ประวัติศาสตร์ ของ เชียงตุง

ดูบทความหลักที่: ประวัติศาสตร์เชียงตุง
เจ้าฟ้าอินแถลง เจ้าครองนครเชียงตุงองค์สุดท้าย

ประวัติศาสตร์ในช่วงแรกของเชียงตุงไม่ชัดเจน แต่มีตำนานเล่าขานกันว่า เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ท่วมเมืองมีฤๅษีนามว่า ตุงคฤๅษี แสดงอิทธิฤทธิ์ทำให้น้ำไหลออกไปอยู่ตรงกลางเมือง ทำให้เกิดเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ เรียกกันว่า หนองตุง อันเป็นที่มาของชื่อ เชียงตุง เป็นแว่นแคว้นที่เจริญรุ่งเรืองด้วยพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรม อุดมไปด้วยป่าไม้ และมีเจ้าฟ้าที่เข้มแข็งปกครอง จึงเฉลิมนามให้ใหม่ว่า เขมรัฐตุงคบุรี หลักฐานที่เป็นพงศาวดารของเมืองได้กล่าวไว้ว่า เมื่อจุลศักราช 791 (พ.ศ. 1772) พญามังรายได้เสด็จประพาสป่าและทรงไล่กวางทองมาจนถึงเมืองเชียงตุง พระองค์ทรงเล็งเห็นภูมิประเทศของเมืองเชียงตุง ก็พอพระทัยมากจึงยกกองทัพมารบ ยึดเมืองเชียงตุงไว้ในอาณาเขต และส่ง เจ้าน้ำท่วม ผู้เป็นราชบุตรไปปกครองเมืองเชียงตุงเมื่อ พ.ศ. 1786 เชียงตุงจึงเป็นเมือง "ลูกช้างหางเมือง" หรือ "เมืองลูกหลวง" ขึ้นกับอาณาจักรล้านนาและได้รับอิทธิพลทางพุทธศาสนาจากล้านนา ก่อนจะกลายเป็นเมืองประเทศราชของพม่าในสมัยพระเจ้าบุเรงนอง และเป็นอาณานิคมของอังกฤษไปพร้อมกับพม่า

ในสมัยการล่าอาณานิคมนี้ ทำให้เกิดเจ้าฟ้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเชียงตุง พระนามว่า เจ้าฟ้ารัตนะก้อนแก้วอินแถลง หรือ เจ้าอินแถลง ซึ่งอยู่ร่วมสมัยกับ รัชกาลที่ 5 ของไทย พระองค์ปกป้องเมืองเชียงตุงไม่ให้กลายเป็นเมืองอาณานิคมของจักรวรรดิอังกฤษ แต่หลังจากพระองค์สิ้นพระชนม์ เชียงตุงก็ตกไปอยู่ภายใต้อำนาจของอังกฤษ

จนกระทั่งในสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้ส่งกำลังทหารเข้ายึดเมืองเชียงตุง และ เมืองพาน จากอังกฤษ ที่เคยเป็นของชาวสยาม โดยมีความช่วยเหลือจากญี่ปุ่น มีข้ออ้างว่ามีประวัติและเชื้อชาติที่เหมือนกัน นอกจากนั้นกองทัพไทยยังเข้าไปโจมตี เมืองตองยี และสิบสองปันนาอีกด้วย แต่ไทยก็มิได้ปกครองโดยตรง ญี่ปุ่นช่วยให้เมืองเชียงตุงและเมืองพานมาร่วมเข้ากับประเทศไทย รวมทั้งหมดนี้ทำให้จัดตั้งเป็นสหรัฐไทยเดิม แต่ก็อยู่ได้เพียงแค่ 3 ปี ก็ต้องคืนกลับให้แก่อังกฤษเหมือนเดิม เพราะญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม ปัจจุบันเชียงตุงจึงเป็นส่วนหนึ่งพม่า