐากรักษา ท่านพระครูเอานายแก้ว นายหวดมาเลี้ยงไว้ นายแก้ว นายหวด เรียนศิลปวิชชาความรู้มากฉลาดเฉลียว ครั้นอายุครบ ๒๑ ปี ก็บวชเป็นภิกษุให้ทั้ง ๒ คน ครั้นอยู่มาพระเจ้าเวียงจันทน์ มีโอรสองค์หนึ่ง เรียกว่าเจ้าองค์หล่อ อายุได้ ๓ ปี พระมเหสีมีครรภ์อยู่อีกได้ ๖ เดือน จุลศักราช ๑๐๕๑ ปี พระเจ้าเวียงจันทน์ถึงแก่พิราลัย พระยาเมืองแสนชิงเอาราชสมบัติได้ เจ้าองค์หล่อกับบ่าวไพร่ที่สนิทหนีเข้าไปพึ่งญวน ก็ได้เป็นใหญ่อยู่เมืองญวน แต่มเหสีนั้นเมื่อพระยาเมืองแสนจะรับไปอยู่ด้วย นางไม่ยอม จึงหนีเข้าไปพึ่งอยู่กับพระครูโพนเสม็ดๆ กลัวความนินทา จึงส่งนางไปไว้บ้านซ่อง่อหอคำ ครั้นคำรบ ๑๐ เดือน นางประสูติพระโอรสออกมาเป็นชาย มารดาญาติพี่น้องถวายนามว่า เจ้าหน่อกษัตริย์ ท่านพระยาเมือแสน จึงดำริว่า พระครูมีบุญมาก คนนิยมนับถือกลัวจะชิงเอาราชสมบัติ จึงคิดเป็นความลับจะทำอันตรายแก่ท่านพระครูๆ ก็ล่วงรู้ในความคิดพระยาเมืองแสน ท่านจึงว่ามีมารมาประจญแล้ว จะอยู่มิได้ ต้องหลีกหนีให้พ้นมาร ท่านพระครูจึงใช้ให้คนไปรับเอามารดากับเจ้าหน่อกษัตริย์มาแต่ซ่อง่อหอคำ แล้วจึงปฤกษากับญาติโยมคนอุปฐากพร้อมกันแล้ว รวมได้ชายหญิงใหญ่น้อย ๓๓๓๓ คน พาภิกษุแก้ว ภิกษุหวด อุปยกจากเวียงจันทน์ มาถึงงิ้วพลานลำสมสนุก...

...ท่านพระครูกลัวญาติโยมจะได้ความเดือดร้อน จึงพาครอบครัวหนีขึ้นมาตามลำแม่น้ำโขง แล้วก็เดิรเลยต่อๆ ถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรี ขณะนั้นนางเพาแม่นางแพงบุตร กับพระยาคำยาด พระยาสองฮาด ไปนิมนต์พระครูให้อยู่รักษาพระศาสนาให้รุ่งเรืองถาวร อนุญาตทั้งพุทธจักร์อาณาจักร์ให้แก่ท่านพระครูปกครองรักษา ต่อๆ มาประชาชนพลเมืองมีน้ำใจวิหิงสาบังเบียดแลลักทรัพย์สิ่งของ ช้าง ม้า โค กระบือ เนืองๆ ราษฎรได้รับความเดือดร้อน ครั้นท่านพระครูจะจับตัวมาลงโทษจำขังเฆี่ยนตี ก็จะผิดบาลีสิกขาบท มีความมัวหมองแก่ท่านพระครูต่อไป ท่านพระครูจึงพร้อมกันปรึกษาเสนากรมการ เห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์สมควรจะครอบครองบ้านเมืองได้ จึงแต่งให้จารแก้ว ท้าวเพี้ยไพร่พลขึ้นไปอัญเชิญรับเอาเจ้าหน่อกษัตริย์กับพระมารดาลงมาถึงนครกาลจำบากนาคบุรีศรี ในจุลศักราช ๑๐๗๕ ปีมะเส็งเบ็ญจศก อัญเชิญขึ้นครองเมือง ถวายพระนามว่า เจ้าสร้อยศรีสมุทรพุทธกุล เป็นเจ้าเอกราช ครองราชสมบัติณกรุงกาลจำบากนาคบุรีศรี ตามราชประเพณีกษัตริย์มาลาประเทศแต่กาลปางก่อน จึงผลัดนามเมืองใหม่ว่านครจำปาศักดิ์นาคบุรีศรี ท่านพระครูและเจ้าสร้อยศรีสมุทรฯ จัดแจงตั้งแต่งบ้านเมือง คือให้ตั้งบ้านโขงเป็นเมืองโขง จารหวดเป็นเจ้าเมือง ยกบ้านหางโขงขึ้นเป็นเมืองเชียงแตง ให้พ่อเชียงแปลงเป็นเจ้าเมือง แล้วจัดให้จารเสียงสางไปเป็นเจ้าเมืองศรีคอนเตา เรียกว่าเจ้าเมืองรัตนบุรี ให้จารแก้วเป็นเจ้าเมืองทุ่ง เรียกว่าเมืองสุวรรณภูมิบัดนี้ ปันอาณาเขตต์ให้ปกครองรักษาฝ่ายเหนือ ตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวย หลักทอดยอดยัง ข้างตะวันออกถึงเขาประทัด ต่อแดนกับอ้ายญวน ข้างตะวันตกถึงลำน้ำพังชู ทิศใต้ถึงห้วยลำคันยุงเป็นแดน จารแก้วออกจากนครจำปาศักดิ์มาตั้งเมืองในระหว่างจุลศักราช ๑๐๘๐ ปี มีไพร่พลชายหญิงใหญ่น้อยประมาณ ๓๐๐๐ คนเศษ จารแก้วเจ้าเมืองทุ่ง มีบุตรชาย ๓ คน คนที่ ๑ ชื่อท้าวมืด คนที่ ๒ ชื่อท้าวทน คนที่ ๓ ชื่อท้าวเพ จารแก้วครองเมืองทุ่งได้ ๑๖ ปี ระหว่างจุลศักราช ๑๐๙๖ ปี จารแก้วถึงแก่กรรม ท้าวมืดผู้พี่ได้ครองเมืองแทนบิดา ท้าวทนเป็นอุปฮาด ตั้งแข็งเมืองเป็นเอกราช ไม่ได้ขึ้นแก่นครจำปาศักดิ์ เพราะเหตุว่านครจำปาศักดิ์พี่กับน้องเกิดวิวาทยาดชิงสมบัติแก่กัน จึงหาได้ติดตามมาว่ากล่าวเอาส่วยสาอากรไม่...[14]

ในพงศาวดารนครจำปาศักดิ์ของพระยามหาอำมาตยาธิบดี (เส็ง วิริยศิริ)

ในพงศาวดารนครจำปาศักดิ์หรือตำนานเมืองนครจำปาศักดิ์ ฉะบับ พระยามหาอำมาตยาธิบดี จากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๗๐ กล่าวว่า

...ในศักราช ๑๐๗๑ ปีฉลูเอกศก แล้วพระครูโพนเสม็ดจึงชักชวนชาวเมืองหล่อพระพุทธปฏิมากรองค์หนึ่ง หน้าตักสิบเก้านิ้วสำเร็จบริบูรณ์ ก็อัญเชิญพระพุทธปฏิมากรประดิษฐานไว้ที่พระวิหารวัดบางซ้ายอยู่มาจนเท่าทุกวันนี้ ครั้นนานมาประชาชนทั้งหลายก็เกิดเป็นโจรผู้ร้ายฉกลักเครื่องอัญญมณีของสมณะและทรัพย์สิ่งของอาณาประชาราษฎรทั้งปวง แล้วก็เกิดฆ่าฟันกันขึ้นหลายแห่งหลายตำบล พระครูโพนเสม็ดจะชำระว่ากล่าวตามอาญาก็กลัวจะผิดด้วยวินัยสิกขาบท ครั้นจะนิ่งเสียไม่ปราบปรามให้ราบคาบ สมณพราหมณาจารย์ราษฎรก็จะได้ความเดือดร้อนยิ่งขึ้นไป พระครูโพนเสม็ดจึงเห็นว่าเจ้าหน่อกษัตริย์ซึ่งเป็นโอรสพระเจ้าเวียงจันทน์ จะปกครองประชาราษฎรต่อไปได้ พระครูโพนเสม็ดจึงให้จารียแก้วจารียเสียงช้างกับท้าวเพี้ยไพร่พลไปอัญเชิญเจ้าหน่อกษัตริย์ ซึ่งตั้งอยู่บ้านงิ้วพันลำโสมสนุกลงมาเมืองนครกาลจำปากนาคบุรีศรี.........แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงจัดตั้งบ้านอำเภอโขงขึ้นเป็นเมืองโขง ให้จารียฮวดเป็นเจ้าเมืองรักษาอาณาเขตต์ที่ตำบลนั้น ให้จารียเสียงช้างขึ้นไปเป็นเจ้าเมืองศรีคอรเตา ให้จารียแก้วเป็นเจ้าเมืองท่งรักษาเขตต์แดนฝ่ายเหนือ ตั้งแต่ยางสามต้นอ้นสามข้อยหลักทอดยอดยางตะวันออกเขาประทัดต่อแดนกับญวณตะวันตกลำน้ำกระยุงเป็นแดน แล้วก็ยกให้นายมั่นข้าหลวงเดิมเป็นคนใช้สอยสนิทไปเป็นหลวงเอกรักษาอำเภอบ้านโพนเรียกว่าเมืองมั่น ให้นายพรมไปเป็นซาบุตตโคตรักษาอำเภอบ้านแก้งอาเฮิม มีพระเจดีย์อยู่ในตำบลนั้นองค์หนึ่งเรียกว่าธาตุกระเดาทึก จึงให้เป็นเมืองคำทองหลวง ให้จารียโสมไปเป็นใหญ่รักษาอำเภอบ้านอิดกระบือ แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรจึงมีราชสาส์นให้ท้าวพระยาถือไปยังกรุงกำพุชาธิบดีขอยืมฉะบับพระไตรปิฎก พระเจ้ากำพุชาธิบดีก็ให้พระราชาคณะสงฆ์ผู้ใหญ่จัดพระไตรปิฎกให้แก่ท้าวพระยาคุมขึ้นไปเมืองนครกาลจำปาศักดิ์ เจ้าสร้อยศรีสมุทพุทธางกูรก็ให้จำลองออกแล้วให้พระเถรานุเถระที่รู้อรรถธรรมบอกแก่พระสงฆ์สามเณรให้เล่าเรียนศึกษาในคันธธุระวิปัสสนาธุระ ตั้งแต่นั้นมาเจ้านายท้าวพระยาสมณพราหมณาจารย์ประชาราษฎรก็อยู่เย็นเป็นสุข...[15]

ในพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณของหม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร)

ในพงษาวดารหัวเมืองมณฑลอิสาณ หม่อมอมรวงษ์วิจิตร (หม่อมราชวงศ์ปฐม คเนจร) เรียบเรียง ภาคที่ ๑ คัดจากประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๔ อำมาตย์เอก พระยาศรีสำรวจ (ชื่น ภัทรนาวิก, ม.ม, ท.ช, รัตน ว,ป,ร.๔) พิมพ์แจกในงานศพ พัน ภัทรนาวิก ผู้มารดา เมื่อปีเถาะสัปตศก พ.ศ. ๒๔๕๘ กล่าวว่า

...เจ้าสร้อยศรีสมุท มีโอรส ๓ องค์ คือ เจ้าไชยกุมาร ๑ เจ้าธรรมเทโว ๑ เจ้าสุริโย ๑ แล้วมีราชสาสนแต่งให้แสนท้าวพระยา นำเครื่องบรรณาการไปขอธิดาเจ้าเขมรณเมืองบรรทายเพ็ชร์มาเปนบาทบริจา มีโอรสอิกองค์หนึ่ง ให้นามว่าเจ้าโพธิสาร แล้วเจ้าสร้อยศรีสมุทจึ่งให้จารหวดเปนอำเภอรักษาบ้านดอนโขงในลำน้ำโขง (ฤๅของ).........ให้ท้าวสุดเปนพระไชยเชฐรักษาอำเภอบ้านหางโคปากน้ำเซกองฝั่งโขงตวันออก (คือเมืองเชียงแตงเดี๋ยวนี้) ให้จารแก้วเปนอำเภอ รักษาบ้านทง ภายหลังเรียกบ้านเมืองทง (คือเมืองสุวรรณภูมิ์เดี๋ยวนี้) ให้จันทสุริยวงษ์เปนอำเภอรักษาบ้านโพนสิม เมืองตะโปน เมืองพิน เมืองนอง ให้นายมั่นข้าหลวงเดิมของนางแพงเปนหลวงเอกรักษา อำเภอบ้านโพน ภายหลังเรียกว่าเมืองมั่นตามชื่อนายมั่น (คือเมืองสาลวันเดี๋ยวนี้).........ในอำเภอซึ่งเจ้าสร้อยศรีสมุทได้ตั้งแต่งให้มีผู้ไปรักษาปกครองอยู่ดังกล่าว มาแล้วนี้นั้น ดูเหมือนจะให้เปนอย่างเมืองออกกลายๆ ถ้าผู้ใหญ่ซึ่งรักษาในตำบลเหล่านั้นล่วงลับไปแล้ว ทางเมืองปาศักดิก็มักจะตั้งแต่งให้บุตรหลานของผู้ล่วงลับไปนั้น ปกครองเปนใหญ่ในตำบลนั้น ๆ สืบเชื้อวงษ์เนื่องกันต่อๆ มา แลตำบลเหล่านั้นก็มักจะปรากฏนามโดยประชุมชนสมมตเรียกกันว่าเมืองนั้นเมือง นี้ ดังเมืองมั่น (สาลวัน) เปนต้นมาแต่เดิม เพราะฉนั้นจะถือว่าตำบลเหล่านั้นได้สมญาตั้งขึ้นเปนเมืองมาแต่เวลานั้นก็จะได้ เพราะเมืองกาละจำบากนาคบุรีศรีในสมัยนั้น ก็เปนเอกราชโดยความอิศรภาพอยู่ส่วนหนึ่ง สมควรที่จะมีเมืองขึ้นเมืองออกได้อยู่แล้ว แต่หากยังมิได้ตั้งแต่งตำแหน่งกรมการรองๆ ขึ้นให้เปนระเบียบดังเมืองเดี๋ยวนี้เท่านั้น แลทั้งอาไศรยความที่มิได้มีปรากฏว่า ในตำบลเหล่านั้นได้เปนอิศรภาพแห่งตน ฤๅตกอยู่ในอำนาจความปกครองของประเทศใดนอกจากอยู่ในอำนาจของเมืองนครจำบากด้วย แลกำหนดเขตรแขวงเมืองนครจำปาศักดิในเวลานั้นมีว่าทิศเหนือตั้งแต่ยางสามต้น อ้นสามขวาย หลักทอดยอดยาง ทิศตวันออกถึงแนวภูเขาบันทัดต่อแดนญวน ทิศใต้เวลานั้นยังไม่ปรากฏ ทิศตวันตกต่อเขตรแขวงเมืองพิมายฟากลำน้ำกยุง บ้านเมืองก็อยู่เย็นเปนศุขเรียบร้อยมา.........จุลศักราช ๑๐๘๗ ปีมเสงสัปตศก จารแก้วอำเภอบ้านเมืองทงป่วยถึงแก่กรรม อายุได้ ๘๔ ปี มีบุตรชาย ๒ คน ชื่อท้าวมืด ๑ (คลอดเมื่อวันสุริยอุปราคา) ชื่อท้าวทนหนึ่ง เจ้าสร้อยศรีสมุทจึ่งตั้งให้ท้าวมืดบุตรเปนตำแหน่งเจ้าเมือง ให้ท้าวทนเปนอุปฮาด ปกครองรักษาบ้านเมืองทงต่อไป ท้าวมืดได้ตั้งแต่งตำแหน่งเมืองแสน เมืองจัน แลกรมการขึ้น ณ ครั้งนั้น ฝ่ายข้างเมืองปาศักดิ เจ้าสร้อยศรีสมุทป่วยลง จึ่งให้เจ้าไชยกุมารว่าราชการเมืองแทนแล้วก็ออกจำศีลอยู่...[16]

ใกล้เคียง

เจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าแผ่นดิน เจ้าแก้วมงคล เจ้าแวมไพร์ พันธุ์ตายไว เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว เจ้าแม่วัดดุสิต เจ้าแม่จำเป็น เจ้าแว่นทิพย์แห่งเชียงตุง เจ้าแมวยอดนักสืบ เจ้าแก้วมงคล ณ เชียงใหม่

แหล่งที่มา

WikiPedia: เจ้าแก้วมงคล http://jumpana23.blogspot.com/p/blog-page.html http://nu-pla.blogspot.com/ http://ps8921.blogspot.com/2011/09/blog-post.html http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cac... http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=73... http://www.jangkhao.org/p/49274 http://district.cdd.go.th/suwannaphum/about-us/%E0... http://www.roiet.go.th/101/index.php?option=com_co... https://sites.google.com/site/52011011608inetg17/c... https://imtonpaan.wordpress.com/about/%E0%